ภารกิจดันลงทุนแสนล้าน 'ทศพร' ว่าที่ประธานบอร์ดปตท.

ภารกิจดันลงทุนแสนล้าน 'ทศพร' ว่าที่ประธานบอร์ดปตท.

ประธานบอร์ด ปตท.คนใหม่ เตรียมขับเคลื่อนภารกิจสำคัญ ลุยลงทุนตามแผน 5 ปีวงเงิน 1.8 แสนล้านบาท เข้ม 3 โรงกลั่นฯ รีดไขมันรับมือขาดทุสต็อก เหตุโควิด-19 ยังกดดันราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับต่ำ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ บอร์ด พ.ย.นี้ โหวตตั้งประธานคนใหม่

การประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ บอร์ด ปตท. ครั้งต่อไปในเดือน พ.ย.2563 จะต้องจับตาวาระสำคัญ คือ การพิจารณาแต่งตั้งตำแหน่งประธานกรรมการ แทนนายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัยประธานกรรมการ ปตท. ที่จะครบอายุ 65 ปี ในเดือน ธ.ค.2563

หลังจากรายงานข่าว ระบุว่าการประชุมบอร์ด ปตท. เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2563 ได้มีมติแต่งตั้งนายทศพร ศิริสัมพันธ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และอดีตประธานกรรมการ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) หรือ TOP เป็นกรรมการคนใหม่ ซึ่งจะมีผลหลังจาก ปตท.จะส่งรายชื่อ นายทศพร ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ตรวจคุณสมบัติ หลังจากนั้นจะเสนอต่อให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อนุมัติเป็นขั้นตอนสุดท้าย

แหล่งข่าวบริษัท ปตท. กล่าวว่า การประชุมบอร์ด ปตท.ครั้งต่อไป กรรมการ ทั้ง 15 คน จะต้องทำการโหวตแต่งตั้งประธานกรรมการ ปตท. ซึ่ง นายทศพร ก็เป็นในรายชื่อแคนดิเดตที่จะได้รับการโหวตชิงตำแหน่งประธานฯด้วย เพราะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถครอบคลุมด้านการเงินและธุรกิจพลังงาน เพราะเคยนั่งประธานบอร์ดไทยออยล์มาก่อน

ส่วนที่ก่อนหน้าที่มีกระแสข่าวความพยายามจะผลักดันให้นาย นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ(กฟผ.)เข้าชิงตำแหน่งเป็นประธานบอร์ด ปตท.นั้น ปัจจุบันโควตากระทรวงพลังงานที่นั่งอยู่ในบอร์ด ปตท. ยังเป็นนางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ที่นั่งเป็นกรรมการอิสระ และกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร ปตท.​

  160283238639

สำหรับภารกิจสำคัญของประธานบอร์ด ปตท.คนใหม่  คือ การรวมพลังขับเคลื่อนองค์กร ปตท.ให้ก้าวพ้นวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำมันทั่วโลกลดลง และปัญหาสงครามราคาน้ำมัน ที่ยังเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันดิบ และถือเป็นวิกฤตที่ธุรกิจพลังงานทั่วโลกต้องเผชิญ

ดังนั้น ธุรกิจโรงกลั่นในเครือ ปตท.จะต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ตามมติบอร์ด ปตท. ล่าสุด ที่สั่งการให้ 3 โรงกลั่นในเครือ ปตท. คือ โรงกลั่นน้ำมันของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ,บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ต้องเร่งปรับลดต้นทุนให้มากกว่าแผนเดิม เนื่องจากบอร์ด ปตท. ประเมินว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบจะอยู่ในระดับต่ำประมาณ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลไปอีกระยะ เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถประกาศเปิดประเทศได้เมื่อใด และตราบใดที่ยังไม่มีมาตรการเปิดประเทศ ซึ่งจะทำให้สายการบินทั่วโลกยังไม่กลับมาทำการบิน กดดันให้โรงกลั่นฯ ต้องลดกำลังการกลั่นน้ำมันอากาศยาน(Jet) ลดลง และหันไปกลั่นน้ำมันดีเซลแทน เมื่อดีเซลในตลาดมีมากขึ้น ก็จะกดดันต่อมาร์จิน  

“ที่ผ่านมา กลุ่มโรงกลั่นฯ ก็ลดต้นทุนลงแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ต้องทำต่อเนื่อง เพราะไม่รู้ว่าโควิด-19 จะกลับมาระบาดรอบ 2 อีกหรือไหม และรุนแรงระดับใด ซึ่งเมื่อเปิดประเทศไม่ได้ ราคาน้ำมันดิบก็ไม่ไปไหนแต่ละโรงกลั่นฯ ก็ต้องไปไล่ดูว่าจะลดต้นทุนส่วนไหนได้อีก รวมถึงลดต้นทุนด้านบุคลากรด้วย แต่ไม่ใช่ปลดคน เวลานี้ ต้องไม่หยุดรีบไขมัน”

  160283248310            

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงกลั่นในเครือ ปตท. ยอมรับว่า ประสบปัญหาขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันแน่ แต่ปี 2564 คาดว่า ผลกระทบจากการขาดทุนสต็อกน้ำมันจะลดลง แต่จะกลับมาเป็นบวกได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม

ขณะที่ธุรกิจต้นน้ำ ของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ PTTEP คาดว่า ปีนี้จะยังดีอยู่ เพราะยังคงสามารถรักษาระดับต้นทุนต่อหน่วยอยู่ที่ 30 ดอลลารต่อบาร์เรล และล่าสุด ซีอีโอ ปตท. ยังกำชับให้ลดต้นทุนเพิ่มลงไปเหลือ ระดับ 25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพื่อเพิ่มการแข่งขันมากขึ้น

สำหรับการขับเคลื่อนการลงทุนของ ปตท. ยังเป็นไปตามแผนลงทุน 5ปี (63-67) วงเงิน 1.8 แสนล้านบาท และปี 2563 วงเงินอยู่ที่ 53,901 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ อาทิโครงการลงทุนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ยังคงดำเนินการตามแผนการลงทุนเดิม เช่น โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 5, โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากสถานีควบคุม ความดันก๊าซฯ ราชบุรี-วังน้อยที่ 6 โครงการสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) แห่งที่ 2 เป็นต้น