'เนตร' อ้างสุดวิสัยไม่สั่งคดีบอส กมธ.ลุยสอบเส้นทางการเงิน

'เนตร' อ้างสุดวิสัยไม่สั่งคดีบอส กมธ.ลุยสอบเส้นทางการเงิน

2 กมธ.รุมซัก “เนตร นาคสุข” ปมไม่สั่งคดีบอส รองอัยการสูงสุดอ้างพยานยืนยันเป็นเหตุสุดวิสัย-ใช้ดุลพินิจชอบด้วยกฎหมาย กมธ.เล็งสอบเส้นทางการเงิน ด้านทีมตำรวจสรุปผลสอบ “เพิ่มพูน ชิดชอบ” ไม่บกพร่อง

ชี้ข้อผิดพลาดทีมพนักงานสอบสวน สั่งตั้งกก.สอบวินัย 11 นายที่เคยถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด

ในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระหว่างคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ที่มี นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน และ กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน ที่มีนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ที่ประชุมมีการพิจารณาต่อเนื่อง คดีที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา กรณีขับรถชนตำรวจเสียชีวิต

โดยได้เชิญ นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) อัยการ และตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการทำคดี เข้าชี้แจงต่อที่ประชุม

นายเนตร ชี้แจงถึงเหตุผล ในการยื่นหนังสือลาออกจากรองอัยการสูงสุดว่า เนื่องจากสังคมมีความกังวลเกี่ยวกับคำสั่ง ซึ่งตนเป็นผู้ลงนามคำสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าว เมื่อสังคมเกิดความไม่สบายและมีการกดดัน ตนจึงรับผิดชอบด้วยการลาออก เพื่อรักษาภาพลักษณ์ขององค์กร ส่วนคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ ยืนยันว่าพิจารณาความเห็นทั้งในส่วนของ พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ แตงจั่น ทีมพิสูจน์ความเร็ว ซึ่งในทีแรกระบุว่านายวรยุทธขับรถด้วยความเร็ว 177 กม./ชม. แต่ต่อมาผู้ให้ความเห็นคนเดิมให้การใหม่ กลับเหลือแค่ 79 กม./ชม.

สอดคล้องกับพยานคนอื่นๆ อาทิ นายสายประสิทธิ์ เกิดนิยม นักวิชาการ ที่ให้ความเห็นว่าความเร็วรถของนายวรยุทธอยู่ที่ 76 กม./ชม. รวมถึงพยานอีก 2 คน คือ พล.อ.ท.จักรกฤษ ถนอมกุลบุตร และนายจารุชาติ มาดทอง ที่ให้การเช่นเดียวกันว่าเป็นเหตุสุดวิสัย เมื่อพยานหลักฐานในสำนวนเป็นเช่นนี้ จึงถือว่าไม่พอฟ้องในข้อหาขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จึงมีคำสั่งไม่ฟ้องในท้ายที่สุด

ยันมีอำนาจลงนามไม่สั่งฟ้อง

ส่วนประเด็นร้องความเป็นธรรม ระเบียบของอัยการไม่ได้กำหนดว่า ต้องร้องขอกี่ครั้ง เมื่อมีการร้องใหม่ก็มีการแสดงความเห็นขึ้นมา ซึ่งผู้รับผิดชอบคือตน ยืนยันว่าเป็นการทำตามลำดับชั้น ตามความเห็นของอัยการชั้นต้นที่ให้สอบสวนเพิ่มเติม

ส่วนข้อสงสัยเกี่ยวกับอำนาจในการสั่งไม่ฟ้อง ว่าเป็นอำนาจของรองอัยการสูงสุดหรือไม่ ยืนยันว่าตนมีอำนาจในฐานะปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด เพราะการสั่งคดี มีการถ่วงดุลอำนาจ ดังนั้นในฐานะผู้ได้รับมอบหมายตามระเบียบในข้อ 6 เมื่อรองอัยการสูงสุดสั่งคดีแล้ว ยังสามารถเสนอ ผบ.ตร.เพื่อทำความเห็นแย้งได้ ต่างจากกรณีที่อัยการสูงสุดเป็นผู้สั่ง ที่จะถือว่าคำสั่งนั้นเด็ดขาด

ส่วนการขอความเป็นธรรมจาก กมธ.กฎหมาย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ของนายวรยุทธนั้น เป็นกระบวนการที่เกิดมาก่อนหน้านั้น ซึ่งตนเพิ่งมาดูเรื่องนี้ในช่วงท้าย แต่ในส่วนขออัยการรับข้อมูลก็ต้องมีการสอบสวน ไม่ใช่นำข้อมูลนั้นมาสั่งคดีได้เลย ส่วนการร้องขอความเป็นธรรมต่อ กมธ.กฎหมายสนช.เป็นขั้นตอนตามปกหรือไม่ ส่วนตัวคงไม่สามารถไปก้าวล่วงได้

กมธ.รุมซักปมร้องสนช.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ประชุมพยายามซักถามในประเด็นการร้องขอความเป็นธรรมของนายวรยุทธต่อ กมธ.กฎหมาย สนช.ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นจุดพลิกผันของคดีอย่างหนัก อาทิ นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ท้วงติงว่า อำนาจของ กมธ.กฎหมายสนช.มีอำนาจแค่ศึกษาข้อเท็จจริง เพื่อส่งไปยังรัฐบาลส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา แต่กรณีของนายวรยุทธนั้น กลับมีการยื่นเรื่องไปยังอัยการโดยตรง จึงถือเป็นกระบวนการที่มิชอบด้วยกฎหมาย

ด้านนายสมัคร เชาวภานันท์ ทนายความของนายวรยุทธ ชี้แจงว่ารายงานของ กมธ.กฎหมาย สนช. สอบสวน ที่ส่งให้อัยการ ปกติแล้วไม่ต้องนำเข้าสำนวนก็ได้ แต่ที่มีการนำรายงานของกมธ.กฎหมาย สนช.เข้าไปในสำนวนนั้น เป็นเพราะหลังจากนั้นตนเห็นว่าในการฟ้องคดีอาญา ต้องนำสำนวนที่อยู่ในสำนวนของพนักงานสอบสวนเท่านั้นมาพิจารณา ตนจึงได้ร้องขอความเป็นธรรมให้นำ รายงานการสอบสวนของ กมธ.กฎหมาย สนช. เข้ามาเพื่อเป็นหลักฐานในสำนวน

เล็งคุ้ยเส้นทางการเงินเนตร

ขณะที่นายสิระ ซักถามว่า สำหรับคดีนี้ประชาชนเกิดความสงสัยว่าพยานใหม่ เป็นพยานที่ช่วยเหลือผู้ต้องหารือไม่รวมทั้งคดีนี้มีการวิ่งเต้นหรือมีผลประโยชน์อยู่ที่ใครหรือไม่ นายเนตร ชี้แจงว่า นายจารุชาติ เป็นพยานตั้งแต่ต้น ส่วนพล.อ.ท. จักรกฤช มาช่วงกลาง ซึ่งเป็นพยานที่เกิดจากการสอบสวนโดยชอบ ส่วนการพิจารณายืนยันว่าพิจารณาตามกระบวนการ พิจารณาจากการสอบสวนทั้งสิ้น ไม่มีส่วนอื่นเกี่ยวข้อง

นอกจากนั้น กมธ.ได้ซักถามว่า นายเนตรยินดีให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินหรือไม่ ซึ่งนายเนตร ยืนยันว่า ยินดีให้ตรวจสอบ เนื่องจากการพิจารณาคดี เป็นการสั่งคดีตามสำนวน ไม่มีเรื่องอื่นทั้งสิ้น เป็นคดีที่มาตามระบบ

“เพิ่มพูน” ยันใช้ดุลพินิจสุจริต

ขณะที่ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ที่เข้าชี้แจง ยืนยันว่า เหตุที่ไม่เห็นแย้งต่ออัยการ เพราะได้ดูตามสำนวนตามลำดับชั้นที่ส่งขึ้นมา และมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ไม่เห็นแย้งกับอัยการ เป็นการใช้ดุลพินิจโดยสุจริต เที่ยงธรรม ไม่ได้เลือกปฏิบัติ ไม่มีใครมาสั่งตนได้

ส่วนที่ถามว่า หากย้อนไปใหม่ได้ ในวันนี้จะยังเห็นแย้งกับอัยการหรือไม่ ก็ขอยืนยันเหมือนเดิม เพราะดูตามหลักฐานในสำนวนที่ปรากฏ

“ดร.สธน”เปิดสูตรความเร็วรถ

ขณะที่นายสธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แจงต่อ กมธ.ยืนยันว่าที่มาของความเร็ว 177กม./ชม. มาจากการที่คณะวิทยาศาสตร์จุฬาฯ กับ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ มีข้อตกลงร่วมกันในการตรวจพิสูจน์คดีที่ได้รับความสนใจจากประชาชน

สมการที่คำนวณความเร็ว มีอัตราเฉลี่ยคือ ระยะทางในการเคลื่อนที่ หารด้วย เวลา เราจึงนำ 31 เมตร หารด้วยเวลา คือ 0.63 วินาที ได้ผลลัพธ์มาคือ 49 เมตรต่อวินาที เมื่อเปลี่ยนเป็นความเร็วจะได้เท่ากับ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ขณะที่นายณรงค์ โพธิเกตุ ทันตแพทย์ ผู้ทำการรักษาฟันให้นายวรยุทธ ชี้แจงว่านายวรยุทธ มาปรึกษาเรื่องการทำฟัน เพื่อทดแทนฟันที่สูญเสียไป โดยครั้งสุดท้ายที่มาพบตนเองคือวันที่ 29 ส.ค.2555 ซึ่งบริเวณที่นายวรยุทธได้ทำการครอบฟันไว้มีการขยับ ทำให้มีอาการอักเสบและบวมแดง จึงได้ทำการรักษาและจ่ายยา คือ ยาอะม็อกซีซิลลินในปริมาณ 500 มิลลิกรัม เพื่อให้รับประทานทุกๆ 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 5 วัน

นายกฯลั่นพอใจเมื่อสิ้นสุดทางที่ดี

วันเดียวกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคดีดังกล่าวว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ชุดนายวิชา มหาคุณ ซึ่งมีการรายงานให้ตนทราบอย่างต่อเนื่อง อะไรที่ตนให้ชุดตำรวจไปแก้ไข หรือชี้แจง ตนก็กำชับว่าต้องให้ความร่วมมือในการแก้ไข ร่วมมือ และชี้แจง ในทุกประเด็น

“ถามว่าพอใจหรือไม่ ก็จะพอใจได้เมื่อสิ้นสุดไปในทางที่ดี ที่ประชาชนยอมรับ แต่ตอนนี้ก็พอใจระดับหนึ่ง ที่มีการออกมาขับเคลื่อนเรื่องนี้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ตร.สรุป “เพิ่มพูน”ไม่บกพร่อง

ทางด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) วันเดียวกันนี้ (13ส.ค.) พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมด้วย พล.ต.ท.จารุวรรณ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร.และคณะทำงานตรวจสอบคดีบอส อยู่วิทยา แถลงผลการประชุมตรวจสอบข้อเท็จจริง 15 วัน

โดยมีการฉายข้อมูลบนจอมอนิเตอร์ แล้วไล่เรียงไทม์ไลน์ในการดำเนินคดีนี้ตั้งแต่ต้นจนถึงไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการ และระบุถึงประเด็นบกพร่องในการทำหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในแต่ละช่วง

พล.ต.ท.จารุวรรณ ระบุว่า ผลการตรวจสอบของ พล.ต.ท. เพิ่มพูน ไม่พบความบกพร่องจากการสั่งไม่แย้ง เนื่องจากการพิจารณาจะต้องพิจารณาตามข้อมูลและหลักฐานภายในสำนวนตามที่อัยการส่งมาเท่านั้น ไม่สามารถนำหลักฐานใหม่มาพิจารณาได้ ส่วนพนักงานสอบสวนที่ทำคดีในสมัยนั้น จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนวินัย ตำรวจ 11 นาย ที่เคยถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด รวมถึงตำรวจชุดใหม่ อีก 3-4 นาย ที่ต้องมาตรวจสอบความผิดทางวินัยใหม่อีกครั้ง

นอกจากนี้ พล.ต.ท.จารุวรรณ ได้ระบุเพิ่มเติมอีกว่า การทำงานครั้งนี้จะไม่เป็นการฟอกขาว แต่จะตรวจสอบไปตามข้อเท็จจริงตามความบกพร่องที่พบโดยไม่สนในตำแหน่งใด

ทั้งนี้ทาง ผบ.ตร. พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ได้สั่งให้เนินคดีในกรณีสารเสพติด และคดีขับรถเร็ว ซึ่งจะมีการทำคดีตามขั้นตอน