'ขอกู้ใหม่' ได้อัตราดอกเบี้ยเท่าใดกัน?

'ขอกู้ใหม่' ได้อัตราดอกเบี้ยเท่าใดกัน?

ไขข้อข้องใจ หากผู้ประกอบการภาคธุรกิจต้องการไปขอ "สินเชื่อใหม่" ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าใด และจะเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงต่างๆ ที่ธนาคารประกาศไว้หรือไม่?

ผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่ว่าเวลาธุรกิจขอสินเชื่อจากธนาคาร จริงๆ แล้วธนาคารคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าใด จะเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงต่างๆ ที่ธนาคารประกาศไว้หรือไม่ บทความนี้จะมาไขข้อข้องใจและแนะนำข้อมูลใหม่ที่ธุรกิจอาจนำไปใช้พิจารณาประกอบกับการขอสินเชื่อใหม่ได้

บางท่านอาจพอทราบว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธุรกิจจะต้องจ่ายจริงมักไม่เท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงต่างๆ ที่ธนาคารประกาศ แต่จะแพงกว่าหรือถูกกว่าขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ กู้สั้น หรือกู้โดยมีหลักทรัพย์เป็นประกัน มักจ่ายดอกเบี้ยที่ถูกกว่าอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ซึ่งหากธุรกิจไปขอสินเชื่อใหม่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารเรียกเก็บกับธุรกิจจริงๆ จะเรียกว่า “อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อปล่อยใหม่ (new loan rate : NLR)”

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีชุดข้อมูลการกู้ยืมที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งครอบคลุมเฉพาะภาคธุรกิจที่มีวงเงินรวม ณ ธนาคารหนึ่งๆ ตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป จึงสามารถคำนวณ NLR ได้ โดย NLR ที่จัดทำขึ้นคือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เกิดขึ้นจริง เฉลี่ยถ่วงน้ำหนักตามวงเงินรายสัญญาที่ธนาคารเรียกเก็บกับธุรกิจที่มาขอสินเชื่อใหม่ ซึ่งพบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ 4 ประการ ดังนี้

1.ธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อใหม่ของภาคธุรกิจโดยเฉลี่ยต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงที่ประกาศ จะเห็นว่า NLR ของภาคธุรกิจในภาพที่ 1 ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงมาโดยตลอด เช่น หากเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงอย่างอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมแก่ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (minimum loan rate : MLR) ที่ธนาคารประกาศเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6.13 ณ เดือน พ.ค.2563 ขณะที่ NLR อยู่ที่ร้อยละ 3.45 ซึ่งต่ำกว่าเกือบครึ่งหนึ่ง

2.ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงและ NLR กว้างขึ้น สะท้อนว่าต้นทุนการกู้ยืมสินเชื่อใหม่ของภาคธุรกิจที่เกิดขึ้นจริงในช่วงที่ผ่านมาปรับลดลง สอดคล้องกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มากกว่าการปรับลด MLR โดยเฉพาะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ช่วงปี 2551

3.NLR ต่างกันไปตามลักษณะของสินเชื่อธุรกิจ ทั้งในมิติประเภทธุรกิจ วงเงินสินเชื่อ วัตถุประสงค์การกู้ ระยะเวลาการกู้ หรือประเภทสินเชื่อที่ต่างกัน เช่น ในมิติวงเงินสินเชื่อ การกู้สินเชื่อใหม่วงเงินขนาดใหญ่มักได้รับ NLR ต่ำกว่า ดังแสดงในภาพที่ 2 เนื่องจากขนาดวงเงินมักสะท้อนขนาดของธุรกิจ และธุรกิจขนาดใหญ่มักได้เปรียบจากต้นทุนที่ต่ำกว่าตามการผลิตจำนวนมาก หรือรายได้ที่สูงกว่า ทำให้มีความเสี่ยงน้อยกว่าธุรกิจขนาดเล็ก

4.ธนาคารได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ธุรกิจที่กู้วงเงินขนาดเล็กในช่วง COVID-19 ค่อนข้างมาก โดยจะเห็นได้ว่า NLR ของสินเชื่อปล่อยใหม่ที่วงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อสัญญาปรับลดลงมากกว่าวงเงินขนาดใหญ่ โดยล่าสุด ณ เดือน พ.ค.2563 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.0 ลดลงจากเฉลี่ย ร้อยละ 5.0 ในช่วงปี 2561-2562 ต้นทุนทางการเงินที่ลดลงค่อนข้างมากนี้เป็นไปตามการทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2562 อย่างต่อเนื่อง จนมาสู่อัตราดอกเบี้ยระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 0.50 ในปัจจุบัน และยังสอดคล้องกับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ โดยเฉพาะมาตรการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) สำหรับธุรกิจ SMEs ที่ ธปท.ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติCOVID-19

อย่างไรก็ดี การใช้ข้อมูล NLR ที่กล่าวมาข้างต้น ควรคำนึงถึงข้อจำกัดต่างๆ ดังนี้ 1.NLR อาจไม่สะท้อนต้นทุนสินเชื่อของภาคธุรกิจในภาพรวมได้ เพราะ NLR สะท้อนเฉพาะต้นทุนการขอสินเชื่อในสัญญาใหม่ของภาคธุรกิจ แต่ไม่ได้สะท้อนต้นทุนสินเชื่อของภาคธุรกิจในสัญญาเงินกู้เดิมที่ตกลงไว้ล่วงหน้า และ

2.อาจต้องระมัดระวังในการเปรียบเทียบ NLR กับอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารคิดกับผู้กู้ โดยเฉพาะการเปรียบเทียบกับธุรกิจรายย่อยที่มีขนาดเล็กมาก (วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท) เพราะข้อมูล NLR ที่นำเสนอคำนวณจากข้อมูลที่ผู้กู้มีวงเงินรวมในธนาคารแต่ละแห่งตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งธุรกิจที่กู้ยืมด้วยวงเงินน้อยกว่า 20 ล้านบาทมีโอกาสได้รับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย NLR ที่คำนวณได้ ทั้งนี้ ในระยะถัดไป หากต้องการให้ข้อมูล NLR สะท้อนต้นทุนการกู้ยืมใหม่ที่เกิดขึ้นจริงได้ดีขึ้น ควรพัฒนาการรายงานข้อมูลให้ครอบคลุมธุรกิจทุกวงเงิน

โดยสรุป NLR เป็นข้อมูลที่สะท้อนต้นทุนการกู้ยืมสินเชื่อใหม่สำหรับภาคธุรกิจในแต่ละช่วงเวลาได้ดีกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงประเภทต่างๆ ที่ธนาคารเผยแพร่ในปัจจุบัน ซึ่ง ธปท.ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว โดยจะเผยแพร่ชุดข้อมูล NLR เป็นรายเดือนบนเว็บไซต์ของ ธปท.ในเดือน ก.ย.2563 นี้ เพื่อให้ธุรกิจทราบถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เกิดขึ้นจริง และใช้ประกอบการตัดสินใจกู้สินเชื่อใหม่ รวมถึงพิจารณารับเงื่อนไขเงินกู้ที่ธนาคารเสนอให้

นอกจากนี้ ธปท.จะเผยแพร่วิธีการจัดทำใน “บทความและเอกสารเผยแพร่ด้านสถิติ (stat-horizon)” โดยท่านผู้อ่านสามารถติดตามข้อมูล NLR ล่าสุดได้ที่เว็บไซต์ของ ธปท.ผ่านการสแกน QR Code

\'ขอกู้ใหม่\' ได้อัตราดอกเบี้ยเท่าใดกัน?

[บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย]