รัฐธรรมนูญเปิดช่องแก้วิกฤติ 'ประยุทธ์' ต้อง 'ถอย' ถึงสำเร็จ

รัฐธรรมนูญเปิดช่องแก้วิกฤติ 'ประยุทธ์' ต้อง 'ถอย' ถึงสำเร็จ

การเปิดสภาเพื่อถกปัญหาวิกฤติการเมืองเคยเกิดขึ้นมาแล้วสมัยรัฐบาล 'สมัคร สุนทรเวช' เมื่อครั้งเผชิญกับกลุ่มคนเสื้อเหลือง แต่ไม่สามารถหาทางออกได้

นับเป็นสถานการณ์ทางการเมืองที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม คาดไม่ถึงก็ว่าได้ ภายหลังการชุมนุมแบบแฟลชม็อบ เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกจากตำแหน่ง ขยายวงกว้างมากขึ้น โดยไม่ได้มีเพียงเฉพาะสถานการณ์การชุมนุมภายใน กทม.และปริมณฑลเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงพื้นที่สำคัญในต่างจังหวัด ซึ่งใกล้เคียงกับคำว่า “เอาไม่อยู่” เข้าไปทุกที

ด้วยเหตุนี้เองเริ่มทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ พยายามถอย เพื่อหาทางคลี่คลายสถานการณ์ ให้ลดความตึงเครียดลง ด้วยการส่งสัญญาณถึงการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ

การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ รัฐธรรมนูญมาตรา 123 กำหนดเงื่อนไขว่า จะเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้ ก็ต่อเมื่อ 1. ส.ส.และ ส.ว.ทั้งสองสภารวมกัน หรือ 2. เฉพาะ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งคิดเป็นจำนวน 246 คน จาก ส.ส.และ ส.ว.ทั้งหมด รวมกัน 739 คน จากจำนวนตัวเลขดังกล่าว แค่ฝ่ายค้านเพียงฝ่ายเดียว ย่อมไม่อาจขอเปิดประชุมได้ ต้องอาศัยเสียงของ ส.ส.รัฐบาล หรือ ส.ว.ร่วมด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เกาะติด 'ม็อบ 21 ตุลา' และสถานการณ์ของ 'กลุ่มราษฎร' ตลอดทั้งวัน ที่นี่

ล่าสุดการเปิดสภาสมัยวิสามัญ มีความชัดเจนแล้ว เมื่อคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้ประชุมกันในวันที่ 26-27 ต.ค. โดยรูปแบบหลักจะเป็นไปตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรี เป็นผู้ขอให้รัฐสภาเปิดประชุมเพื่อถกปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยรัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายไม่ได้

รูปแบบนี้ไม่ต่างอะไรกับการที่เมื่อครั้งรัฐบาลของ ‘สมัคร สุนทรเวช’ ต้องประจันหน้ากับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อปี 2551 ซึ่งจุดเริ่มต้นของการชุมนุมในเวลานั้นมาจากการที่มีความพยายามของส.ส.พรรคพลังประชาชนในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ2550 และการตรากฎหมายเพื่อยกเลิกการทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่กำลังตรวจสอบคดีการทุจริตในรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร

เวลานั้น รัฐบาลสมัคร เผชิญหน้ากับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เหตุการณ์เริ่มบานปลาย เมื่อกลุ่มคนเสื้อเหลือง เริ่มใช้ยุทธศาสตร์ดาวกระจายไม่ต่างจากปัจจุบัน ด้วยการไปชุมนุมในบริเวณสถานที่สำคัญต่างๆ จนนำมาสู่การใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 179 เพื่อเปิดประชุมรัฐสภา ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

ว่ากันว่า ในตอนนั้นพรรคชาติพัฒนา หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล เป็นฝ่ายเสนอให้ “นายกฯสมัคร” ใช้มาตรา 179 ของรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 เพื่อเป็นการใช้กลไกสภาแก้ไขปัญหา

ในที่สุด การประชุมรัฐสภาตามมาตรา 179 ก็ได้เกิดขึ้น ในเดือนสิงหาคม 2551 “พรรคประชาธิปัตย์” ในฐานะฝ่ายค้าน  ส.ว.( ซึ่งส.ว.หลายคน ณ ตอนนั้นก็ยังคงเป็น ส.ว.ในปัจจุบัน) ต่างอภิปรายเสนอความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง โดยพอสรุปข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลได้ด้วยกัน 3 แนวทาง 1.ยุบสภา 2.ลาออก 3.ให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว

แต่สุดท้ายทุกข้อเสนอไม่ได้รับการตอบรับจาก ‘สมัคร สุนทรเวช’ การชุมนุมของคนเสื้อเหลืองและการนั่งอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ยังดำเนินต่อไป ก่อนที่นายกฯ สมัครต้องพ้นจากตำแหน่ง ไปด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อย้อนดูอดีต และมองมาถึงปัจจุบันแล้ว รัฐธรรมนูญ 2560 จะทำให้รัฐสภาเป็นกลไกที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริงหรือไม่นั้น อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับการอภิปรายของ ส.ส.และ ส.ว.เท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยสปิริตของ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ด้วย

ไม่เช่นนั้นแล้วสถานการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ อาจซ้ำรอยกับที่อดีตนายกฯสมัคร เคยเผชิญมาแล้วเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา