เร่งวางแผน 'การเงิน' รับมือ 'โควิด-19' วิกฤติที่ยังไม่จบง่ายๆ

เร่งวางแผน 'การเงิน' รับมือ 'โควิด-19' วิกฤติที่ยังไม่จบง่ายๆ

"โควิด-19" ส่อแววระบาดระลอก 2 ทั้งในและต่างประเทศ เปิดวิธีเตรียม "เงิน" พร้อมรับมืออุบัติเหตุทางการเงินที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

สถานการณ์การการระบาดของ "โควิด-19" ที่มีแนวโน้มระบาดระลอก 2 ทั้งในและต่างประเทศ ส่อแวววิกฤติ เป็นสัญญาณที่ย้ำเตือนว่านอกจากปัญหาสุขภาพแล้ว สิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในช่วงนี้และช่วงที่ผ่านมา คือ "การเงินส่วนบุคคล" ที่จำเป็นต้องวางแผนอย่างรัดกุม และอาจต้องปรับพฤติกรรมการใช้ "เงิน" ให้รอบคอบยิ่งขึ้นในระยะยาว

หลังจากการมาตรการช่วยเหลือต่างๆ สิ้นสุดลง จะเริ่มทำให้เห็นภาพผลกระทบที่ชัดเจนขึ้น เนื่องจากทุกคนจะต้องดำเนินชีวิตท่ามกลางโรคที่ระบาดยังไม่สิ้นสุด ธุรกิจที่ทำได้แบบครึ่งๆ กลางๆ ที่อยู่ท่ามกลางเศรษฐกิจที่หดตัว ไม่เอื้อต่อการพัฒนาในมิติใดๆ

นอกจากความช่วยเหลือจากภายนอก ท้ายที่สุดแล้ว "การเงิน" และ "การวางแผนส่วนบุคคล" เป็นเรื่องสำคัญที่จะสามารถช่วยป้องกันโอกาสเจอวิกฤติการเงินส่วนบุคคล ที่ยากจะหาคนช่วยเหลือเมื่อเหตุการณ์เหล่านั้นมาถึง 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

  

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวมวิธีการจัดการเงินในกระเป๋าช่วงวิกฤติ ที่ส่งผลดีทั้งระยะสั้นและระยะยาว 4 เรื่อง ที่ต้องให้ความสำคัญ ดังนี้

159496113230

  •  สำรวจทรัพย์สิน และหนี้สิน 

สองจุดสำคัญทาง "การเงิน" ที่ทุกคนต้องรู้ และต้องหมั่นสำรวจตัวเองอยู่เสมอ คือ "ทรัพย์สิน" และ "หนี้สิน" ที่มีอยู่ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการบริหารให้เหมาะสม

- "ทรัพย์สิน" คือสิ่งต่างๆ ที่มีมูลค่า ทั้งที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง ที่มีโอกาสนำมาเปลี่ยนเป็นสภาพคล่องที่สามารถนำมาใช้ได้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น เงินฝาก พันธบัตร หุ้น หรือกองทุนรวม ฯลฯ ว่ามีอยู่มากน้อยแค่ไหน ส่วนไหนสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดในเวลาจำเป็นได้บ้าง

- "หนี้สิน" สำหรับคนที่ไม่มีหนี้สินในช่วงนี้ถือว่าเป็นลาภอันประเสริฐ แต่สำหรับคนที่มีหนี้อยู่ในเวลานี้ ต้องสำรวจว่า ณ เวลานี้ มีภาระหนี้อยู่เท่าไรในแต่ละเดือน เช่น หนี้ค่าผ่อนบ้าน หนี้ค่าผ่อนรถ หนี้ค่าผ่อนสินค้าจากบัตรเครดิต ค่าเบี้ยประกันที่จำเป็นต้องชำระอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน ฯลฯ ซึ่งการใช้จ่ายตายตัวเหล่านี้จำเป็นต้องชำระอย่างต่อเนื่องเพื่อให้รักษาสถานะลูกหนี้ชั้นดีไว้ให้ได้

นอกจากนี้ต้องรวบรวมค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และค่าใช้จ่ายรายเดือน ที่ผันแปรไปตามการใช้ชีวิต อย่าง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเสื้อผ้า หรือแม้กระทั่งค่ารักษาพยาบาล

การรวบรวมสินทรัพย์ที่มีทั้งหมด และหนี้สิน ให้เห็นภาพรวมอย่างชัดเจน ทำให้สามารถวางแผนในการใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเป็นประจำ หรือลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง เพื่อสร้างบาลานซ์ระหว่างรายได้และรายจ่ายให้สามารถชำระหนี้สินต่างๆ ไปได้ หากต้องเผชิญสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการเงิน

159496159171

  •  ทำรายรับรายจ่าย

ไม่ว่า "โควิด-19" จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของเราหรือไม่ แต่วิธีการ "ทำรายรับรายจ่าย" เป็นเรื่องสำคัญที่ควรทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่วิกฤติยังยืดเยื้อเช่นนี้

การทำรายรับรายจ่าย สามารถทำได้หลากหลายวิธีทั้งวิธีการสุดคลาสสิก อย่างการทำตารางจดลงกระดาษ หรือจะใช้วิธีบันทึกไว้ในโทรศัพท์มือถือ หรือใช้แอพพลิเคชั่นที่มีฟีเจอร์การเก็บเงินต่างๆ โทรศัพท์มือถือช่วยจัดการ หรือแม้แต่การติดตามการใช้จ่ายผ่าน E-Banking หรือบัตรเครดิตที่ทำให้สามารถติดตามพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ชัดเจน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

ไม่ว่าจะทำด้วยวิธีไหน หัวใจของการทำรายรับรายจ่ายก็คือทำให้เห็น "ความจริง" ของการใช้จ่ายของตัวเอง ที่นอกจากจะรู้ว่าเงินถูกใช้ไปไหนบ้าง แล้วยังสามารถช่วยให้วิเคราะห์ในภายหลังว่า อะไรคือ Need (ความจำเป็น) และอะไรเป็นเพียง​ Want (ความต้องการ) ที่ช่วยให้สามารถตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกได้เมื่อถึงเวลาคับขันได้ง่ายกว่า

159496161917

  •  วางแผนการใช้เงินอย่างรัดกุม 

สิ่งสำคัญที่ต้องตามมากับการทำรายรับรายจ่าย ณ เวลาปัจจุบัน คือการ "วางแผนการใช้เงิน" ให้ชัดเจน หรือ "จำกัดการใช้เงิน" เพื่อเป็นกรอบในการใช้จ่าย เช่น ตั้งงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันให้ชัดเจนใน 1 สัปดาห์ เช่น สัปดาห์ละ 1,000 บาท เพื่อจำกัดการใช้จ่ายไม่ให้กระทบกับเงินในการชำระหนี้อื่นๆ 

ขณะเดียวกัน นี่เป็นเวลาที่ควร "รัดเข็มขัด" ด้วยการ "ลดการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย" ใช้เงินอย่างระมัดระวัง รักษาสภาพคล่องของตัวเองให้ได้มากที่สุด เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับทุกวิกฤติที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

นอกจากนี้ สำหรับคนที่กำลังจะซื้อของใหญ่ที่มีภาระหนี้ตามมาในระยะยาว อาทิ บ้าน รถยนต์ จำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบเนื่องจากการสร้างรายจ่ายถาวรในสภาวะที่รายได้ไม่ถาวร หรือรายรับสั่นคลอนเป็นเรื่องที่อันตราย หากยังไม่พร้อม

159496126190

  •  หาทางเพิ่มสภาพคล่อง  

เมื่อรู้ตัวว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกำลังจะกระทบกับเรา ไม่ว่าจะรู้ช้า หรือรู้เร็ว ท้ายที่สุดสิ่งที่ต้องทำคือการยอมรับ และปรับมุมมองกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อหาทางออก

เมื่อเงิน "ช็อต" การเติม "สภาพคล่อง" ด้วยการ "หารายได้เพิ่ม" จึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วย ที่ทำให้สามารถประคับประคองให้ผ่านสถานการณ์วิกฤติไปได้ ซึ่งอาจเป็นการต่อยอดจากทักษะเดิมที่ตัวเองมี หรือหาวิธีการสร้างรายได้ใหม่ๆ ที่ไม่ต้องลงทุนด้วยเงิน หรือสามารถใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่แล้วได้ เช่น การถ่ายภาพขายในเว็บไซต์ขายภาพต่างๆ ด้วยโทรศัพท์มือถือหรือกล้อง การเขียนบล็อก E-book หรือนิยายออนไลน์ในแพลตฟอร์ม หรือการสมัครเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าออนไลน์แบบไม่ต้องสต๊อกสินค้า เป็นต้น 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

อุบัติเหตุทางการเงิน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เช่นเดียวกับอุบัติเหตุทางร่างกาย ซึ่งแน่นอนว่าผู้ที่วางแผนทำประกันไว้ล่วงหน้าย่อมเดือดร้อนน้อยกว่าเมื่อประสบปัญหาเดียวกัน เปรียบได้กับผู้ที่วางแผนการเงินไว้อย่างรัดกุมย่อมได้รับผลกระทบน้อยกว่าเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินทางการเงินอย่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 

อย่างไรก็ตาม คนที่ไม่มีแผนทางการเงินมาก่อนหน้านี้ เมื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ผ่านพ้นไปได้แล้ว ระหว่างนี้จะต้องเริ่มวางแผนการเงินสำรองในสถานการณ์ฉุกเฉินในอนาคตอย่างเข้มข้น เพื่อเตรียมรับมือกับทุกสถานการณ์