ธปท.ต่อยอดเงินดิจิทัล ดึง 'เอสซีจี' ร่วมทดสอบ

ธปท.ต่อยอดเงินดิจิทัล ดึง 'เอสซีจี' ร่วมทดสอบ

“แบงก์ชาติ” ขยายการพัฒนาเงินดิจิทัล “ซีบีดีซี” เตรียมทดสอบใช้กับภาคเอกชน ประเดิมโดย “ปูนซิเมนต์ไทย” ใช้ชำระเงินกับคู่ค้า เผยมี “ดิจิทัล เวนเจอร์ส” ร่วมทดสอบระบบ หวังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพชำระเงิน โดยเริ่มทดสอบก.ค.นี้ไปจนถึงสิ้นปี

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประกาศโครงการพัฒนาระบบต้นแบบการชำระเงินโดยใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) ร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งเป็นการต่อยอดการพัฒนาจากโครงการอินทนนท์ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และแนวทางในการเชื่อมต่อ CBDC กับนวัตกรรมที่พัฒนาโดยภาคเอกชน

ธปท. เห็นความสำคัญและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงินเพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันและความพร้อมของภาคธุรกิจที่เข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งโครงการนี้เป็นก้าวแรกที่สำคัญในการนำ CBDC ไปเชื่อมสู่ภาคธุรกิจที่มีขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่กว้างขึ้น ในการทดสอบ CBDC จะถูกเชื่อมต่อกับระบบการบริหารการจัดซื้อและการชำระเงินระหว่าง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG กับคู่ค้า (Suppliers) ในห่วงโซ่อุปทาน 

โดยมี บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นผู้พัฒนาระบบดังกล่าวร่วมทดสอบ ซึ่ง ธปท. คาดหวังว่าระบบต้นแบบการชำระเงินนี้จะรองรับนวัตกรรมทางการเงินของภาคธุรกิจที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการชำระเงิน เช่น มีความยืดหยุ่นในการโอนเงินมากขึ้น เพิ่มความเร็วและความคล่องตัวในการชำระเงินระหว่างกัน การทดสอบดังกล่าวจะเริ่มต้นในเดือน ก.ค.2563 และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2563 ซึ่ง ธปท. จะเผยแพร่ผลการทดสอบและแนวทางการดำเนินงานต่อไป

นอกจากนี้ โครงการอินทนนท์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ธปท. และสถาบันการเงิน 8 แห่ง ที่ร่วมกันศึกษาและทดสอบการใช้สกุลเงินดิจิทัลในการชำระเงินระหว่างธนาคาร (Wholesale CBDC) ได้ดำเนินการสำเร็จลุล่วงแล้ว รวมทั้งได้ทดสอบการโอนเงินระหว่างประเทศร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority: HKMA) เสร็จสิ้นในเดือนม.ค.2563 ปัจจุบัน ธปท. และ HKMA ร่วมกับสถาบันการเงินสมาชิก อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อขยายขอบเขตการทดสอบการโอนเงินระหว่างประเทศโดยใช้ CBDC ซึ่งจะมีการประกาศในรายละเอียดต่อไป

ธปท. เชื่อมั่นว่ากระบวนการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินร่วมกับภาคธุรกิจเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเตรียมเข้าสู่โลกดิจิทัลทางการเงินในอนาคต โดย ธปท. ยังคงเปิดกว้างสำหรับภาคธุรกิจที่สนใจร่วมพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในวงกว้างต่อไป