ก.ล.ต.ปรับเกณฑ์เสนอขาย IPO หวังใช้วิธีพิจารณาอนุญาตร่วม-การเปิดเผยข้อมูล

ก.ล.ต.ปรับเกณฑ์เสนอขาย IPO หวังใช้วิธีพิจารณาอนุญาตร่วม-การเปิดเผยข้อมูล

ก.ล.ต.กำหนดแนวทางในการกำกับดูแลการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน โดยใช้วิธีการพิจารณาอนุญาตตามความเหมาะสมและวิธีการเปิดเผยข้อมูลที่ให้ผู้ลงทุนตัดสินใจด้วยตนเอง เพื่อยกระดับคุณภาพบริษัทที่เสนอขาย IPO รวมถึงการคุ้มครองผู้ลงทุนให้ได้รับข้อมูลที่เพียงพอ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า การพิจารณาอนุญาตตามความเหมาะสมที่ใช้หลักการ (principle-based) ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ดุลยพินิจ เช่น โครงสร้างธุรกิจไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ระบบควบคุมภายในที่ดี คุณสมบัติของกรรมการและผู้บริหารไม่มีลักษณะต้องห้าม และจัดทำงบการเงินที่น่าเชื่อถือ นั้น ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2562 ก.ล.ต. ได้หารือแนวคิดเรื่องความร่วมมือระหว่างกันกับชมรมวาณิชธนกิจ ในการลดกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค ซึ่งได้รับทราบความเห็นและข้อเสนอแนะและมีความคืบหน้าในลำดับหนึ่ง

ในขณะนี้อยู่ระหว่างหารือร่วมกับชมรมวาณิชธนกิจ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อกำหนดแนวทางการพิจารณาและการปฏิบัติที่เป็นไปตามหลัก principle-based เพื่อให้ภาคเอกชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับเจตนารมณ์และสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง โดยคาดว่าจะเผยแพร่แนวทางดังกล่าวต่อไป

สำหรับการเปิดเผยข้อมูล เช่น ลักษณะการประกอบธุรกิจ ฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน แหล่งที่มารายได้ และปัจจัยความเสี่ยงในแบบแสดงรายการข้อมูลและหนังสือชี้ชวน ปัจจุบัน ก.ล.ต. ได้ส่งเสริมให้บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ปฏิบัติตามแนวนี้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถได้รับข้อมูลที่จำเป็นและเพียงพอสำหรับใช้ศึกษาและวิเคราะห์ เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของแต่ละบุคคล

ทั้งนี้ การอนุญาตให้บริษัทออกเสนอขายหุ้น IPO มิได้เป็นการรับประกันว่า บริษัทจะไม่มีความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ โดยผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ รวมถึงผลการดำเนินงานของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์และสภาวะตลาด

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่าภายหลังที่ได้รับหน้าที่ในเดือนพฤษภาคม 2562 ได้มีการประชุมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวาง และมีนโยบายที่ชัดเจน ในการลดอุปสรรคต่างๆ ลดกฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็น สนับสนุนการพัฒนาและนวัตกรรมต่างๆ รวมทั้งยกระดับการคุ้มครองผู้ลงทุน โดยเห็นว่ากฎเกณฑ์ของ ก.ล.ต. ต้องมีความยืดหยุ่น ไม่ปิดกั้น หรือเป็นอุปสรรคกับการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนโดยจะต้องทบทวนและปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้ทันสมัย เพื่อตอบโจทย์ของภาคธุรกิจและยังคงหลักการเรื่องการคุ้มครองให้เหมาะสมและสอดคล้องกับประเภทผู้ลงทุน ทั้งผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายย่อย เพื่อให้การทำงานของ ก.ล.ต. เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ให้แก่ภาคธุรกิจ อันจะช่วยส่งเสริมธุรกิจและความเชื่อมั่นในตลาดทุน