คลังเล็งคลอดมาตรการของขวัญปีใหม่

คลังเล็งคลอดมาตรการของขวัญปีใหม่

รัฐมนตรีคลังคนใหม่เตรียมออกมาตรการของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน หวังฟื้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี จี้ส่วนราชการและรัฐวิสากิจเร่งเบิกจ่าย สั่งปลัดคลังตั้งคณะกรรมการติดตาม และเตรียมรับมือกรณีเปิดประเทศเต็มรูปแบบ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยภายหลังประชุมมอบนโยบายการทำงานแก่ผู้บริหารกระทรวงการคลังครั้งแรกวันนี้(14ต.ค.)ว่า เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี กระทรวงการคลังกำลังพิจารณามาตรการของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชน โดยถือเป็นนโยบายระยะเร่งด่วนหลังสถานการณ์โควิด-19เริ่มผ่อนคลาย

“ช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสสองเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19ทำให้รัฐบาลต้องล็อกดาวน์ประเทศ เกิดผลกระทบในวงกว้าง ทำให้เศรษฐกิจใน 2 ไตรมาสดังกล่าวขยายตัวติดลบ ซึ่งรัฐบาลก็มีมาตรการออกมาเป็นระยะ โดยเครื่องยนต์สำคัญ คือ ต้องพึ่งภายในประเทศ ล่าสุดเราออกมาตรการคนละครึ่ง และ ปลายปีเราก็เตรียมมาตรการเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน”

ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังจะเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนทั้งในส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ โดยมอบหมายให้ปลัดกระทรวงการคลังแต่งตั้งคณะกรรมการเร่งรัดการเบิกจ่าย เพื่อติดตามโครงการลงทุนต่างๆให้เป็นไปตามเป้าหมาย คาดว่า คณะกรรมการจะเริ่มดำเนินการภายในหนึ่งถึงสองสัปดาห์นี้

นอกจากนี้ เพื่อรองรับการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ กระทรวงการคลังจะต้องเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงดังกล่าวด้วย โดยในส่วนมาตรการทางการเงินนั้น ขณะนี้ ถือว่า อัตราดอกเบี้ยรองรับ ทำให้ต้นทุนภาครัฐลดลง และช่วยให้เอกชนสามารถบริหารแหล่งเงินระยะสั้นและระยะยาวได้

ส่วนมาตรการทางการคลังนั้น จะต้องสนับสนุนการลงทุน ซึ่งจะเน้นไปที่การลงทุนในอีอีซี ส่วนมาตรการจะจูงใจมากกว่าเดิมหรือไม่ ต้องคุยกับหลายหน่วยงาน ไม่ใช่คลังอย่างเดียว เช่น เชิญบริษัทยักษ์ใหม่ของโลกมาลงทุน ฉะนั้น มาตรการที่จะให้ก็เพื่อสร้าง Value chain ในประเทศ

ทั้งนี้ การลงทุนของภาคเอกชนที่จะมาหลังเปิดประเทศ อาจมาใน 2 รูปแบบ คือ 1.ในรูปแบบนักลงทุนโดยตรง และ 2.ในรูปแบบที่เป็นนักท่องเที่ยวและต้องการลงทุนด้วย ซึ่งกรณีที่สองนี้ เราจะต้องทำการเชื้อเชิญเขาเข้ามาลงทุน โดยปัจจัยต่างๆต้องเอื้อการลงทุนด้วย

เขายังกล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่กำลังสิ้นสุดโครงการพักชำระหนี้ว่า เรื่องดังกล่าวได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดยเห็นว่า เรื่องการยืดเวลาชำระหนี้ในระดับสากล ทั้งเวิลด์แบงก์ ไอเอ็มเอฟ และ ประเทศผู้นำเศรษฐกิจ เขามีระยะเวลาการพักหนี้ โดยเขาพักหนี้ 1 ปี เริ่ม 1 พ.ค.2563 จะสิ้นสุด 30 มิ.ย.2564 เมื่อครบ 1 ปี เขาจะต้องจบโครงการ ถ้าไม่จบโครงการจะมีปัญหาตาม ฉะนั้น สิ่งที่ต้องดูมี 2 เรื่อง คือ 1.การปรับโครงสร้างหนี้กับแบงก์เจ้าหนี้ และ 2.ธุรกิจจะต้องปรับโครงสร้างธุรกิจควบคู่ไปด้วย

“อย่างไรก็ตาม เรื่องการช่วยเหลือลูกหนี้นั้น เป็นหน้าที่ของธปท. ซึ่งเขาจะพิจารณาผลกระทบต่างๆที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาหนี้เสียที่จะตามมาด้วย และถ้าจะไม่ต่อ จะต้องมีมาตรการอื่นเข้ามาเสริม”

สำหรับปัญหาการก่อม็อบในขณะนี้ จะมีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจหรือไม่ เขากล่าวว่า ถ้าตนเป็นนักธุรกิจจะต้องเดินธุรกิจต่อไป เพราะแต่ละวัน คือ รายได้ ส่วนจะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนหรือไม่นั้น ตอบไม่ได้