'นิรุต' ลุยแผนเพิ่มรายได้รฟท.ดันรถไฟทางคู่-บริหารที่ดิน

 'นิรุต' ลุยแผนเพิ่มรายได้รฟท.ดันรถไฟทางคู่-บริหารที่ดิน

“นิรุต” เปิด 3 แผนเพิ่มรายได้ ร.ฟ.ท.ดันประมูลรถไฟทางคู่ ปลายปีนี้เข็น 2 สายใหม่ เด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ และบ้านไผ่ – นครพนม พร้อมเขย่าสัญญาเช่าที่ดินปรับโครงสร้างราคา ลุยเปิด TOD สถานีรถไฟหัวเมือง

นายนิรุต มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงนโยบายและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน ร.ฟ.ท.ภายหลังเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าร.ฟ.ท.กว่า 2 เดือน ว่า ยุทธศาสตร์หลักที่จะนำมาขับเคลื่อน ร.ฟ.ท.กำหนดไว้ 3 ด้าน คือ 1.การเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางราง 2.การเพิ่มรายได้และการลดค่าใช้จ่าย และ 3.การขับเคลื่อนและการยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน

“เรื่องสำคัญของการขับเคลื่อนองค์กร แน่นอนว่าหากเรามองโอกาสในการเพิ่มรายได้ เรื่องที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอนคือการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มเครื่องมือในการบริการ ซึ่งขณะนี้ผมอยู่ระหว่างจัดทำแผนว่าการรถไฟฯ จะต้องเพิ่มอะไร และอย่างไรบ้าง”

โดยประเด็นสำคัญที่ ร.ฟ.ท.จะเร่งรัดดำเนินการ ในส่วนของแผนเพิ่มรายได้องค์กรนั้น เบื้องต้นประกอบไปด้วย 1.เพิ่มการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางราง อาทิ การผลักดันโครงการลงทุนรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ระบบรถไฟสายชานเมืองสายสีแดง และส่วนต่อขยาย โดย ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างผลักดันการประกวดราคา รถไฟทางคู่เส้นทางใหม่ 2 โครงการ คือ ช่วงเด่นชัย - เชียงราย – เชียงของ และช่วงบ้านไผ่ - นครพนม คาดว่าจะเปิดประมูลภายในปลายปีนี้

สำหรับปัจจุบันสายเด่นชัย - เชียงราย – เชียงของ อยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอพิจารณาสัญญาการประมูลโครงการ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 สัญญาตามมติ ครม.เดิม เนื่องจากก่อนหน้านี้ซุปเปอร์บอร์ด ได้มีความเห็นเรื่องการแบ่งสัญญา ทำให้ ร.ฟ.ท.ต้องนำกลับมาทบทวน แต่พบว่า 3 สัญญาเป็นแนวทางที่เหมาะสมแล้ว โดยขณะนี้ ร.ฟ.ท.ได้นำเสนอผลการศึกษาดังกล่าวให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเรียบร้อย ขณะที่สายบ้านไผ่ – นครพนม ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์)

159369019853

นายนิรุต กล่าวว่า นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.ยังคงแผนผลักดันการพัฒนารถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวม 7 เส้นทาง โดยมุมมองในฐานะผู้ว่า ร.ฟ.ท. เล็งเห็นว่าโอกาสของการพัฒนาทางคู่ ระยะที่ 2 ควรเร่งรัดในส่วนของเส้นทางที่ปัจจุบันยังเป็นทางเดี่ยวฟันหลอ หากพัฒนาจะกลายเป็นทางคู่ทั้งเส้นทาง เช่น สายปากน้ำโพ – เด่นชัย และขอนแก่น - หนองคาย เป็นต้น

2.การปรับปรุงโครงสร้างบริหารที่ดินของ ร.ฟ.ท.เพื่อสร้างให้เกิดรายได้และประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร โดยมีแนวทางจัดระเบียบผู้เช่าให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงแก้ไขปัญหาผู้บุกรุกที่ดิน โดยแผนการปรับปรุงโครงสร้างดังกล่าว เนื่องจากข้อมูลสัญญาเช่าที่ดินของ ร.ฟ.ท.พบว่ามีที่ดินรวมประมาณ 2 หมื่นไร่ แต่สร้างรายได้เข้าองค์กรเพียงปีละ 2 พันล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยมาก หากเทียบกับประสิทธิภาพที่ดินที่ส่วนใหญ่อยู่ในเมือง

และ 3.แผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟตามหัวเมือง (TOD) อาทิ สถานีรถไฟขอนแก่น และนครราชสีมา เป็นต้น เนื่องจากพบว่าสถานีรถไฟเหล่านี้ มีพื้นที่ใหญ่ มีศักยภาพในการพัฒนาเพื่อการพาณิชย์ และจะสร้างรายได้ธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก (Noncore Business) ให้กับองค์กรมากขึ้น อีกทั้งเพื่อผลักดันให้สถานีรถไฟกลายเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) กลางเมือง

นายนิรุต ยังกล่าวอีกว่า การพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ แปลงเอ ส่วนตัวมองว่ายังไม่ใช่ช่วงของการเร่งผลักดัน เนื่องจากตามแผนขณะนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ จะมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เกิดขึ้นจำนวนมาก เช่น สถานีมักกะสัน ดังนั้นต้องทบทวนความต้องการว่าเมื่อเร่งรัดประมูล หรือพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อแล้ว จะมีความต้องการของเอกชนเข้ามาลงทุนหรือไม่ ดังนั้นเรื่องนี้ยังไม่ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะดำเนินการ

ขณะที่ความคืบหน้าของคดีโฮปเวลล์ ล่าสุดศาลปกครองได้รับคำร้อง ตามที่ ร.ฟ.ท.ยื่นไปก่อนหน้านี้ เพื่อขอให้ศาลฯ ช่วยตรวจสอบในประเด็นบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนไม่ถูกต้อง ส่วนความคืบหน้าของโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง คาดว่าจะเปิดให้บริการไม่เกิน พ.ค.2564 ส่วนรูปแบบบริหารเดินรถ อยู่ระหว่างศึกษา คาดได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือนนี้