‘โฆษณาชวนเชื่อ’ ยุคใหม่ ผ่านโซเชียลมีเดีย

‘โฆษณาชวนเชื่อ’ ยุคใหม่ ผ่านโซเชียลมีเดีย

ทำความรู้จัก "การโฆษณาชวนเชื่อ" ยุคใหม่ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นที่เรียกว่า Troll ที่มักจะคอยปั่นกระแสและสร้างโฆษณาชวนเชื่อโดยใช้ Bot หรือ Robot ไปจนถึงจัดตั้งกองทัพไซเบอร์ ซึ่งก่อให้เกิดกระแสการเมือง สังคม ความเกลียดชังกันเองหลายกรณี

สิ่งหนึ่งที่พรรคนาซีประสบความสำเร็จช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง คือ โฆษณาชวนเชื่อให้คนเยอรมันหลงเชื่อฮิตเลอร์ เห็นด้วยกับความรุนแรง นำประเทศไปสู่สงครามโลก ฮิตเลอร์ใช้วิธีตั้งกระทรวงประชาบาล โฆษณาชวนเชื่อ โดยมี "โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์" (Joseph Goebbels) มือซ้ายฮิตเลอร์เป็นรัฐมนตรี (มือขวาของฮิตเลอร์คือ ไฮน์ริช ฮิมเลอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้นำของหน่วยเอสเอส)

เกิบเบิลส์ จบปริญญาเอก สาขาประวัติศาสตร์วรรณคดี จากมหาวิทยาลัยไฮเดิลแบร์ค ประเทศเยอรมนี เขาศรัทธาตัวฮิตเลอร์มาก จนตกลงใจเป็นสมาชิกพรรคนาซี ฮิตเลอร์ไว้วางใจทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ในพรรค ความอัจฉริยะของเขา ทำให้ผลงานด้านต่างๆ ช่วยให้พรรคนาซีถูกเลือกเป็นรัฐบาล และเขาคือคนที่ฮิตเลอร์ไว้วางใจ กระทั่งมอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนีก่อนฮิตเลอร์จะฆ่าตัวตาย แต่ภายหลังรับตำแหน่ง ต่อมาหนึ่งวันเขาและครอบครัวก็ตัดสินใจฆ่าตัวตายตามฮิตเลอร์

เกิบเบิลส์ คือ เจ้าของทฤษฎีที่เรียกว่า “โกหกคำโต” (Big Lie) ซึ่งก็เป็นวลีที่เคยได้ยินฮิตเลอร์บอกว่า “หากท่านโกหกเรื่องใหญ่มากพอ, โกหกบ่อยครั้งเพียงพอ, เรื่องนั้นจะถูกเชื่อ” ซึ่งหลักโฆษณาชวนเชื่อ สรุปง่ายๆ 7 ข้อ 1.โจมตีตัวบุคคล สร้างศัตรูบุคคลขึ้นมาเป็นหุ่นรับการโจมตีแล้วจับผิด ด่าทอ ต่อว่า เรื่องส่วนตัวและคำพูดทุกคำพูดของคนนั้น 2.พูดซ้ำแล้วซ้ำอีก คนจะเริ่มหลงเชื่อถ้าได้ยินเรื่องเดิมซ้ำประจำ 3.โกหกคำโต โกหกเรื่องใหญ่ๆ เพื่อหลอกให้เชื่อ ครอบคลุมเรื่องต่างๆ หลากหลาย อย่างน้อยต้องมีข้อใดข้อหนึ่งที่ถูกจริตผู้ฟัง เมื่อคนพูดสิ่งที่คนฟังอยากจะเชื่อ เขาก็ยอมเชื่อโดยดี แม้คำโกหกเรื่องใหญ่นั้นจะเท็จครึ่ง จริงครึ่ง หรือไม่มีความจริงอยู่เลย​

4.สร้างสมญานาม สร้างชื่อแทนใช้เรียกย่อๆ ง่ายๆ จะได้จดจำง่าย 5.ตรรกะขาว-ดำ ต้องสร้างภาพการแบ่งแยกฝ่ายถูกผิดชัดเจนเป็นสีขาว-ดำ ใครเข้าข้างจะเป็นฝ่ายถูก ส่วนใครไม่เห็นด้วยจะถูกผลักไปเป็นฝ่ายผิด 6.ชูธงสูงส่ง ต้องอ้างแนวคิดตนให้ดูยิ่งใหญ่ สูงส่ง อลังการ มีคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม ด้วยคำพูดและป้ายประกาศ ใช้ข้อความที่ดูดี 7.ควบคุมข้อมูลที่จะผ่านสื่อ ต้องบอกข้อมูลไม่ครบ บอกความจริงไม่หมด เลือกเฉพาะข้อมูลหรือข่าวที่ส่งผลดีต่อฝ่ายตนเอง เมื่อสื่อถึงคนหมู่มาก บอกปากต่อปาก และยิ่งดูน่าเชื่อถือ

เกิบเบิลส์ใช้วิธีคุมสื่อโดยกลั่นกรองข่าวสารที่จะออกมาทางหนังสือพิมพ์หรือสื่อต่างๆ รวมถึงสร้างภาพยนตร์เพื่อปลูกฝังความคิดและความเชื่อให้ประชาชน โฆษณาชวนเชื่อผ่านวิทยุ คนเยอรมันส่วนใหญ่จะมีวิทยุ รวมถึงปราศรัยตามที่ต่างๆ เขาได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากฮิตเลอร์เป็นอย่างมากที่สุดในบรรดาสมาชิกพรรคนาซี

การวิจัยพบว่าโซเชียลเป็นสื่อการเมืองนำมาใช้โฆษณาชวนเชื่อได้ดีรวดเร็วกว่าสื่อยุคเดิม เรียกว่า ควบคุมจัดการสื่อโซเชียลมีเดีย หรือ Social Media Manipulation

ด้วยความที่โซเชียลมีเดียสื่อสารได้รวดเร็วกว่าเดิม ผู้คนบริโภคข้อมูลสั้นๆ ดูรูปภาพ ข้อความสั้นๆ อ่านน้อยลง และแชร์ต่อไปได้วงกว้างจึงทำให้โฆษณาชวนเชื่อทำได้ง่ายกว่ายุคเดิม โดยเฉพาะบางตัว เช่น ทวิตเตอร์ ที่ผู้ใช้จำนวนมากเป็นอวตาร ไม่มีการระบุตัวตนชัดเจน ทำให้สามารถสร้างข้อความที่เป็นเท็จได้ง่ายโดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ และสร้างกระแสต่างๆ ได้โดยใช้ Hashtag และทำให้เกิดเทรนด์ที่ผู้คนในโลกโซเชียลจะได้โน้มเอียงไปตามกระแส เมื่อได้รับข้อมูลในความเชื่อเดิมซ้ำไปเรื่อยๆ สุดท้ายคนในโซเชียลมีเดียกลุ่มนั้นจะคิดว่าเป็นเรื่องจริงและคล้อยตามในที่สุด

การโฆษณาชวนเชื่อในโลกโซเชียลเริ่มต้นจากกลุ่มที่เรียกว่า Troll คอยปั่นกระแสและสร้างโฆษณาชวนเชื่อ ใช้ Bot หรือ Robot ปั่นข้อความของ Troll ให้ได้รับการแชร์มากขึ้น รวมถึงใช้ Bot สร้างข้อความสั้นๆ หรือปั่น Hashtag ข้อความต่อๆ ไปเป็นจำนวนมาก สร้างให้เกิดเทรนด์ข้อความหรือ Hashtag เพื่อได้เป็นข่าว เมื่อข้อความของ Troll แชร์ไปจำนวนมาก จะมีผู้คนติดตาม Troll เพิ่มขึ้น กลายเป็นเน็ตไอดอลที่ผู้ติดตามจำนวนมาก พร้อมเชื่อข้อความต่างๆ ของ Troll โดยไม่ต้องกลั่นกรองใดๆ

แต่ละสัปดาห์โซเชียลอย่างทวิตเตอร์มี Bot อยู่ในระบบถึง 10 ล้านบัญชี บริษัทพยายามลบออกแต่ลบได้ไม่หมด รวมถึงมีบัญชี Bot ใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน และการใช้โซเชียลโฆษณาชวนเชื่อ ก่อให้เกิดกระแสการเมือง สังคม ความเกลียดชังกันเองหลายกรณี บางประเทศต้องแบนใช้โซเชียลบางตัว เมื่อเกิดเหตุการณ์จลาจลหรือสถานการณ์การเมืองในประเทศ นอกจากนี้ยังมีการกล่าวหาว่ารัสเซียได้ใช้ Troll และ Bot ในโซเชียลมีเดียอย่าง Twitter ในการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2016 เพื่อให้ได้ผลตามที่ต้องการ

สถาบันวิจัย อ็อกซ์ ฟอร์ด อินเทอร์เน็ต พบว่า ปีที่แล้วมีรัฐบาลหรือกลุ่มการเมืองใช้วิธีจัดการโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 150% คือ เพิ่มจากจำนวน 48 ประเทศปี 2561 เป็น 70 ประเทศ ปี 2562

ในรายงานพบว่า รัฐบาลและกลุ่มการเมืองหลายประเทศใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ ทั้งชี้นำการเลือกตั้ง หรือความเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ โดยใช้วิธีต่างๆ ตั้งแต่ชักใย และชี้นำความคิดเห็นต่างๆ การเผยแพร่ข้อความที่สนับสนุนฝ่ายตัวเอง โจมตีฝ่ายการเมืองตรงข้าม ก่อกวนผู้ไม่เห็นด้วย และเผยแพร่ข่าวสารและข้อความที่สร้างความเกลียดชังทางสังคม หรือใช้แบ่งฝักแบ่งฝ่ายผู้คนในสังคม

รัฐบาลหลายประเทศ หรือแม้แต่นักการเมือง นักเคลื่อนไหว และกลุ่มลัทธิต่างๆ ได้จัดตั้งกองทัพไซเบอร์ (Cyber troop) ซึ่งอาจเป็นทีมงานที่ตั้งขึ้นเพื่อชักใยโซเชียลมีเดีย ใช้บิ๊ก ดาต้า ระบบอัตโนมัติ อัลกอริทึม หรือโฆษณาชวนเชื่อเชิงคำนวณ (Computational Propaganda) ชี้นำความเห็นต่างๆ การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้ได้ผลที่แม่นยำรวดเร็ว มีการใช้โฆษณาชวนเชื่อเชิงคำนวณ 3 ด้าน คือ 1.การละเมิดสิทธิมนุษยชน 2.ลดความน่าเชื่อถือของคู่แข่งทางการเมือง และ 3.การเบี่ยงเบนความขัดแย้งทางการเมือง

วิธีโฆษณาชวนเชื่อผ่านโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่อาจไม่ใช้บัญชีที่มีตัวตนจริง แต่เป็นบัญชีผีที่ถูกสร้างขึ้น จากวิจัยพบว่ามีกองทัพไซเบอร์ 56 ประเทศ จาก 70 ประเทศที่ใช้บัญชีผีที่เป็นบอต ทั้งพบว่ามีการสร้างบัญชี cybrog ที่ใช้ระบบออโตเมชั่นที่มีคนดูแล รวมถึงซื้อบัญชีหรือขโมยบัญชีโซเชียลมีเดียของบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือผู้ติดตามจำนวนมากมาใช้งาน กลุ่มการเมืองหัวรุนแรงบางประเทศ ใช้บอตในทวิตเตอร์ทำให้ผู้คนเข้าใจผิดคิดว่า มีผู้ติดตามกลุ่มใหญ่ในโซเชียลมีเดียและบัญชีนั้นน่าเชื่อถือ ทั้งที่ความจริงเป็นข้อความ “ทวีตผี” ของกลุ่ม และเมื่อผู้คนติดตามมากขึ้นจะเกิดอาการอุปทานหมู่คิดว่าข้อความต่างๆ ของบัญชีนั้นความน่าเชื่อถือ

กองทัพไซเบอร์มีกลยุทธ์ในการชักใยโซเชียลมีเดียที่แบ่งออกเป็น 5 รูปแบบ คือ 1.การสร้างข้อมูลเท็จเพื่อชี้นำไปในทางที่ผิด 2.การสร้างบัญชีหรือข้อความจำนวนมหาศาล 3.กลยุทธ์ที่ใช้การวิเคราะห์ข้อมูล 4.การใช้ Troll หรือการล่วงละเมิด และ 5. การปั่น hashtag

การวิจัยนี้ยังได้ศึกษาข้อมูลประเทศต่างๆ และพบว่าเครื่องมือโซเชียลมีเดียที่ประเทศส่วนใหญ่ใช้โฆษณาชวนเชื่อ คือ เฟซบุ๊ค ตามมาด้วยทวิตเตอร์ แต่ก็เริ่มแชร์ภาพและวิดีโอในการโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่ออย่างยูทูบ และอินสตาแกรม สำหรับประเทศไทยส่วนใหญ่ใช้ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ค ทั้งพบว่ากองทัพไซเบอร์บ้านเรามีการจัดตั้งอย่างถาวรและทำงานด้านนี้ต่อเนื่อง ผู้วิจัยระบุว่ามีหลักฐานที่กลุ่มบุคคลเหล่านี้ผ่านการอบรมมาอย่างดี

คนอเมริกันจำนวนมากทราบเรื่องของบอตที่มีในโซเชียลมีเดีย แต่ยอมรับว่าเป็นการยากที่จะแยกว่ามีบัญชีใดเป็นบอตหรือข้อมูลใดถูกชักใย ยิ่งประเทศที่มีเสรีภาพ ความต้องการสื่อสาร แลกเปลี่ยนความเห็นจำเป็นมาก จึงไม่สามารถแบนการใช้โซเชียลมีเดียได้ สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องสอนให้ผู้คนรู้วิธีการเข้าถึงข้อมูลที่มีคุณภาพที่ดี

การใช้โซเชียลมีเดียที่ถูกบริหารจัดการโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การให้ข้อมูลที่ผิดย่อมมีอันตรายต่อสังคม โดยเฉพาะการใช้โซเชียลมีเดียที่ผู้ใช้จำนวนมากไม่ระบุตัวตนที่แท้จริงเป็นอวตาร ใช้บอตสร้างข้อความเท็จ ในการปั่น hashtag ต่างๆ ยิ่งเป็นอันตราย บางประเทศใช้วิธีนี้มาหลายปี เมื่อไม่มีการแก้ปัญหาก็อาจเริ่มนำไปสู่ปัญหาทางเมืองและความแตกแยกในสังคมอย่างรุนแรง

แม้ในรายงานวิจัยดังกล่าว จะไม่ได้บอกแนวทางแก้ไข แต่ความเป็นจริง เราสามารถสอนวิธีใช้สื่อออนไลน์ที่ดีให้ทุกคนได้ตั้งแต่เด็ก ฝึกให้เยาวชนรู้จักค้นข้อมูลที่ถูกต้อง รู้จักคิดเชิงวิเคราะห์ให้แยกแยะได้ว่าข้อมูลหรือข่าวสารใดเป็นจริงหรือเท็จ ฝึกจริยธรรม รู้จักการระบุตัวตน พยายามแสดงตัวตนที่แท้จริงมากกว่าการทำตัวเป็นอวตารในโลกโซเชียลมีเดีย สอนให้ใช้ข้อความในโลกโซเชียลมีเดียที่สุภาพไม่หยาบคาย หรือสร้างความแตกแยกในสังคม เมื่อผู้คนส่วนใหญ่เป็นพลเมืองออนไลน์ที่มีคุณภาพ อาจพอลดปัญหาการโฆษณาชวนเชื่อผ่านโซเชียลมีเดียไปได้บ้าง และน่าจะลดปัญหาความแตกแยกในสังคมไปได้