ชงรัฐต่อมาตรการอุ้มหนี้ ลดภาระต่ออายุเอสเอ็มอี

ชงรัฐต่อมาตรการอุ้มหนี้  ลดภาระต่ออายุเอสเอ็มอี

มาตรการพักชำระหนี้สำหรับเอสเอ็มอีกำลังจะครบกำหนดในเดือน ต.ค.2563 ในขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งทำให้เอสเอ็มอีมีข้อเสนอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือต่อเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้

นางสาวโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า จากการประเมินภาวะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขณะนี้อยู่ในภาวะอ่อนแอและประสบปัญหาสภาพคล่องสูง ซึ่งภายหลังสิ้นสุดระยะเวลามาตรการพักชำระหนี้ 6 เดือน เดือน ต.ค.2563 จะมีเอสเอ็มอีจำนวนมากได้รับผลกระทบรุนแรง 

ดังนั้นรัฐบาลควรต่ออายุมาตรการพักชำระหนี้ออกไปจนถึงสิ้นปี เพื่อให้ภาระหนี้เบาขึ้น ซึ่งการสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้นั้น รัฐบาลจะต้องเข้าไปตรวจสอบอย่างลงลึกว่ามีกำลังจ่ายหนี้คืนไหวหรือไม่ เพราะหากเอสเอ็มอียังไม่พร้อม ก็อาจทำให้ภาวะหนี้เสียมีเพิ่มขึ้น

จากการประเมินเบื้องต้น พบว่าเอสเอ็มอีกลุ่มธุรกิจบริการ ธุรกิจโรงแรม เสี่ยงต่อการปิดกิจการสูงสุด โดยเฉพาะโรงแรมหรือธุรกิจที่พึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาหลายโรงแรมปิดตั้งแต่ช่วงล็อกดาวน์ จากการพูดคุยหารือกับกลุ่มท่องเที่ยวมองว่าธุรกิจโรงแรมที่พึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงจะพยุงธุรกิจได้อีกเพียง 3 เดือน หรืออยู่ได้ไม่เกินสิ้นปีนี้ ซึ่งช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ เศรษฐกิจภายในประเทศไม่ฟื้นตัว ขณะนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเข้ามาได้อย่างแน่นอน ก็คงมีกิจการอีกหลายพันรายที่ต้องปิดกิจการถาวร

สำหรับ สิ่งที่ภาครัฐควรเข้าไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน คือ การเข้าช่วยเหลือไม่ให้ธุรกิจโรงแรงเหล่านี้ตกไปอยู่ในมือของต่างชาติ เพราะวิกฤติโควิด-19 ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี จึงจะฟื้นตัว หากภาครัฐไม่ยื่่น

มือช่วยในระยะเวลา 3 ปี คงถูกต่างชาติไล่ซื้อกิจการหมด เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยมีศักยภาพสูงมาก

  159963273877

ส่วนเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบรองลงมา คือ เอสเอ็มอีกลุ่มส่งออก เพราะการส่งออกประสบภาวะติดขัดและกำลังซื้อผู้บริโภคลดลงมาก โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ค้าขายบริเวณชายแดน เนื่องจากคนขับรถบรรทุกจะขับรถเข้ามาไทยจะถูกกักตัว 14 วัน และขับข้ามแดนไปประเทศเพื่อนบ้านก็จะต้องถูกกักตัวอีก 14 วัน ทำให้มีต้นทุนในการขนส่งเพิ่มขึ้น รวมทั้งด่านการค้าชายแดนส่วนใหญ่ปิดหมด เหลือเฉพาะด่านถาวรขนาดใหญ่ ทำให้ปริมาณการค้าชายแดนลดลง จึงทำให้เอสเอ็มอีที่ค้าชายแดนได้รับผลกระทบมากพอสมควร

อย่างไรก็ตาม จากการประเมินของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่า จากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลต่อเอสเอ็มอีต่างกัน โดยเอสเอ็มอีที่มีเงินทุนหมุนเวียนประคอบธุรกิจได้ไม่เกิน 1 เดือน มีถึง 25.4% จากเอสเอ็มอีที่มีทั้งหมด 3 ล้านราย ซึ่งเอสเอ็มอีในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ปิดกิจการหรือเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่น

รวมทั้งเอสเอ็มอี 32.8% มีเงินทุนหมุนเวียน 2-3 เดือน กลุ่มนี้เสี่ยงปิดกิจการ และมีเอสเอ็มอีอีก 17.9% มีเงินทุนหมุนเวียนได้ 4-6 เดือน กลุ่มนี้อาจรอดแต่ต้องเหนื่อยมาก แต่ขึ้นกับการระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ที่มีความเสี่ยงสูง

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหารัฐบาลควรจะผ่อนปรนมาตรการสินเชื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น โดยปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีที่ได้รับผลประทบอย่างรุนแรง และต้องการวงเงินไม่มากไม่ควรจะผูกติดกับกฎระเบียบการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร 

รวมทั้งควรตั้งกองทุนที่ง่ายต่อการปฏิบัติและไม่ติดกับกฎเกณฑ์ โดยสินเชื่อที่ไม่เกิน 5 แสนบาทสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง และสินเชื่อไม่เกิน 1 แสนบาทให้กับกลุ่มไมโครเอสเอ็มอี ซึ่งจำนวนวงเงินนี้ควรปล่อยกู้ได้ทันทีโดยไม่ต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์มากนัก เพื่อให้เอสเอ็มอี และไมโครเอสเอ็มอีเหล่านี้มีเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งอาจจะเกิดหนี้เสียบ้าง แต่ในภาพรวมแล้วจะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวนมากจะอยู่รอดต่อไปได้

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยเตรียมยื่นข้อเสนอการแก้ไขปัญหาเอสเอ็มอีให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ 4 แนวทาง

แบ่งเป็นข้อเสนอ 2 เพิ่ม ได้แก่ 

1.การเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนผ่านสินเชื่อในรูปแบบของกองทุนที่เข้าถึงได้ง่าย

2.การเพิ่มโอกาสทางการค้า เช่น การแก้ปัญหาการค้าชายแดนให้คล่องตัว การแก้ปัญหาการค้าออนไลน์เพิ่มแต้มต่อให้กับรายเล็กไม่ให้เสียเปรียบเจ้าของแพลตฟอร์มรายใหญ่ การให้ทูตพาณิชย์ในต่างประเทศ เร่งขยายตลาดต่างประเทศ 

รวมทั้งเร่งดำเนินการมาตรการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ปรับหลักเกณฑ์ให้เอสเอ็มอีขายของให้หน่วยงานภาครัฐสะดวกขึ้น ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแล้วแต่ยังมีขั้นตอนในภาคปฏิบัติ ดังนั้นรัฐบาลควรเข้ามาเร่งรัดให้เกิดการนำไปปฏิบัติจริงโดยเร็ว

ข้อเสนอ 2 ลด ได้แก่ 1.การลดภาระภาษี และภาระการเงิน เช่น การขยายเวลาพักชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็ก การลดภาระหนี้ของนักศึกษาที่พึ่งจบการศึกษา เช่น การพักหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพราะนักศึกษาที่จบใหม่อาจจะมีจำนวนมากที่ต้องตกงาน

2.การลดภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เช่น การลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าขนส่ง และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ให้กับเอสเอ็มอี

รศ.ดร.จุฑาทิพย์ จงวนิชย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ภาวะวิกฤติโควิด-19 เอสเอ็มอีกลุ่มเปราะบางเสี่ยงมากที่สุด ซึ่งจากการวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่ามีผู้ประกอบการ 49,830 ราย จัดว่าเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุ่มเสี่ยงเผชิญปัญหาสภาพคล่องและปิดกิจการ 

กลุ่มผู้ประกอบการดังกล่าวเกี่ยวข้องโดยตรงกับแรงงานมากถึง 1.6 ล้านคน จำนวนแรงงานดังกล่าวเป็นการประเมินผลทางตรงกับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หากรวมผลกระทบทางอ้อมที่อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวส่งต่อไปยังภาคอื่น (เกษตร อุตสาหกรรมและบริการ) ที่ทยอยเกิดขึ้นในช่วงผ่อนคลายมาตรการ Lock down คาดว่าแรงงานที่จะได้รับผลกระทบมากถึง 4 ล้านคน คิดเป็น 40% ของจำนวนแรงงานทั้งหมดในระบบประกันสังคม ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขขั้นต่ำที่คิดเฉพาะผู้ประกันตนภายใต้ระบประกันสังคม

กลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก (กลุ่มเอส) มีมากสุดคิดเป็น 80% ของกลุ่มเปราะบาง แต่คิดเป็นเพียง 19% ของการจ้างงานรวม และคิดเป็น 71% ของรายได้รวมในกลุ่มเปราะบาง

ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและใหญ่ มีจำนวนน้อยกว่าที่คิดเป็นสัดส่วน 15% และ 5% ตามลำดับ ของกลุ่มผู้ประกอบการเปราะบาง แต่มีนัยต่อการจ้างงานถึง 22% และ 59% ตามลำดับ ในขณะที่สัดส่วนรายได้คิดเป็น 7.7% และ 21.3% ตามลำดับ

“รัฐบาลต้องเร่งผู้ประกอบการกลุ่มเปราะบางเพื่อให้ประคองธุรกิจผ่านช่วงโควิด–19 และรักษาการจ้างงานได้อีกมาก ซึ่งเมื่อผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 กลุ่มนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”