เจาะแผนสธ.จัดการโควิด19

เจาะแผนสธ.จัดการโควิด19

สธ.จัดทำแผนเพิ่มศักยภาพระบบความมั่นคงทางสุขภาพปีงบ64 กำหนดเป้าหมายโควิด19 เจอผู้ติดเชื้อรายจังหวัดไม่เกินวันละ 5 คนต่อล้านประชากร อัตราป่วยตายต้องลดลงอยู่ที่ 1.4 % ควบคุมโรคภายใน 21 วัน

ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนงานรองรับนโยบายสำคัญด้านสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ 2564 ภายใต้แนวคิด “ก้าวข้ามความท้าทาย สูวิถีใหม่แห่งอนาคตสาธารณสุขหไทย”เมื่อเร็วๆนิ้ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นำเสนอการจัดทำแผนรองรับนโยบาย โรคโควิด19 ว่า การเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการโรคโควิด19 ผลลัพธ์ที่ต้องการคือประเทศไทยมีระบบความมั่นคงทางสุขภาพและจัดการภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพที่ครบวงจร เพื่อยกระดับความมั่นคงแห่งชาติด้านสุขภาพ สามารถตอบโต้ภาวะฉุกเฉินได้ทุกภัยอย่างรวดเร็ว เป็นระบบ มีความเป็นเอกภาพ มีประสิทธิภาพและปลอดภัย เพื่อปกป้องชีวิติ สวัสดิภาพและความเป็นอยู่ของคนไทยด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน


ในส่วนของโรคโควิด19 เป้าหมายในการป้องกัน ควบคุมโรคจะมีตัวชี้วัด 2 ข้อหลัก ได้แก่ 1.จำนวนผู้ป่วยของโรคโควิด19 ทุกจังหวัดมีผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 5 คนต่อประชากร 1 ล้านต่อวัน เป็นการยอมให้พบผู้ติดเชื้อในประเทศไทยได้ เนื่องจากจริงๆอาจจะมีผู้ติดเชื้ออยู่เพียงแต่ไม่สามารถตรวจพบได้ตลอดเวลา เห็นได้จากตัวอย่างผู้ติดเชื้อที่เป็นดีเจผู้ต้องขัง รวมทั้ง จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มมากขึ้นที่มาในโปรแกรมต่างๆ และจะให้ประเทศไทยไม่เจอผู้ติดเชื้อเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ ซึ่ง 1 ใน 5 รายนี้อาจจะเป็นผู้ป่วยในที่อาจจะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือรักษาในห้องไอซียู และ2.อัตราป่วยตายของผู้ป่วยของทั้งประเทศต่ำกว่า 1.4 % ปัจจุบันอยู่ที่ 1.7% ซึ่งเชื่อว่าประเทศไทยสามารถรักษาได้ดีกว่าเดิมและป่วยตายน้อยลง ขณะที่ตัวเลขระดับนานาชาติอยู่ที่ประมาณ 3.1 %


นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า การบรรลุเป้าหมายมีหลายกิจกรรมที่จะต้องดำเนินการ 4 ส่วนหลัก ประกอบด้วย 1.การเตรียมความพร้อม จะต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในระดับพื้นที่มีความสำคัญสูง ต้องมีการจัดระดับความสำคัญของกลุ่มเสี่ยง การติดตามข้อมูลทรัพยากร มีการปรับปรุงข้อมูลที่สำคัญ ห้องปฏิบัติการ เวชภัณฑ์ต่างๆ การจัดทำแผนประคองกิจการ มีการพัฒนาคนหน่วยควบคุมโรคติดต่อซึ่งปกติมีอยู่ทุกอำเภอให้เพิ่มขึ้น เป็นต้น


2.ระบบเฝ้าระวัง การตรวจจับผู้ติดเชื้อให้ได้เร็ว มีระบบเฝ้าระวังพื้นฐานแต่จะเสริมด้วยระบบเฝ้าระวังเพิ่มเติมในกลุ่มเสี่ยง เช่น แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย สถานประกอบการที่มีแรงงานอยู่ และสถานบันเทิง และการจัดระบบกักกันตัว(Quarantine)ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากเป็นกลยุทธ์สำคัญในการป้องกันการแพร่เชื้อทั้งที่มาจากต่างประเทศและพบในประเทศไทยที่อาจจะมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

3.การสอบสวน ควบคุมโรค อาทิ การดูแลผู้ป่วยลดการติดเชื้อในโรงพยาบาลและลดโอกาสการแพร่เชื้อต่อ ซึ่งในหลายประเทศเกิดการติดเชื้อในโรงพยาบาล ทำให้ควบคุมโรคได้ยาก มีการบริหารเวชภัณฑ์ในภาวะฉุกเฉิน การติดตามผู้สัมผัสด้วยความรวดเร็ว มีรถพระราชทานเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยทำให้เก็บตัวอย่างได้มากและปลอดภัยกับผู้ปฏิบัติงาน และเทเลเมดิซีนที่มีส่วนช่วยลดความเสี่ยง

และ4.การฟื้นฟู เป็นเรื่องการจัดให้ทีการฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งในเรื่องสุขภาพจิตหรือสุขภาพกาย โดยมีภาคีเครือข่ายเป็นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากโควิด-19เป็นความรับผิดชอบของทุกภาคส่วน


“ผลสัมฤทธิ์ ใน 3 เดือน เป็นเรื่องของระบบคนและของที่จะต้องมีความพร้อมซึ่งหลายพื้นที่มีความพร้อมอยู่แล้ว โดยทุกจังหวัดมีแผนและซ้อมแผนรับมือ รวมถึง ให้มีหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งมีศักยภาพของกำลังคนและทีมเพิ่มขึ้น 3 เท่า ห้องแล็บตรวจหาเชื้อครบทุกจังหวัด รู้ผลตรวจได้ภายใน 1 วัน ส่วนระยะ 6 เดือนนั้น 50%ของประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงบริการต่างๆ และมีระบบกักกันตัวที่ได้มาตรฐานในทุกจังหวัด และระยะ12 เดือน วัดที่อัตราป่วยตาย ไม่เกินค่าเป้าหมาย ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงวัคซีนได้ และอยากให้ประชาชนมีความตระหนักในการใช้หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้ามากกว่า 90% ซึ่งขณะนี้ถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อ และถ้าพบผู้ป่วยในพื้นที่ให้มีการควบคุมโรคให้ได้ภายใน 21 วัน“นพ.โสภณกล่าว