ส่งออก มิ.ย.ทรุดหนักต่ำสุดรอบ 131 เดือน สรท.หวั่นจุดต่ำสุดไตรมาส 3

ส่งออก มิ.ย.ทรุดหนักต่ำสุดรอบ 131 เดือน สรท.หวั่นจุดต่ำสุดไตรมาส 3

“พาณิชย์” เผยส่งออก มิ.ย.ติดลบหนัก 23.17% ต่ำสุดรอบ 131 เดือน ติดลบทุกตลาดยกเว้นสหรัฐ-จีน คาดทั้งปีติดลบทะลุ 8% สรท.ห่วงไตรมาส 3 ยังลุ้นเหนื่อย

การส่งออกเดือน มิ.ย.2563 ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยมีมูลค่าการส่งออก 16,444 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง 23.17% ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 14,833 ล้านเดอลลาร์ ลดลง 18.05% เกินดุลการค้า 1,610 ล้านดอลลาร์

ส่วนช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.) การส่งออกมีมูลค่า 114,343 ล้านดอลลาร์ ลดลง 7.09% การนำเข้ามีมูลค่า 103,642 ล้านดอลลาร์ ลดลง 12.62% เกินดุลการค้า 10,701 ล้านดอลลาร์

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ลดลงมากที่สุดในรอบ 131 เดือน นับจากเดือน ก.ค.2552 โดยปัจจัยที่ทำให้การส่งออกลดลงยังคงเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กดดันการค้าโลก และกระทบต่อการส่งออกของหลายประเทศ รวมทั้งไทย และยังมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดรอบ 2 อาจทำให้เกิดการล็อกดาวน์อีกครั้ง ปัจจัยดังกล่าวจะกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ 

รวมทั้งได้รับปัจจัยลบจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน และความขัดแย้งระหว่างจีนกับอินเดียที่ส่งผลต่อนโยบายการค้าและเศรษฐกิจโลก ในขณะที่ราคาน้ำมันยังทรงตัวต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนส่งผลให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันยังคงส่งออกลดลง และค่าเงินบาทแข็งค่าส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า การส่งออกของไทยยังทำได้ดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาคนี้ที่มีแนวโน้มชะลอตัว โดยส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากมาตราการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด -19 ซึ่งไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและจากนี้ไปก็น่าจะเริ่มฟื้นตัวจากการที่หลายประเทศมีมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จะไม่ฟื้นตัวเร็วมากนัก

“ประเมินว่าการส่งออกของไทยน่าจะติดลบมากว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ติดลบ 6 % โดยน่าจะติดลบ 8% ถึงลบ 9% ซึ่งหากส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 18,000 ล้านดอลลาร์ การส่งออกจะติดลบ 8% ภายใต้สมมติฐานที่ค่าเงินบาทอยู่ที่ 31.50-32.50 บาทต่อดอลลาร์ ราคาน้ำมันอยู่ที่ 30-40 บาทต่อดอลลาร์ แต่ถ้าส่งออกได้มากกว่านี้ การติดลบจะน้อยลง และหากจะให้การส่งออกเป็นบวกต้องส่งออกให้ได้เดือนละ 21,988 ล้านดอลล่าร์”

ตลาดสหรัฐพลิกกลับมาบวก

สำหรับการส่งออกรายตลาดในเดือน มิ.ย.2563 พบว่าในตลาดหลักมีเพียงสหรัฐและจีนที่เป็นบวก โดยตลาดสหรัฐกลับมาขยายตัว 14.5% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ตลาดจีนขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยขยายตัว 12.0% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้งฯ เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก ขณะที่ครึ่งแรกของปี 2563 ขยายตัว 5.8%

ไก่-ผักผลไม้ขยายตัวต่อเนื่อง

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในเดือน มิ.ย.2563 มีมูลค่า 2,912 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกับปีที่แล้วลดลง 9.9% โดยสินค้าอาหารยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดโลก และรักษาอัตราการขยายตัวของการส่งออกภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายในหลายประเทศ เนื่องจากสินค้าไทยมีมาตรฐานความปลอดภัย 

สินค้าอาหารที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารสัตว์เลี้ยง ผักและผลไม้สดแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขณะที่ไข่ไก่ขยายตัวในระดับสูงเป็นเดือนที่ 2 หลังจากส่งออกได้ตั้งแต่เดือน พ.ค.2563 รวมถึงสินค้าข้าวพรีเมียมยังขยายตัวได้ดีเช่นกัน เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้อง และข้าวขาว 100%

ส่วนสินค้าอาหารที่ยังหดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง โดยมีสาเหตุมาจากปัญหาด้านอุปทานที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และโรคใบด่างมันสำปะหลัง ทำให้ไทยมีปริมาณการส่งออกลดลง

สินค้าอุตสาหกรรมติดลบ25%

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย.2563 มีมูลค่า 13,085 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง 25.1% โดยสินค้าที่ขยายตัวเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (โซลาร์เซลล์)

รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาดที่ขยายตัวอยู่ในระดับสูง เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ถุงมือยาง

ในขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลักยังคงหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในหลายประเทศ ซึ่งมีกำลังซื้อลดลง ได้แก่ รถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ที่หดตัวต่อเนื่อง เพราะผู้บริโภคต่างประเทศเน้นบริโภคสินค้าจำเป็นมากกว่าสินค้าฟุ่มเฟือยที่ราคาสูง

ส่วนการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปยังหดตัวตามความต้องการใช้น้ำมันที่การฟื้นตัวจำกัด และราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันหดตัวตามทิศทางน้ำมันและภาวะเศรษฐกิจโลก เช่น เม็ดพลาสติก

สรท.ห่วงไตรมาส3ยังลุ้นเหนื่อย

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ไม่น่าตกใจที่มูลค่าการส่งออกเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ติดลบ 23.17% เพราะการส่งออกยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการระบาดเพิ่มขึ้นมากในสหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู)

ทั้งนี้ มองว่าการส่งออกไทยน่าจะต่ำสุดในช่วงไตรมาส 3 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูร้อนที่เป็นวันหยุดพักผ่อนในประเทศแถบยุโรปและสหรัฐ ซึ่งคาดว่าการส่งออกจะกลับมาฟื้นตัวในช่วงเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งเป็นช่วงการสั่งซื้อสินค้าเพื่อเตรียมรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกที่ยังมีโอกาสส่งออกได้มากขึ้น ยังเป็นสินค้าในกลุ่มอาหารเป็นหลัก