แพทย์ชูแนวทางใช้เทคโนโลยีนำความวิตก ก่อนลดวันกักตัวโควิด19

แพทย์ชูแนวทางใช้เทคโนโลยีนำความวิตก ก่อนลดวันกักตัวโควิด19

ศูนย์ฯโรคอุบัติใหม่ จุฬาฯ ชูแนวทางเทคโนโลยีนำความวิตกกังวล คัดกรองโควิด19คนเข้าไทย ชงวิธีเจาะเลือดดูการติดเชื้อกลุ่มคนเข้ากักตัวช่วงต.ค.1 เดือนเต็ม  พิสูจน์เจอเชื้อในช่วง 7 วัน ก่อนเสนอลดวันกักตัวจาก 14 วัน  หากผลชัด 100 % คาดธ.ค.เปิดรับนักท่องเที่ยว

       จากกรณีที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) มอบหมายให้กรมควบคุมโรคและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พิจารณาขยายผลนำวิธีการเจาะเลือดตรวจการติดโควิด 19 ของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์รพ.จุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย มาดำเนินการควบคู่กับการตรวจหาเชื้อด้วยวิธีมาตรฐานRT-PCR ในกลุ่มผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยและเข้าสู่สถานกักกันที่รัฐกำหนด เพื่อยืนยันผลของการตรวจเจอเชื้อในช่วง 7 วันหลังการรับเชื้อเท่านั้น ก่อนพิจารณาลดวันกักตัวจาก 14 วันเหลือ 7 วัน เนื่องจากการศึกษาเบื้องต้นที่ศูนย์ฯราว 100 คนพบว่าหากติดเชื้อจะสามารถตรวจเจอเชื้อช่วง 7 วันได้ 100 %

             เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์รพ.จุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย กล่าวว่า  ขณะนี้มีความรู้ วิชาการและเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์ได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน  ในเรื่องของการตรวจที่จะทราบได้ว่าใครมีการติดเชื้อ และการติดเชื้อนั้นยังมีการปล่อยเชื้อแพร่สู่คนอื่นได้หรือไม่  โดยการแยงจมูกและคอเพื่อมานำตัวอย่างมาตรวจด้วยวิธีRT-PCR  ซึ่งในคนที่ผลเป็นบวกมีการติดเชื้อ จะต้องทำการตรวจไปจนกระทั่งแน่ใจว่าเชื้อหมดไปแล้วถึงจะสามารถให้ออกจากสถานที่กักกันได้
         ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า แต่ที่ผ่านมาโรงพยาบาลจุฬาฯได้ดำเนินการตรวจการติดเชื้อก่อโรคโควิด19หรือไม่ด้วยการเจาะเลือด โดยเจาะเลือดที่ปลายนิ้วราว 0.3-0.5 ซีซี เพื่อตรวจดูว่ามีหลักฐานการติดเชื้อหรือไม่ จะเป็นการดูผลเลือดพร้อมกันใน 3 ตัวที่บ่งบอกถึงการติดเชื้อ คือ  ภูมิคุ้มกัน
Igm ภูมิคุ้มกันIggและภูมิคุ้มกันที่สามารถยับยั้งไวรัสได้  ถ้าผลเป็นบวกแสดงว่ามีการติดเชื้อ โดยใช้วิธีการนี้ในคนที่บริจาคเลือดได้ 200 คน ไม่พบการติดเชื้อและไม่มีผลบวกปลอมเกิดขึ้น รวมถึง ตรวจในคนที่ติดเชื้ออื่นที่ไม่ใช่โควิด 19 อีก 300 คน พบว่า ผลเลือดไม่แสดงว่าติดโควิด 19 เลยเช่นกัน  

     นอกจากนิ้ ดำเนินการในผู้ป่วยยืนยันติดโควิด 19 ที่รักษาในรพ.จุฬาฯช่วงเดือนเมษายน 2563 จำนวน 98 ราย ทั้งผู้ที่ไม่มีอาการ ผู้ป่วยมีอาการเบา ปานกลางและหนัก  โดยเจาะเลือดตรวจในวันเดียวหรือวันถัดจากวันตรวจด้วยการแยงจมูก พบว่า การตรวจพบเชื้อจากการเจาะเลือดมีความไว
100% และมีความจำเพาะ 100% และมีการตรวจหาหลักฐานการติดเชื้อทั้ง 3 ตัวด้วยการเจาะเลือดต่อเป็นระยะๆ อาจจะ 3-7 ครั้ง พบผลที่ออกมาก็จะพบความเปลี่ยนแปลงของระดับภูมิคุ้มกันที่แตกต่างขึ้นกับแต่ละบุคคล   
        “การตรวจด้วยการเจาะเลือดดูค่า 3 ตัว เพื่อดูว่าติดเชื้อหรือไม่ แต่จะต้องเป็นคนที่ติดเชื้อมาแล้วอยู่ในช่วง 4-5วันแรก และระหว่างนั้นไม่ได้ออกไปสัมผัสบุคคคลอื่นเลย ทั้งนี้จะเป็นการดูผลเลือดพร้อมกันใน 3 ตัวที่บ่งบอกถึงการติดเชื้อ คือ  ภูมิคุ้มกัน Igm ภูมิคุ้มกันIggและภูมิคุ้มกันที่สามารถยับยั้งไวรัสได้  หากผลเป็นบวกแสดงว่ามีการติดเชื้อ ก็จะต้องทำการตรวจต่อไปว่าเชื้อยังปล่อยออกมาได้หรือไม่  แต่หากผลเป็นลบแสดงว่าไม่ติดเชื้อ”ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว   

         ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวด้วยว่า วิธีการตรวจนี้สามารถนำมาใช้ในการพิจารณาลดวันกักตัวคนเดินทางเข้าประเทศได้  โดยเจาะเลือดคนที่เข้ากักกันตัว 2 ครั้ง  ในวันแรกที่ถึงไทยและวันที่ 7เป็นการทอดเวลาไปอีก 5-7 วันเผื่อการรับเชื้อในช่วง1-2วันก่อนเดินทางมาไทย หากผลเป็นลบ ก็แสดงว่าโอกาสที่ติดเชื้อน้อยยิ่งกว่าน้อยหรือไม่มีเลย แต่หากต้องการความมั่นใจในวันที่ 7 ก็เก็บตัวอย่างด้วยการแยงจมูกและส่งตรวจวิธีRT-PCRยืนยันด้วยว่าไม่มีการติดเชื้อ ทำให้คนที่มีผลเป็นลบไม่ต้องกักตัวจนถึง 14 วัน แต่คนที่ผลเป็นบวกซึ่งติดเชื้อก็จะต้องกักตัวต่อไปจนกว่าผลการตรวจจะยืนยันว่าไม่มีการปล่อยเชื้อแล้วอาจจะนานกว่า 14 วันก็ได้ ทั้งนี้ โดยปกติคนที่ติดเชื้อจะถือว่าเชื้อไม่มีแล้ว เมื่อตรวจให้ผลเป็นลบ 2 ครั้งใน 2 วัน 
160136822548
         ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า หากจะให้มีการพิสูจน์วิธีการตรวจหาเชื้อดด้วยการเจาะเลือดให้มั่นใจมากขึ้น  ขอเสนอให้ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ที่จะมีนักท่องเที่ยวคุณภาพเดินทางเข้ามาในประเทศไทยนั้น อยากให้นำวิธการเจาะเลือดนี้ไปใช้ตรวจหาเชื้อกับกลุ่มคนที่เข้ากักตัวในสถานที่ที่รัฐกำหนดควบคู่กับวิธีการแยงจมูกทั้งในวันที่เดินทางถึง,วันที่ 7 และวันที่ 14  โดยหากคนที่ไม่ติดเชื้อผลการตรวจทั้ง 2 วิธีแสดงตรงกันเป็นลบทั้ง 3 ครั้ง แบบ 100
%  ก็แสดงว่าวิธีการเจาะเลือดสามารถใช้ตรวจหาเชื้อได้ และคนที่ไม่มีเชื้อถ้าตรวจในช่วง 7 วันแล้วไม่พบเชื้อ หากตรวจหลังจากนั้นก็จะไม่พบเชื้อ แต่ถ้าเป็นคนที่ผลออกมาเป็นบวกแสดงว่ามีการติดเชื้อก็จะต้องกักตัวต่อไปอาจจะ 14 วันหรือนานกว่านั้นจนกว่าผลตรวจจะยืนยันว่าไม่ปล่อยเชื้อแล้ว  

         หากพิสูจน์แบบนี้ได้ในช่วง 1 เดือน ก็จะเป็นคัดกรองคนที่ไม่ติดเชื้อแยกออกจากคนที่ติดเชื้อได้ใน 7 วัน ก็จะสามารถพิจารณาลดวันกักตัวจาก 14 วัน เหลือ 7 วันได้ โดยทำการตรวจหาเชื้อ 2 ครั้งระหว่างกักตัวคือในวันที่ถึงไทยและวันที่ 7 ของการกักตัว ไม่จำเป็นที่จะต้องกักตัวครบ 14 วันทุกคน เนื่องจากในการกักตัวมีค่าใช้จ่าย เฉพาะการตรวจหาเชื้อซึ่งใช้วิธีการRT-PCR จำนวน 3 ครั้ง ครั้งละราว 2,000 -7,000 บาท ที่ผ่านมามีคนเดินทางเข้ามาแล้วกว่า 1.6 แสนคน แต่การเจาะเลือดวิธีนี้ทำที่แล็บของศูนย์ฯอยู่ที่ครั้งละ 1,000 บาทต้องตรวจ 2 ครั้ง  
        “หากผลการพิสูจน์ออกมา 100
%  ก็สามารถใช้วิธีการเจาะเลือดตรวจคนเข้าประเทศและลดวันกักตัวเหลือเพียง 7 วันได้  แบบนี้จะเป็นการใช้เทคโนโลยีนำ ไม่ได้ใช่ความวิตกกังวลนำ หากใช้วิธีการนี้ก็จะทำให้มีคนเข้าประเทศ ไม่เสียประโยชน์ มีมาตรการรัดกุมในการเฝ้าระวังและสร้างความปลอดภัยให้คนไทยทั่วไป ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าจะทำให้ราวเดือนธันวาคม 2563 ก็จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้  โดยเป็นลักษณะที่ประเทศไทยสามารถเลือกนักท่องเที่ยวประเทศต้นทางตามระดับความเสี่ยงได้ เป็นประเทศสีเขียว เหลือง และแดงได้ ซึ่งกลุ่มประเทศสีแดงอาจจะระงับไว้ก่อน แต่กลุ่มสีเขียวเช่น นอร์เวย์ สวีเดน และญี่ปุ่น เป็นต้นให้เข้ามาได้ซึ่งล้วนเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพที่เข้ามาอยู่เป็นระยะเวลานาน แต่ถ้ากักตัวถึง 14 วัน ก็หมดเวลาเที่ยวก็ไม่มีใครอยากมา”ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว   
        ผู้สื่อข่าวถามว่า วิธีการเจาะเลือดตรวจหาเชื้อนี้ หากเป็นประชาชนทั่วไปไปรับการตรวจได้หรือไม่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ศูนย์ฯมีศักยภาพตรวจได้วันละ 5,000 ตัวอย่างแต่สามารถยกระดับได้ถึงวันละ 10,000 ตัวอย่าง แต่จะเป็นการตรวจให้กับการส่งตัวอย่างจากหน่วยงานที่มีมาตรการกักตัวรองรับหากพบผลการตรวจเป็นบวกเท่านั้น  จึงจะไม่เปิดบริการให้กับคนทั่วไปที่เดินเข้าไปขอรับการตรวจเอง เพราะหากผลเป็นบวกบพว่าติดเชื้อแล้วไม่รู้ว่าคนเหล่านั้นจะมีมาตรการรองรับการเข้ากักตัวอย่างไร