สื่อนอกชี้ ‘เศรษฐกิจไทย’ ส่อวิกฤติระดับ ‘ต้มยำกุ้ง’

สื่อนอกชี้ ‘เศรษฐกิจไทย’ ส่อวิกฤติระดับ ‘ต้มยำกุ้ง’

สื่อต่างประเทศวิเคราะห์สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองระลอกใหม่ในไทย อาจส่งผลกระทบหนักต่อเศรษฐกิจระดับ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” หลังอยู่ในภาวะซบเซาอยู่แล้วจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

เว็บไซต์วอลล์สตรีท เจอร์นัล ของสหรัฐ รายงานเมื่อวันพุธ (21 ต.ค.) ว่า ในปี 2563 ดัชนี MSCI ที่สะท้อนตลาดหุ้นไทยสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ลดลงเกือบ 30% หากคิดเป็นสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเลวร้ายกว่าตลาดอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การลงเเรงของดัชนี MSCI ส่วนใหญ่เกิดขึ้นไม่นานนี้ หากนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน มิ.ย. ดัชนี MSCI ของไทยลดลงเพียง 10% เท่านั้น

วอลล์สตรีท ระบุว่า ต่อให้ความตึงเครียดทางการเมืองสิ้นสุดพรุ่งนี้ เศรษฐกิจไทยก็เผชิญกับภาวะช็อกครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2541 อยู่แล้ว จากวิกฤติการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ในขณะนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

รายงานดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานก่อนหน้านี้ที่เว็บไซต์นิคเกอิ เอเชีย ของญี่ปุ่น อ้างการประเมินของนักวิเคราะห์บางรายว่า ภาวะขาลงของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ อาจรุนแรงกว่าช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งขณะนั้น ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หดตัวถึง 7.6%

160331088941
- การชุมนุมต้านรัฐบาลที่สี่แยกอโศก (18 ต.ค.) -

ก่อนหน้านี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่า จีดีพีของไทยนับถึงสิ้นปีหน้า อาจลดลง 3% เทียบกับจีดีพีเมื่อสิ้นปี 2562 ซึ่งถือว่าวูบหนักที่สุดเทียบกับประเทศคู่แข่งในอาเซียน

เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างรวดเร็วจากปัจจัยภายนอกในช่วงไม่กี่ทศวรรษหลัง จีดีพีต่อหัวเพิ่มขึ้น 85% ในช่วง 10 ปีนับถึงสิ้นปี 2562 และพุ่งกว่า 500% ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ วอลล์สตรีทชี้ว่า การเติบโตของไทยยังแซงหน้าเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่น ๆ เช่น เม็กซิโก บราซิล และแอฟริกาใต้

อย่างไรก็ตาม ความเฟื่องฟูนี้กลับสวนทางกับการกระจายรายได้ที่ตกต่ำลง ค่าเฉลี่ยการเติบโตของค่าแรงที่แท้จริงชะลอตัวอย่างหนัก อยู่ที่ไม่ถึง 2% ในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของ 5 ปีหลัง และหนี้ครัวเรือนของประเทศก็พุ่งแตะ 70% ของจีดีพีในปัจจุบัน

วอลล์สตรีท เสริมว่า นอกจากภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นหนี่งในตัวกระตุ้นหลักของเศรษฐกิจไทยแล้ว ภาคยานยนต์ยังได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน

ปัจจุบัน ไทยเป็นฮับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้กับบรรดาบริษัทรถญี่ปุ่นรายใหญ่ และความต้องการรถคันใหม่ที่หดหายไปในปีนี้ ก็สร้างความเสียหายต่อภาคการผลิตของประเทศด้วย