สื่อนอกเผย 'ไทย' เล็งเปิดน่านฟ้ารับ 'ต่างชาติเงินหนา'

สื่อนอกเผย 'ไทย' เล็งเปิดน่านฟ้ารับ 'ต่างชาติเงินหนา'

สื่อต่างประเทศเผย ทางการไทยมีแผนเปิดน่านฟ้ารับ “เครื่องบินส่วนตัว” ของชาวต่างชาติเงินหนา เพื่อกระตุ้นภาคการเดินทาง หลังปลดล็อกให้ชาวต่างชาติบางกลุ่มเดินทางเข้าประเทศได้

เว็บไซต์บลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (3 ก.ค.) ว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยยกเลิกมาตรการห้ามนักเดินทางต่างชาติเกือบทั้งหมด โดยนักเดินทางที่เข้าประเทศได้ในการปลดล็อกเฟสแรก ส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติที่มีความสัมพันธ์หรือกิจจำเป็นในไทยโดยตรง เช่น กลุ่มที่มีธุรกิจ การลงทุนสำคัญ หรือมีครอบครัวในไทย

ขณะที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้เพิ่มเงื่อนไขในการอนุญาตชาวต่างชาติที่มี “กิจธุระพิเศษ” กับรัฐบาล ซึ่งไม่รวมถึงการมาเพื่อท่องเที่ยวด้วย

ก่อนหน้านี้ กพท.ประกาศคลายล็อกน่านฟ้า เปิดรับ “11 กลุ่มเดินทางเข้าไทย” พร้อมย้ำว่า ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขควบคุมโรคติดต่อ ผ่านคัดกรองและการจัดสถานที่ไว้กักกัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. เป็นต้นไป

บลูมเบิร์ก รายงานอ้างคำพูดของ นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ กพท. ที่ให้สัมภาษณ์เมื่อวันอังคาร (30 มิ.ย.) ว่า หลายคนในกลุ่มที่มีเงินหนาและรายได้สูง สามารถเลี่ยงผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของโควิด-19 แต่ก่อนหน้านี้เข้าไทยไม่ได้ เพราะติดข้อห้ามด้านการเดินทาง

“ผมได้คุยกับบรรดาผู้ประกอบการเครื่องบินส่วนตัว พวกเขาบอกว่า มีลูกค้าที่มีศักยภาพจำนวนมากที่กำลังหาเช่าเครื่องบินมาที่นี่”

159378410131
- จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) -

นายจุฬา เสริมว่า การเปิดรับกลุ่มที่มีกิจธุระพิเศษช่วยขยายตลาดรับ “กลุ่มที่มีเงินหนา” ซึ่งเอกสารของคนกลุ่มนี้จะได้รับการพิจารณาแบบ “ฟาสต์-แทร็ค” (fast-track) ที่กำหนดให้มีการอนุมัติเป็นรายบุคคล

อ่านข่าวเพิ่มเติม: ส่องแผน ไทย 'เปิดประเทศ' 3 เฟส ก่อนจะถึง 'Travel Bubble'

ด้าน ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กทางโทรศัพท์ว่า หลังจากนี้จะเห็นการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้นจากประเทศอื่น ๆ ที่พึ่งพาการท่องเที่ยว เพื่อแย่งชิงเซ็กเมนท์ที่มีความหรูหราสูง (ultra-luxury)

“อย่างไรก็ตาม นี่จะไม่ช่วยอะไรมากนักสำหรับผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็กหลายรายในไทย เพราะไม่มากพอที่จะชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปทั้งหมด”