แรงบันดาลใจ‘สวนสามพราน’ ดันวิถีเกษตรอินทรีย์ฝ่าโควิด

แรงบันดาลใจ‘สวนสามพราน’  ดันวิถีเกษตรอินทรีย์ฝ่าโควิด

“ความเชื่อ” คือพื้นฐานสำคัญของการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ เมื่อเชื่อว่า “เกษตรอินทรีย์” คือสิ่งที่ใช่! เป็นสังคมที่ต้องก้าวไปให้ถึง! 

“สวนสามพราน” จึงใช้แนวทางนี้ขับเคลื่อนธุรกิจ ปรับโฉมใหม่สู่แหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้บนพื้นที่กว่า 130 ไร่ บริเวณแม่น้ำท่าจีน จ.นครปฐม หลังจากก่อตั้งมานานเกือบ 60 ปี ตั้งแต่ปี 2505

อรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการ สวนสามพราน เล่าว่า สิ่งสำคัญคือการมองตัวเองว่าเป็นอะไร สวนสามพรานมองตัวเองเป็น “พื้นที่สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง” มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

“ภารกิจของสวนสามพรานคือการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้บนฐานความเป็นไทยและการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมขับเคลื่อนสังคมแห่งการเรียนรู้จากการมีส่วนร่วมบนฐานการค้าที่เป็นธรรม ขณะเดียวกันคือการมอบประสบการณ์วิถีอินทรีย์และผลิตสินค้าจากวัตถุดิบอินทรีย์ของปฐม ออร์แกนิก ฟาร์ม หนึ่งในแบรนด์ของสวนสามพรานและเครือข่ายเกษตรกรที่ร่วมขับเคลื่อนสามพรานโมเดลมุ่งเกื้อกูลสังคม โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน”

นี่คือที่มาของการปั้นแหล่งท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ (Organic Tourism) ในสไตล์สวนสามพราน ซึ่งไม่ใช่แค่การเดินทางมาศึกษาดูงานหรือเข้าชมฟาร์มทั่วๆ ไป แต่ต้องให้นักท่องเที่ยวหรือผู้บริโภคเข้าใจการเปลี่ยนแปลง หนุนให้เป็นผู้นำร่วมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอีกแรง

หลังจากพบว่าภาคเกษตรกรรมของไทยซึ่งมีกว่า 1 ใน 3 หรือคิดเป็น 20 กว่าล้านคนของประชากรทั้งประเทศ เผชิญปัญหา “ระบบอาหารที่ไม่สมดุล” สาเหตุของปัญหาสุขภาพของเกษตรกรแย่ลง เนื่องจากต้องใช้สารเคมีที่แรงขึ้น ขณะที่สภาพแวดล้อมก็แย่ลง โรคและแมลงดื้อยามากขึ้น ทั้งยังมีปัญหาหนี้สินมากขึ้น เพราะสารเคมีราคาแพงขึ้นทุกปี

นอกจากเกษตรกรจะติดหล่มอยู่ในวงจรปัญหาเหล่านี้แล้ว ยังเจอปัญหาราคาสินค้าเกษตรไม่ใช่เกษตรกรเป็นผู้กำหนด พ่อค้าคนกลางค้ากำไรเกินควร ขณะที่ผู้บริโภคขาดความรู้เรื่องผลกระทบจากสารเคมีตกค้าง และแม้จะสนใจซื้อสินค้าอินทรีย์ แต่กลับพบว่ายังมีอยู่น้อยและราคาสูง

“สามพรานโมเดล” จึงเป็นทางออกจากปัญหาเรื้อรัง! โดยสวนสามพรานได้ผนึกความร่วมมือกับเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์ 16 กลุ่ม จำนวน 193 ราย บูรณาการการขับเคลื่อนร่วมกับภาครัฐ เอกชน สื่อมวลชน และมหาวิทยาลัย พร้อมพาผู้บริโภคทั้งผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร และผู้บริโภครายย่อยมาพบผู้ผลิตผ่านกิจกรรมและแพลตฟอร์มทั้งแบบออฟไลน์และดิจิทัล

อย่างตลาดสุขใจ ยอดลูกค้าเที่ยวชมตั้งแต่ตลาดฯเปิดมากว่า 9 ปี พบว่ามีจำนวนมากกว่า 8.32 แสนคน โดยช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 มีลูกค้าเที่ยวชมตลาดสุขใจ 35,759 คน เฉลี่ยวันละ 638 คน และเมื่อรวมรายได้หมุนเวียนตั้งแต่เปิดตลาดฯ คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 239 ล้านบาท เฉลี่ยมีร้านค้า 52 ร้านในปี 2563 มีรายได้หมุนเวียนประมาณเดือนละ 45,130 บาทต่อร้านซึ่งขาย 8 วันต่อเดือน

ด้านแพลตฟอร์มดิจิทัล ได้รับงบฯจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) มากว่า 1 ล้านบาทเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มกลาง ThaiOrganicPlatform” ภายในแอปพลิเคชันมีระบบบันทึกกิจกรรมต้นน้ำ ระบบการซื้อ-ขายผ่านอีคอมเมิร์ซทั้งแบบ B2C และ B2B และกิจกรรมท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีอินทรีย์ มีระบบการตรวจสอบย้อนหลังด้วยบล็อกเชนเพื่อสร้างความโปร่งใสและความมั่นใจในการใช้งาน โดยจะมีการเก็บค่าบริการจากสมาชิกผู้ประกอบการ เช่น สวนสามพราน และสวนอื่นๆ ที่สนใจ คาดว่าจะเริ่มเปิดให้ผู้ประกอบการอื่นๆ มาทดลองใช้ภายในเดือน ต.ค.2563 และพัฒนาแอปฯเสร็จสมบูรณ์ภายในสิ้นปีนี้

“ผลลัพธ์ของสามพรานโมเดลที่เราขับเคลื่อนกันมา เห็นชัดว่าด้านเศรษฐกิจมีเงินหมุนเวียนในตลาดสุขใจ 30 ล้านบาทต่อปี มีเงินหมุนเวียนในตลาดสุขใจสัญจร 2 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้สวนสามพรานยังซื้อผลผลิตจากเกษตรกร 10 ล้านบาทต่อปี โรงแรมกับร้านอาหารในกรุงเทพฯซื้อผลผลิตจากเกษตรกร 2 ล้านบาทต่อปี โครงการ Farm to Functions ซื้อข้าวอินทรีย์จากเกษตรกร 18 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลงจากการเลิกใช้สารเคมีเกษตรถึง 70%” อรุษ กล่าวปิดท้าย