'เฉลิมชัย' สั่งรับมือ 'พายุโนอึล' เข้าไทย 18-20 ก.ย. นี้

"เฉลิมชัย" สั่งกรมชลประทานพร้อมรับพายุโนอึลเข้าไทย 18-20 ก.ย. นี้ เตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ด้านอธิบดีกรมชลฯ ระบุน้ำในเขื่อนทั่วประเทศน้อยกว่าปีที่แล้ว ให้เก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุด สำรองน้ำไว้ให้เพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้ง
เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 63 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมติดตามแนวโน้มสถานการณ์น้ำและแถลงข่าวการบริหารจัดการน้ำปี 2563/2564 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน
โดย นายเฉลิมชัย กล่าวว่า สั่งการให้กรมชลประทานพร้อมรับสถานการณ์น้ำจากพายุโซนร้อนโนอึล จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาช่วงวันที่ 18-19 ก.ย.นี้ พายุดังกล่าวจะส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก จึงให้ดูแลทั้งพื้นที่ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน พร้อมปฏิบัติตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำหลาก ด้วยการกำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย กำหนดคนผู้รับผิดชอบในพื้นที่ต่างๆ วิเคราะห์ ติดตาม สถานการณ์น้ำ รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานระดับท้องถิ่น เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที
พร้อมย้ำให้ติดตามสถานการณ์น้ำฝน-น้ำท่าอย่างใกล้ชิด บริหารจัดการน้ำให้เป็นระบบ เนื่องจากน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศยังอยู่ในเกณฑ์น้อย สำหรับฤดูฝนนี้ได้รับรายงานจากอธิบดีกรมชลประทานว่า มีเพียงพอ แต่จำเป็นต้องเก็บกักน้ำจากฝนช่วงปลายฤดูไว้ใช้ในฤดูแล้งที่จะมาถึง พร้อมกันนี้กำชับให้เร่งดำเนินการปรับปรุงศักยภาพการเก็บกักน้ำของแหล่งเก็บน้ำที่มีอยู่เดิม ซึ่งจะได้ผลเร็วกว่าการสร้างแหล่งเก็บน้ำใหม่ ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงการรับมือสถานการณ์น้ำจากพายุโนอึลว่า ได้กำหนดเครื่องจักรเครื่องมือ ได้แก่ รถขุด รถแทรกเตอร์ เครื่องสูบน้ำ พร้อมใช้งานเข้าประจำจุดเสี่ยงทั่วประเทศ รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ให้คอยติดตาม ตรวจสอบสภาพความปลอดภัยเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ประตูระบายน้ำ อาคารชลประทาน ให้มีสภาพพร้อมใช้งาน ตลอดจนกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด โดยไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่าง
ทั้งนี้ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำยังคงมีปริมาณจำกัด ปัจจุบัน (16 ก.ย.) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และกลางทั่วประเทศ มีปริมาณรวมกันประมาณ 36,764 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างรวมกัน น้อยกว่าปี 2562 ในช่วงเวลาเดียวกันที่มีอยู่ร้อยละ 65 สำหรับขณะนี้มีน้ำใช้การได้ 12,946 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,152 ล้าน ลบ.ม หรือร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 3,456 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 3,339 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 103 ของแผน แต่ยืนยันว่าฤดูฝนนี้น้ำมีเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศน์ และการเกษตรแน่นอน นอกจากนี้ ยังดำเนินตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เร่งเก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุด ลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งที่จะมาถึง
'คนละครึ่ง' ลงทะเบียน 20 ม.ค.นี้ ใครไม่มีสิทธิ์รับเงิน 3,500 บาทบ้าง?
‘เราชนะ’ วันนี้ลุ้น! ครม. อนุมัติหลักเกณฑ์จ่าย 'เงินเยียวยา' 31 ล้านคน
'คนละครึ่งเฟส 2' รอบเก็บตก เคยถูกตัดสิทธิ 14 วัน ลงได้อีกหรือไม่?
'ทรัมป์' ร่วง รีพับลิกันล่ม ประชาธิปไตยรุ่ง
เปิดเหตุผล 'เราชนะ' จ่ายเยียวยา โควิดรอบใหม่กระทบพื้นที่เศรษฐกิจ 75%
'ตลาดหุ้น' ที่ไหนจะรุ่ง ที่ไหนจะร่วง ในปี 2021