'การบินไทย' ปักธงลุยเฟรนไชส์ 'ปาท่องโก๋' ไตรมาส 1 ปีหน้า

'การบินไทย' ปักธงลุยเฟรนไชส์ 'ปาท่องโก๋' ไตรมาส 1 ปีหน้า

“การบินไทย” เตรียมส่งแบรนด์ใหม่เฟรนไชส์ “ปาท่องโก๋” เปิดตลาดไตรมาส 1 ปีหน้า หวังดึงรายได้นอนแอโรว์หนุนองค์กรโตยั่งยืน ตั้งเป้าประเดิม 200 สาขาทั่วประเทศ เพิ่มรายได้ไม่ต่ำ 1 พันล้านบาทต่อปี 

กระแสตอบรับอย่างล้นหลาม สำหรับ “ปาท่องโก๋” การบินไทย หลังครัวการบินนำตำนานปาท่องโก๋ยามเช้าที่เคยเสิร์ฟบนเครื่องมาตั้งแต่ปี 2506 มาเปิดตลาดภาคพื้นให้กับทุกเพศทุกวัยได้ลิ้มลอง ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด -19 ที่ใครๆ ก็คิดถึงการเดินทาง และบรรยากาศบนเครื่องบิน

โดยปัจจุบันครัวการบินไทย ให้บริการทอดปาท่องโก๋หน้าเตา แบบสดใหม่ทุกวัน 7 สาขาทั่วประเทศ โดยเปิดขาย 06.00 น.-09.00 น. และมีลูกค้ามายืนรอเข้าคิวกันตั้งแต่ตี 3 ซึ่งจุดขายที่ว่านี้ ไม่ใช่เพียงแบรนด์ “การบินไทย” ที่ใครๆ ก็รู้จัก แต่ด้วยรสชาดปาท่องโก๋การบินไทย ก็แปลก แตกต่าง และมีคุณภาพเกินราคา เนื้อแน่น กรอบนอก นุ่มใน เสิร์ฟพร้อมดิปปิ้งจิ้มกินกับนมข้นหวาน หรือจะพิเศษไปกว่าใครด้วยดิป “มันม่วง”

นางวรางคณา ลือโรจน์วงศ์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายครัวการบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความสำเร็จของการขายปาท่องโก๋ภาคพื้นในครั้งนี้ว่า ปาท่องโก๋เป็นแม่เหล็กที่ทำให้ครัวการบินไทยขายสินค้าอย่างอื่นไม่เพิ่มมากขึ้น สร้างมูลค่าได้มากกว่า 10 ล้านบาทต่อเดือน เพราะครัวการบินไทยสามารถขายขนมและอาหารในร้านพัฟแอนด์พายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดือนละ 10 – 20 ล้านบาท

อีกทั้ง การนำปาท่องโก๋มาจำหน่ายให้กับลูกค้าภาคพื้น ทำให้การบินไทยวันนี้ ขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้น จากเดิมต้องยอมรับว่าครัวการบินไทยมีราคาอาหารค่อนข้างสูง ทำให้กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าผู้ใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูง แต่ขณะนี้ปาท่องโก๋ทำให้การบินไทยเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย และด้วยการตอบรับอย่างล้นหลาม ทำให้เรามั่นใจว่าด้วยแบรนด์การบินไทยที่คนรู้จักอย่างแพร่หลายแล้ว จะทำให้การขยายธุรกิจเป็นเรื่องที่ไม่ยาก

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันครัวการบินอยู่ระหว่างจัดทำแผนขยายสาขาแบรนด์พัฟแอนด์พาย ซึ่งเป็นแบรนด์หลักในด้านอาหารและขนมของครัวการบิน ปัจจุบันมี 30–40 จังหวัดที่ยังไม่มีสาขา โดยรูปแบบของการขยายธุรกิจจะเน้นใช้ตัวแทนจำหน่าย หรือเฟรนไชส์ เบื้องต้นมีเป้าหมายขยายสาขาเพิ่มขึ้น 500 สาขา เพื่อสร้างรายได้เพิ่มราว 500 ล้านบาทต่อปี

อีกทั้ง ยังมีเป้าหมายภายในไตรมาส 1 ปีหน้า ครัวการบินไทยจะเปิดตัวแบรนด์ใหม่ “ปาท่องโก๋” เพื่อนำมาเปิดเฟรนไชส์ขยายธุรกิจ สอดรับกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งขณะนี้คาดการณ์ว่าจะสามารถเปิดเฟรนไชส์ปาท่องโก๋ ราว 200 สาขาทั่วประเทศ สร้างรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาทต่อปี โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างลงทุนเครื่องจักร และเตรียมกระบวนการการผลิต ให้รองรับต่อการขนส่งและคงคุณภาพของปาท่องโก๋

“ปีหน้าจะเป็นปีที่เราขยายธุรกิจภาคพื้นให้มากขึ้น โดยจะมีการเปิดสาขาเฟรนไชส์รวม 700 สาขาทั่วประเทศ ทั้งในส่วนของพัฟแอนด์พาย และปาท่องโก๋ แต่การขยายธุรกิจช่วง New Normal นี้ สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือการลงทุนสูงจะมีความเสี่ยง ไม่คืนทุนตามที่คาดไว้ การทำธุรกิจจึงต้องหาพาร์ทเนอร์ให้ได้ และเรามองว่าแบรนด์การบินไทยแข็งพอที่จะทำเฟรนไชส์ น่าจะดึงดูดคนได้ แต่คุณภาพต้องสำคัญที่สุด

นอกจากนี้ การบินไทยยังมีแผนขยายธุรกิจครัวการบิน ผ่านความร่วมมือกับหลายพันธมิตร อาทิ  ร้านกาแฟ อินทนิล คอฟฟี่ ซึ่งเป็นแฟรนส์ไชส์ ร้านการแฟในเครือสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงบางจาก นำสินค้าอาหารสำเร็จรูป และเบเกอร์รี่ ไปวางจำหน่าย โดยปัจจุบันเริ่มนำร่องแล้ว 1-2 สาขา และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามเป้าหมาย 500 สาขาทั่วประเทศ

รวมไปถึงความร่วมมือกับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่นำเอาอาหารของครัวการบินไทยไปจัดจำหน่ายในร้านกาแฟอเมซอน และปัจจุบันยังอยู่ระหว่างหารือกับกลุ่มบริษัท ซีพีออลล์ จํากัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์เซเว่น อีเลฟเว่น เพื่อขยายช่องทางจำหน่ายด้วย

“ร้านกาแฟตามสถานีน้ำมันต่างๆ เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่เราอยากนำปาท่องโก๋ไปจำหน่าย เพราะจะเป็นบริการที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้า และพันธมิตรของเราก็ต้องการนำไปจำหน่าย แต่เนื่องด้วยขณะนี้ครัวการบินยังมีข้อจำกัดเรื่องกำลังการผลิตที่ไม่เพียงพอ และเราต้องการคงคุณภาพให้เหมือนทอดสดใหม่ ทำให้ตอนนี้ต้องรอโปรดักส์ปาท่องโก๋ให้นิ่งก่อนว่าจะพัฒนาออกมาอย่างไร”

ทั้งนี้ การปรับกลยุทธ์ของหน่วยธุรกิจนอนแอโรว์ครั้งนี้ ส่วนตัวมั่นใจว่าจะเป็นส่วนสำคัญของการเสริมรายได้ให้กับองค์กรโตอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน เพราะจะเป็นอีกหนึ่งส่วนรายได้ที่ทำให้องค์กรไม่ต้องพึ่งพารายได้เพียงทางใดทางหนึ่ง

ซึ่งคาดการณ์ว่าภายใน 5 ปีหลังจากนี้ ธุรกิจนอนแอโรว์ของการบินไทย ประกอบด้วย ครัวการบิน ฝ่ายช่าง และขนส่งสินค้า (คาร์โก้) จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ให้กับองค์กร จากปัจจุบันคิดเป็น 15% ของรายได้รวม จะเพิ่มเป็น 50% ของรายได้รวม เฉพาะจากธุรกิจครัวการบิน เฉลี่ยอยู่ที่ราวปีละ 1 หมื่นล้านบาท จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นล้านบาท