'ประภัตร'แนะเร่งปรับปรุงพันธุ์ข้าวทวงคืนแชมป์ส่งออก

'ประภัตร'แนะเร่งปรับปรุงพันธุ์ข้าวทวงคืนแชมป์ส่งออก

 ประภัตร ชี้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นหลัง UN กังวลความมั่นคงทางด้านอาหารจากภัยโควิด เร่งพัฒนาพันธุ์สอดรับความต้องการตลาด จับมือทุกภาคส่วนทวงแชมป์คุณภาพและปริมาณการส่งออกโลก

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันการส่งออกข้าวของไทยให้เข้มแข็งขึ้น นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้กระทรวงเกษตรฯเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด ดังนั้นกรมการข้าวจึงจัดให้มีการประกวดผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวขึ้น เพื่อนำมาต่อยอดใช้เป็นเมล็ดพันธุ์คุณภาพต่อไป และจะมีการจัดประกวดทุกปีเพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรพัฒนาและรักษาเมล็ดพันธุ์เอาไว้

ทั้งนี้ไทยมีพันธุ์ข้าวที่หลากหลายมาก แต่มีการนำมาปลูกเพียง 10 สายพันธุ์เท่านั้น อีกทั้งที่ผ่านมาคุณภาพข้าวของไทยลดลงตามลำดับ ทั้งความหอม และผลผลิตต่อไร่ ประกอบกับคู่แข่ง เช่น อินเดีย กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม จีนได้ปรับปรุงพันธุ์ จนเป็นที่ยอมรับของตลาด ก้าวเป็นผู้ส่งออกหลักของโลก ทำให้ไทยต้องเร่งปรับปรุงทุกกระบวนการผลิต โดยทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน กรมการข้าวเป็นส่งเสริมการผลิต ปรับปรุงพันธุ์ ภาคเอกชน ต้องหาข้อมูลการตลาดซึ่งเบื้องต้นระบุว่าต้องการข้าวพื้นนุ่ม ในขณะที่สถาบันการศึกษา ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัยต่างๆ ด้วย เพื่อผลักดันให้ไทยทวงแชมป์การส่งออกข้าวอันดับ1 ให้ได้

“ ความหอมของข้าวที่จางลง เพราะเมล็ดพันธุ์ไม่ดี เปอร์เซ็นต์งอกก็ต่ำ ทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง เราต้องพัฒนา ให้ดีขึ้น กรมการข้าว ต้องคิดค้นเมล็ดพันธุ์ ปรับปรุงพันธุ์ และผลิตเมล็ดพันธุ์ให้มากที่สุดจากความต้องการทั้งประเทศ 1 ล้านตัน การผลิตยังอยู่ในหลัก 1 แสนตันเท่านั้น และการผลิตเมล็ดพันธุ์ต้องฟังตลาดด้วยว่าต้องการข้าวนุ่ม ที่เรามีไม่พอเราต้องเร่งอีกผลิตอีก ทางเอกชน มหาวิทยาลัยก็ต้องร่วมมือกัน”

สำหรับความกังวลเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหารขององค์กรสหประชาชาติ (UN) หลังการระบาดของโรคโควิดนั้น คาดว่าจะส่งผลให้ราคาข้าวในปีนี้ปรับตัวสูงขึ้น จึงเป็นโอกาสของเกษตรกรไทย โดยขณะนี้ได้เริ่มปลูกข้าวไปแล้วยกเว้นภาคใต้ แต่ระยะนี้ยังมีปัญหาฝนทิ้งช่วง เกษตรกรต้องประคับประคอง สูบน้ำบรรเทาไปก่อน โดยกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าจะมีฝนตกอีกครั้งในเดือนหน้า ซึ่งภาพรวมแล้วผลผลิตข้าวในปีนี้จะเป็นไปตามที่คาดไว้ อย่างน้อย 25 ล้านตันข้าวเปลือก

 

นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้จะช่วยเพิ่มแนวคิดมุมมองทางด้านกำลังการผลิต ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ๆให้กับงานวิจัยทางด้านข้าว เปิดโอกาสให้เกษตรกร นักปรับปรุงพันธุ์ และผู้ที่สนใจ สามารถส่งพันธุ์ข้าวเข้าประกวด ซึ่งพันธุ์ข้าวที่ได้รับการคัดเลือก จะนำไปต่อยอดสู่การขยายเชิงการค้า เป็นข้อมูลการวางแผนออกติดตาม และสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อประเมินผลที่มีความโดดเด่นทั้งด้านคุณภาพและปริมาณการผลิตสูงมากขึ้นต่อไป

สำหรับการจัดงานประกวดข้าว​ในครั้งนี้​ มีผู้ส่งตัวอย่างข้าวเข้าประกวดจำนวน 131 ตัวอย่าง​ โดยคณะกรรมการได้ทำการคัดเลือกตัดสินผู้ชนะทั้ง​ 5​ ประเภท​ ได้แก่ ผู้ชนะเลิศประเภทข้าวหอมมะลิไทย (พันธุ์ข้าว ขาวดอกมะลิ105)​ นายพศิน​ ตรงใจ​ อำเภอเมือง​ จังหวัดสุรินทร์ ผู้ชนะเลิศประเภทข้าวหอมไทย (พันธุ์ข้าว PTT13036-5-1-1-1-6)​ ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี​ อำเภอธัญบุรี​ จังหวัดปทุมธานี​ ผู้ชนะเลิศประเภทข้าวขาวพื้นนุ่ม (พันธุ์ข้าว พิษณุโลก​80​) สหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ​ จำกัด​ อำเภอพิชัย​ จังหวัดอุตรดิตถ์​ ผู้ชนะเลิศประเภท​ข้าวขาวพื้นแข็ง (พันธุ์ข้าว​ 20RJP-2) บริษัท​ รวมใจพัฒนา​ความรู้​ จำกัด​ อำเภอคลองหลวง​ จังหวัดปทุมธานี​ และ ผู้ชนะเลิศประเภทข้าวเหนียว​ (พันธุ์ข้าว​ กข6) นางทองใส​ คำเจริญ​ อำเภอเมืองร้อยเอ็ด​ จังหวัดร้อยเอ็ด

ทั้งนี้  กรมการข้าวมีแนวทางในการจัดประกวดข้าวเพื่อรองรับและส่งเสริมการส่งออกของตลาดข้าวโลกในทุกๆปี เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรไทยได้พัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสามารถรักษามาตรฐานการส่งออกข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับโลก