นักลงทุน 'ฝากความหวัง' ฟื้นเศรษฐกิจในบ้าน

นักลงทุน 'ฝากความหวัง' ฟื้นเศรษฐกิจในบ้าน

'2 กูรู' ตลาดทุนเผย 3 เดือนข้างหน้า 'ความเชื่อมั่นนักลงทุน' ฟื้น ! บนคาดหวังการเติบโตเศรษฐกิจในบ้านมากสุด พร้อมเปิดรายชื่อ '5 หุ้นเด่น' น่าเก็บเข้าพอร์ต เน้นเทน้ำหนักบริษัทเติบโตจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่และบริโภคภายในประเทศ ขณะที่ 'ทองคำ' พุ่ง

ผ่าน 6 เดือนแรกของปี 2563 ด้วยบรรยากาศการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) 'ผันผวนหนัก' หลังเศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะ 'ถดถอย' (Recession) โดนผลกระทบ สะท้อนผ่านดัชนี SET INDEX ปรับตัวขึ้น 'จุดสูงสุด' (New High) อยู่ที่ 1,600.48 จุด (17 ม.ค. 2563) และ 'ต่ำสุด' (New Low) อยู่ที่ 969.08 จุด (13 มี.ค.2563) 

ทว่า '2 กูรู' ตลาดทุน สำรวจความคิดเห็นต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน นักวิเคราะห์ และ ผู้จัดการกองทุนในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (ก.ค.-ก.ย.2563) มีมุมมองต่อการลงทุนเฉกเช่นไร ! 

'ไพบูลย์ นลินทรางกูร' ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เล่าให้ฟังว่า ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ก.ย.2563) อยู่ในเกณฑ์ 'ทรงตัว' (ช่วงค่าดัชนี 80–119) โดยเพิ่มขึ้น 4% มาอยู่ที่ระดับ 19 โดยนักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือนโยบายภาครัฐ และการไหลเข้าออกของเงินทุน

แต่อย่างไรก็ตาม 'ความกังวล' (Panic) ต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 2 ปี 2563 เป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือการไหลเข้าออกของเงินทุน และนโยบายทางการเงินจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รวมถึงยังคงกังวลกับการระบาดรอบสองของโควิด-19 

สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ต้องติดตาม เขาบอกว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากความขัดแย้งระหว่างประเทศต่าง ๆ อาทิ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ความขัดแย้งบริเวณชายแดนจีน-อินเดีย การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตามได้แก่ ผลกระทบของโควิดต่อเศรษฐกิจ การผ่อนคลายการล็อคดาวน์ และมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ ทั้งมาตรการด้านการคลัง มาตรการด้านสินเชื่อ และมาตรการด้านการเงิน

สำหรับหมวดธุรกิจที่ 'น่าสนใจมากสุด' คือ 'กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม' (FOOD) ส่วนหมวดธุรกิจที่ 'ไม่น่าสนใจมากสุด' คือ กลุ่มธนาคาร (BANK) ซึ่งปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ โดยปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน

โดยผลสำรวจรายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติปรับขึ้นมาอยู่ในระดับ 'ร้อนแรง' ในขณะที่กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และสถาบันในประเทศอยู่ในระดับ 'ทรงตัว' ยกเว้นกลุ่มนักลงทุนบุคคลที่ปรับตัวลงอยู่ในระดับ 'ซบเซา'

ประเมินว่าเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยในปี 2563 จะอยู่ที่ระดับ 1,400-1,450 จุด ส่วนทิศทางของกระแสเงินทุนต่างชาติ (Fund Flow) มองว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ยังไม่มีปัจจัยบวกมากพอที่จะทำให้กระแสเงินทุนไหลเข้ามามามาก ซึ่งในช่วงไตรมาส 3 ยังเร็วเกินไปที่จะไหลกลับเข้ามายังตลาดหุ้นไทย เพราะนักลงทุนยังไม่เชื่อมั่นต่อการคลายล็อคมาตรการต่างๆ ว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีแค่ไหน

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมิ.ย.2563 ดัชนี SET Index ปรับตัว 'ลดลงเล็กน้อย' จากเดือนพ.ค. โดยช่วงครึ่งเดือนแรกดัชนีเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1,341.99-1,438.66 จุด หลังจากได้รับแนวโน้มการผ่อนคลาย Lockdown ระยะที่ 4 รวมถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว วงเงินรวม 22,400 ล้านบาท 

จากนั้นดัชนีปรับตัวลงเล็กน้อยหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 ติดลบ 8.1% และประกาศให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล อีกทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศห้ามธนาคารจ่ายเงินปันผล โดย ณ สิ้นเดือนมิ.ย.2563 SET index ปิดที่ 1,339.03 จุด

'สมบัติ นราวุฒิชัย' เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เล่าให้ฟังว่า ผลสำรวจนักวิเคราะห์ และผู้จัดการกองทุนคาดว่า ดัชนีราคาหุ้นไทย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,347 จุด สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการขับเคลื่อนตลาดไตรมาส 3 ปี 2563 นั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 รวมถึง 'ความเสี่ยง' ของการเกิด Second Wave เป็นปัจจัยลำดับแรกที่มีอิทธิพลต่อทิศทางราคาหุ้นไทยระยะสั้น รองลงมาคือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และผลประกอบการ ตามลำดับ

โดยสมมติฐานด้าน 'ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP' ในปีนี้ มีค่าเฉลี่ยการขยายตัวที่ ติดลบ 7.21% ส่วนสมมติฐาน GDP ปี 2564 นั้น มองว่าเป็นบวกเฉลี่ยอยู่ที่ 4.24% ทางด้านราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยของปีนี้อยู่ที่ 41.13 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

สำหรับ 'ปัจจัยบวก' ต่อดัชนีราคาหุ้นไทยครึ่งหลังของปี 2563 ได้แก่ มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของประเทศสำคัญทั่วโลก รวมทั้งคาดว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา (FED) และคาดว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศจะส่งผลบวก 

ส่วน 'ปัจจัยลบ' ต่อตลาดทุนไทยในครึ่งหลังของปีนี้ ได้แก่ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจต่างประเทศทั้ง อเมริกา ยุโรป เอเชีย รองลงมา คือปัจจัยด้านผลประกอบการของบจ. และสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เป็นปัจจัยที่มีเสียงโหวต 80% ขึ้นไป และเศรษฐกิจภายในประเทศ 75% ตามลำดับ 

ขณะที่ '5 หุ้นเด่น' ที่นักวิเคราะห์แนะนำโดยมีจำนวนสำนักวิเคราะห์แนะนำตรงกันประกอบด้วย 1.หุ้น แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC โดยมีปัจจัยบวก 3 ปัจจัยคือ บริษัทมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งทำให้ยังสามารถจ่ายปันผลได้อย่างต่อเนื่องโดยปัจจุบันเงินปันผลอยู่ที่ระดับ 3-4% การเพิ่มขึ้นของการใช้งานบริการอินเตอร์เน็ต WiFi ในช่วงไวรัส COVID-19 ระบาด เพิ่มขึ้นมากถึง 41.5% หลังหลายธุรกิจให้พนักงาน Work From Home และเป็นหุ้นใหญ่ที่ยังมีการปรับตัวขึ้นไปไม่มากในช่วงที่ผ่านมา  ADVANC มีการปรับตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ราคา 156.50 บาท มาทรงตัวอยู่ที่ระดับราคา 185.00 บาท

2.หุ้น ช.การช่าง หรือ CK มีประเด็นสนับสนุนจาก ภาพรวมการก่อสร้างในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 มีการชะลอการประมูลโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ออกไปหลายโครงการเนื่องจากการแพร่กระจายของไวรัส COVID-19 แต่หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ภายในประเทศ เริ่มลดลงจนกระทั่งเป็น 0 รายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาครัฐเริ่มมีการกลับมาเปิดประมูลโครงการใหญ่ๆ หลายโครงการ

ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.1 แสนล้านบาท ,โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) มูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาท และ ยังมีโครงการรอการเปิดประมูลงานเดินรถของรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ราษฎร์บูรณะ-คลองบางไผ่) รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม) เป็นมูลค่างานก่อสร้าง 9.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่งผลบวกต่อหุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง

3.หุ้น ซีพี ออลล์ หรือ CPALL โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเป็นผู้นำร้านค้าสะดวกซื้อซึ่งจะฟื้นตัวได้ดีที่สุด และได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศ ผสานกับการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง จะกลับมาหนุนกำไรปีหน้าโต 2 หลัก +14%

4.หุ้น เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF โดยมีปัจจัยหนุนจากราคาเนื้อสัตว์สูงจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น ชดเชยเงินบาทแข็งได้

และ 5. หุ้น อินทัช โฮลดิ้งส์ หรือ INTUCH โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปันผลสูงและกระแสเงินสดมั่นคง

+++++++++++++++

ทองคำ 'รีเทิร์น' พุ่ง ! 

'ฐิภา นววัฒนทรัพย์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) เล่าให้ฟังว่า 'ราคาทองคำ' ทั้งในตลาดโลกและในประเทศปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2563 ราคาปรับขึ้นไปอยู่ระดับสูงสุดของปีนี้ที่ 1,818 ดอลลาร์ต่อออนซ์  ซึ่งถือว่าปรับขึ้นมาจากต้นปีแล้วเกือบ 20% โดยราคานี้ถือเป็นราคาที่ปรับขึ้นมา 'สูงสุดในรอบเกือบ 9 ปี' เท่ากับระดับราคาในเดือน กันยายน ปี 2554 

โดยผ่านมาครึ่งปี 2563 'ผลตอบแทน' (รีเทิร์น) ขึ้นไปกว่า 20% ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับผลตอบแทนปีที่แล้วทั้งปีอยู่ที่ 10% และถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดเมื่อเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ จึงเป็นแรงจูงใจของนักลงทุน ยิ่งไปกว่านั้นผลตอบแทนในรูปของเงินบาทยังให้ผลตอบแทนถึง 20% ซึ่งถือว่าสูงกว่าทองคำในตลาดโลก ดังนั้นนักลงทุนจึงควรหันมาถือทองคำอย่างน้อย 5-10% ไว้ในพอร์ตการลงทุนเพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม ยังคงแนะจับตา '5 ปัจจัย' ที่มีผลต่อราคาทองคำ ประกอบด้วย ข้อ1.ความเสี่ยงจากการระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 ที่จะกดดันเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่อง ข้อ2. การผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารสหรัฐ (เฟด) ทั้งนโยบายการทำ QE แบบไม่จำกัดวงเงิน และการส่งสัญญาณดำเนินนโยบายดอกเบี้ยระดับต่ำที่ 0-0.25% ไปจนถึงปี 2565 ข้อ3. สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ข้อ4. ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งชายแดนจีน-อินเดีย สหรัฐ-อิหร่าน คาบสมุทรเกาหลี รวมถึงประเด็นการเลือกตั้งสหรัฐ และ ข้อ5. กองทุนทองคำขนาดใหญ่ SPDR -ธนาคารกลางต่างๆ ถือครองทองคำเพิ่มขึ้น

'ทั้ง 5 ปัจจัยนี้ถือว่าเป็นปัจจัยที่หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นได้ ในส่วนของปัจจัยเรื่องโควิด–19 หากสามารถควบคุมการระบาดได้อาจจะส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงเช่นกัน แต่ตราบใดที่ปัจจุบันนักลงทุนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การระบาดก็จะยังคงมองหาการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำต่อไป'

การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในขณะนี้  อาจทำให้นักลงทุนบางส่วนมีข้อจำกัดในด้านการลงทุน เพราะราคาที่สูงขึ้น ทำให้ต้องใช้เงินลงทุนในการลงทุนทองคำแท่งที่สูงขึ้นตาม อย่างไรก็ดี นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนทองคำผ่านตลาด TFEX ทั้งในแบบโกลด์ออนไลน์ฟิวเจอร์ส(Gold Online Futures) ที่เป็นการซื้อขายทองคำล่วงหน้าในรูปแบบดอลลาร์สหรัฐ 

ทำให้นักลงทุนไม่ต้องมีความกังวลด้านความเสี่ยงจากการผันผวนของค่าเงิน ส่วนนักลงทุนที่มีความคุ้นเคยในการลงทุนในรูปของเงินบาทนั้นก็สามารถลงทุนผ่านโกลด์ฟิวเจอร์ส(Gold Futures) ได้เช่นกัน 

สำหรับคำแนะนำการลงทุนในช่วงนี้ มองว่าราคาทองยังแกว่งตัวขึ้น  แต่ระยะสั้นแนะนำหาจังหวะขายทำกำไรช่วงราคา 1,818 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หากราคาผ่านได้ให้รอขายที่แนวต้านถัดไปที่ 1,831 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนแนวรับหากราคาทองคำปรับตัวลดลงให้ทยอยเข้าซื้อ 1,800-1,789 ดอลลาร์ต่อออนซ์  และแนวรับถัดไปที่ 1,777 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

อย่างไรก็ตามสำหรับนักลงทุนที่ลงทุนใน TFEX ควรตั้งจุดตัดขาดทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากราคาที่อาจผันผวนได้ โดยแนะนำตั้งจุดตัดขาดทุนสถานะซื้อหากราคาหลุด 1,789 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพื่อถอยจุดซื้อไปยังแนวรับถัดไป