ครม.อนุมัติงบกลาง 6.17 พันล้านบาท แก้ปัญหาน้ำท่วม-แล้ง 3 โครงการ

ครม.อนุมัติงบกลาง 6.17 พันล้านบาท แก้ปัญหาน้ำท่วม-แล้ง 3 โครงการ

ครม.อนุมัติงบกลาง 6.17 พันล้านบาท แก้ปัญหาน้ำท่วม-แล้ง รวมถึงแผนพัฒนาหนองหาร จังหวัดสกลนคร ระยะ 10 ปี วงเงินกว่า 7.44 พันล้านบาท เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 25,000 ไร่

เมื่อวันที่ 15 ก.ย.63  น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติงบกลางปีงบประมาณ พ.ศ.2563 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน วงเงินรวม 6,177.77 ล้านบาท สำหรับ 3 โครงการ คือ

1.โครงการเพื่อเตรียมการรับมือ บรรเทาปัญหาน้ำท่วมและเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในฤดูฝน ปี 2563 จำนวน 5,082.91 ล้านบาท ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบโครงการ อาทิ โครงการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพระบบกระจายน้ำและปรับปรุงแหล่งน้ำ 142 แห่ง โครงการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำชลประทาน 63 แห่ง และโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน 65 แห่ง เป็นต้น

2.โครงการจัดหาเครื่องสูบน้ำที่มีศักยภาพในการสูบน้ำไม่น้อยกว่า 35,000 ลิตร/นาที และส่งน้ำระยะไกลไม่น้อยกว่า 10 กิโลเมตร พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 18 คัน คันละ 45 ล้านบาท รวมวงเงิน 810 ล้านบาท ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เพื่อติดตั้งประจำ ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต จำนวน 18 ศูนย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้อนุมัติจัดหาไปแล้ว 18 คัน

3.โครงการจัดหาเครื่องจักรกลเพื่อเตรียมความพร้อมในการแก้ปัญหาและบรรเทาอุทกภัย จำนวน 284.86 ล้านบาท ของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ เครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ รถปั้นจั่นล้อยาง และเรือขุดแบคโฮ เพื่อทดแทนเครื่องจักรกลเดิมซึ่งมีสภาพเก่า

นอกจากนี้ ครม. ยังอนุมัติแผนหลักการพัฒนาหนองหาร จังหวัดสกลนคร 5 ด้าน ระยะดำเนินการ 10 ปี (พ.ศ.2563 – 2572) จำนวน 62 โครงการ วงเงินงบประมาณ 7,445.22 ล้านบาท เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินและการใช้ทรัพยากรในพื้นที่หนองหารอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

สำหรับแผนหลักการพัฒนาหนองหาร เเป็นแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณบึงหนองหาร ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำและเป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความจุ 163 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ในปัจจุบันบึงหนองหารกำลังประสบปัญหา เช่น ปัญหาน้ำทิ้งจากชุมชม น้ำท่วม การขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริการโภคและใช้ทางการเกษตร เป็นต้น ตลอดจนการบุกรุกเข้าถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำแผนหลักการพัฒนาหนองหาร ดังนี้

1.แผนด้านการจัดการน้ำอุปโภคบริโภค งบประมาณรวม 293.32 ล้านบาท เพื่อจัดหาแหล่งน้ำสะอาดในการอุปโภคบริโภคให้แก่ชุมชนครบทุกหมู่บ้าน และการจัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เศรษฐกิจ โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ การประปาส่วนภูมิภาค

2.แผนด้านการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต งบประมาณรวม 1,064.62 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้ประโยชน์ของปริมาณน้ำที่สามารถสนับสนุนได้ โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กรมชลประทาน

3.แผนด้านการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย งบประมาณรวม 1,591.24 ล้านบาท เพื่อเป็นการบรรเทาอุทกภัยทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงท้ายน้ำ โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบคือ กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมประมง

4.แผนด้านการจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ งบประมาณรวม 4,328.89 ล้านบาท เพื่อบำบัดน้ำเสียที่ไหลลงบึงหนองหาร และการควบคุมวัชพืชไม่ให้กระทบต่อคุณภาพน้ำ โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก เช่น สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดสกลนคร องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร กรมประมง เป็นต้น

5.แผนด้านการบริหารจัดการ งบประมาณรวม 167.15 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลหนองหาร โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น สำนักงานที่ดินจังหวัดสกลนคร สำนักงาน สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสกลนคร เป็นต้น

สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากแผนหลักการพัฒนาหนองหาร คือ บรรเทาปัญหาอุทกภัยโดยสามารถชะลอน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากเพิ่มขึ้นเป็น 88 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเดิม 43 ล้านลูกบาศก์เมตร , มีพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 25,000 ไร่ , เพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดน้ำเสียสามารถรองรับได้ทั้งเทศบาลนครสกลนครและเทศบาลตำบลท่าแร่ , กำจัดวัชพืชลอยน้ำได้ประมาณ 620,000 ตัน และขุดลอกตะกอนดินได้ปริมาณ 5.8 ล้านลูกบาศก์เมตร

นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ครม. ได้กำชับให้ สนทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแผนงานระยะเร่งด่วน (ปีพ.ศ.2563 - 2565) พร้อมชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนที่บุกรุกเข้าถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ รวมถึงการวางแผนเยียวยาในการจัดหาที่อยู่และที่ทำกินให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และเร่งดำเนินการตรวจสอบสิทธิในการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวให้มีความถูกต้องและเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด