ตลท.เปิดกระดาน‘หุ้นดิจิทัล’ ผนึก ‘เคบีทีจี’ ให้บริการระดมทุนไอซีโอ

ตลท.เปิดกระดาน‘หุ้นดิจิทัล’ ผนึก ‘เคบีทีจี’ ให้บริการระดมทุนไอซีโอ

“ตลาดหลักทรัพย์” ผนึก “กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี” เปิดแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลครบวงจร เอื้อผู้ประกอบการระดมทุนในรูปแบบ “ไอซีโอ” โดยมีหลักทรัพย์อ้างอิงหนุนหลัง มั่นใจช่วยลดความผันผวนจากแรงเก็งกำไร คาดเริ่มให้บริการได้ในปีหน้า

จากความร่วมมือในเรื่อง Thai Digital Asset Ecosystem, Where Financial and Real Sectors Become one หรือ สินทรัพย์ดิจิทัล รวมการลงทุนและการใช้ชีวิตไว้ในที่เดียว ระหว่างบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป จำกัด (KBTG) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) วานนี้ (5 ต.ค.)

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดตั้งบริษัท ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย จำกัด ภายใต้กลุ่มตลาดหลักทรัพย์ฯ ขับเคลื่อนการพัฒนาแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่การเชื่อมต่อกับระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลในตลาดแรก (Initial Coin Offering Portal หรือ ICO Portal) ทุกรายที่มีผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนและผู้ระดมทุน

รวมถึงการซื้อขายเปลี่ยนมือในตลาดรอง คือ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) รวมไปถึงการให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Wallet) เก็บรักษาโทเคนดิจิทัล เพิ่มช่องทางใหม่สำหรับผู้ต้องการระดมทุน อีกทั้งยังสร้างโอกาสการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ KBTG ออกแบบแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลให้เป็นสถาปัตยกรรมแบบเปิด (Open Architecture) โดยผู้ประกอบการทุกรายสามารถเข้าใช้งานร่วมกันได้อย่างเป็นธรรม โปร่งใส และมีกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับและปฏิบัติตาม ทั้งนี้ กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีของธนาคารกสิกรไทยจะเป็นผู้ให้บริการ ICO Portal รายแรกที่เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพัฒนาขึ้นนี้”

ปัจจุบันทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการประเมินความเป็นไปได้และวิเคราะห์ประโยชน์ที่จะได้รับ เพื่อเตรียมความพร้อมในการยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจากสำนักงาน ก.ล.ต. โดยตั้งเป้าหมายให้เกิดการระดมทุนโทเคนดิจิทัลบนแพลตฟอร์มนี้ในปี พ.ศ. 2564

ด้าน นายกิตติ สุทธิอรรถศิลป์ ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้าสำนักผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยว่า จุดเด่นของโทเคนคือความสามารถในการบูรณาการ 3 ส่วน ของสินทรัพย์ทางการเงินเข้ามาไว้ด้วยกันคือ การลงทุน (Investment) อรรถประโยชน์ (utility) และการชำระราคา (payment) ทำให้โทเคนมีลักษณะเป็นผลิตภัณฑ์แบบผสมผสาน (hybrid contract)

“ตลาดหลักทรัพย์และ KBTG มีวิสัยทัศน์เดียวกัน คือ ต้องการให้โทเคนที่จะเกิดขึ้นนี้มีสินทรัพย์ที่แท้จริงหนุนหลัง ไม่เหมือนกับสกุลเงินดิจิทัล (ไม่อ้างอิงกับสินทรัพย์ใด) ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัดออกไปทั้งหมดตั้งแต่แรก เพราะเราไม่รู้ว่าสกุลเงินดิจิทัลสามารถประเมินมูลค่าได้อย่างไร และเราไม่อยากให้โทเคนที่จะเกิดขึ้นนี้เป็นภาพของการเก็งกำไรเท่านั้น”

การสร้างแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลนี้ ตลาดหลักทรัพย์ตั้งใจให้เป็นแพลตฟอร์มที่เอื้อให้ผู้ประกอบการและผู้ลงทุนเข้ามามีส่วนร่วม โดยการสร้างโทเคน (tokenization) สินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ใดๆ ก็ตาม อย่างเช่น การสร้างโทเคนโดยอิงกับรูปภาพโมนาลิซา โดยประเมินมูลค่าโทเคนนี้จากรายได้ที่ผู้คนเข้ามาชม หรืออาจจะสร้างโทเคนโดยอิงกับตราสินค้าของโคคาโคล่า ว่าควรจะมีมูลค่าเท่าใด

สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์อยากเห็นคือ การที่ผู้ประกอบการต่างๆ สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุดให้กับผู้ลงทุน โดยที่ทุกคนมีความเท่าเทียมกันในเรื่องของเทคนิค และเพื่อให้เกิดการผสมผสานเป็นหนึ่งเดียวกันของสินทรัพย์ดิจิทัลและสินทรัพย์ที่แท้จริง ซึ่ง Thai Digital Asset Ecosystem จะทำให้เกิดขึ้นมาได้

“ตลาดหลักทรัพย์ยินดีที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการนำสินทรัพย์ใหม่ๆ เข้ามาอยู่ในระบบนิเวศ (ecosystem) นี้ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งใจจะเป็นตัวกลางในการเชื่อมภาคตลาดเงินและตลาดทุนให้เดินไปพร้อมกันได้ ซึ่งในประวัติศาสตร์ 2,000 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีอะไรที่ทำให้ภาคการเงิน (financial sectors) และภาคธุรกิจจริง (real sectors) เกิดการผสมผสานเป็นหนึ่งเดียวกันได้”

ด้าน นายญาณวิทย์ รักษ์ศรี Senior Principal Visionary Architect บริษัท กสิร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เปิดเผยว่า การสร้างแพลตฟอร์มใหม่นี้ จะใช้เทคโนโลยี DLT หรือ Blockchain ซึ่งเป็นเหมือนซอฟต์แวร์ (Software) ชนิดหนึ่ง หากจะอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นก็เหมือนกับการที่ทุกคนลงโปรแกรม Excel ซึ่งมีความสามารถพิเศษ คือ ทุกคนที่ลงโปรแกรมตัวเดียวกัน จะทำให้ทุกคนเห็นข้อมูลเดียวกันทั้งหมด และไม่สามารถแก้ไขข้อมูลได้

นอกจากนี้ ระบบยังอนุญาตให้เขียนสัญญาอัจฉริยะ เหมือนการผูกสูตรใน Excel โดยสัญญานี้จะช่วยยืนยันความถูกต้องของแต่ละธุรกรรม (transaction) ได้ ทำให้ DLT ได้รับความน่าเชื่อถือในช่วงที่ผ่านมา โดยปัจจุบัน DLT ถูกนำไปใช้ในหลายๆ กระบวนการทำงาน เช่น การจัดการ supply chain ซึ่งในไทยก็มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี blockchain จำนวนมาก

“ในความเป็นจริง สินทรัพย์ดิจิทัลที่ผ่านมา อย่างสกุลเงินดิจิทัล มีความเสี่ยงสูง และต้องใช้ความเข้าใจมาก รวมมีความผันผวนค่อนข้างรุนแรง อย่างปีบิตคอยน์ที่เคยมีราคาสูงถึง 7 แสนบาท ก็เคยลดลงมาเหลือเพียง 3 แสนบาท เพราะฉะนั้นเราจึงอยากพัฒนาสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีสินทรัพย์ที่แท้จริงหนุนหลัง ซึ่งโทเคนเหล่านี้อาจจะไม่ได้ให้ประโยชน์แค่ส่วนต่างราคา (capital gain) แต่อาจจะมีประโยชน์ด้านอื่นด้วย เช่น สิทธิพิเศษจากการใช้บริการของสินทรัพย์จริงๆ ที่โทเคนนั้นๆ อิงอยู่”