หลายชาติจ่อร่วม CPTPP ทางเลือกไทยต้องไร้ข้อกังขา

หลายชาติจ่อร่วม CPTPP ทางเลือกไทยต้องไร้ข้อกังขา

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ที่ได้รับแต่ตั้งเมื่อ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา ด้วยจำนวนคณะกรรมการ 49 คน จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กำลังหารืออย่างเข้มข้น

ขณะนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ที่ได้รับแต่ตั้งเมื่อ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา ด้วยจำนวนคณะกรรมการ 49 คน จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กำลังหารืออย่างเข้มข้น กำหนดให้มีการประชุมสัปดาห์ละ 2 วัน เพื่อให้ได้ข้อสรุปตามเงื่อนไขการกำหนดระยะเวลาพิจารณาศึกษาไว้ 30 วัน แต่ด้วยเนื้อหาจำนวนมาก ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็มาก และเงื่อนไขเวลาที่จำกัด จึงเป็นความท้าทายการทำงานของกรรมาธิการฯชุดนี้

“การจัดประชุมของ CPTPP Commission มีปีละ 1 ครั้ง โดยปี 2563 จะจัดขึ้นในวันที่ 5 ส.ค.นี้ หากปีนี้ไทยส่งในสมัครไม่ทันสามารถรอปีหน้าได้ แต่เบื้องต้น มีประเทศต่างๆแสดงความจำนงขอร่วมวงเจรจาด้วย ได้แก่อังกฤษ, จีน, เกาหลีใต้, อินโดนีเซีย”แหล่งข่าวจากกรรมาธิการกล่าว

ประเด็นความเห็นต่างเรื่องข้อตกลงนี้ กำลังเป็นเรื่องร้อนในสังคมไทยที่ต้องหาข้อเท็จจริง ก่อนพิจารณาทางเลือกให้กับอนาคตของประเทศ สำหรับCPTPP คือข้อตกลงที่เจรจาเสร็จสิ้น และมีผลบังคับใช้ไปแล้วสำหรับสมาชิกตั้งต้น ทั้ง 11 ประเทศ (ยกเว้น 5 ประเทศยังไม่ให้สัตยาบัน เช่น มาเลเซีย ) ดังนั้น สถานะของไทยคือ “คนวงนอก”ของข้อตกลงนี้ การจะเข้าไปร่วมวงเจรจา มีขั้นตอนต่างๆดังนี้

เริ่มต้นจากกระบวนการขอไปเจรจากับสมาชิกCPTPP ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 5 ขั้นตอนได้แก่ การศึกษาประโยชน์-ผลกระทบจากความตกลง การรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน การรวบรวมความเห็นและผลการศึกษา เมื่อได้ข้อมูลทั้ง 3 ขั้นตอนแรกนี้แล้ว ก็นำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อพิจารณาตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมการเจรจาหรือไม่ ยังไม่ใช่การเข้าเป็นสมาชิกเพราะฝ่ายสมาชิกของCPTPPก็มีขั้นตอนภายในอยู่เช่นกัน

159246531639 “ขณะนี้เราตั้งกรรมาธิการฯขึ้นมากรองเนื้อหาสาระและพิจารณาให้รอบด้านอีกขั้นหนึ่ง เมื่อผลการหารือชั้นนี้ได้ข้อสรุป ก็ส่งกลับไปให้ครม.พิจารณาชี้ขาด หากเลือกว่าจะร่วมเจรจาเราก็ต้องไปต่อกับอีกหลายขั้นตอนจากนี้”

หากไทยสนใจร่วมเจรจา ก็ต้องยื่นหนังสือขอเจรจาต่อนิวซีแลนด์ จากนั้น ก็จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการสมาชิก CPTPP หรือ CPTPP Commission พิจารณาและเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงาน CPTPP เพื่อเจรจากับไทย

เมื่อไทยได้ไฟเขียวจากสมาชิกฯให้เข้าร่วมเจรจาซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะหารือกันเรื่องข้อผูกพันและต่อรองข้อยกเว้นและความยืดหยุ่น รวมถึงระยะเวลาปรับตัวที่เหมาะสม จนได้ข้อสรุปเป็นผลการเจรจาที่ตกลงเห็นชอบกันของคณะเจรจาฯสองฝ่าน

จากนั้น นำผลการเจรจาไปเสนอต่อคณะทำงานCPTPP เพื่อเสนอต่อให้ CPTPP Commission หากเห็นชอบผลการเจรจาก็จะจบขั้นตอนนอกประเทศ เพื่อนำเรื่องกลับเข้ามาหารือภายในประเทศอีกครั้ง

โดยจะมีการนำผลการเจรจาเสนอต่อครม. หากเห็นชอบไม่ต้องแก้ไขอีก ก็ส่งต่อให้รัฐสภาพิจารณาผลการเจรจา เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนสำคัญคือการให้สัตยาบัน ทันทีที่รัฐสภาให้สัตยาบันข้อตกลงก็จะมีผลบังคับใช้ภายใต้บริบทการเป็นหนึ่งในสมาชิกCPTPP

“ตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นจนถึงก่อนการให้สัตยาบัน ถือว่ายังไม่มีผลผูกพันประเทศไทยให้ต้องปฎิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง จนกว่าไทยจะเจรจาให้ได้ข้อสรุปที่น่าพอใจ หรือหากหาข้อสรุปไม่ได้ก็ยกเลิกทุกอย่างและขอถอนตัวออกมาได้”

สำหรับข้อตกลงCPTPP มีขอบเขตทั้งหมด 30 ข้อบท มีสาระสำคัญภายใต้วัตถุประสงค์  ยกระดับมาตรฐานการครองชีพ ลดความยากจนและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน ยอมรับความแตกต่างในระดับการพัฒนาของเศรษฐกิจของภาคี(สมาชิก) ยอมรับสิทธิของภาคีในการออกกฎระเบียบเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะ ความสำคัญของการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและแรงงาน ส่งเสริมธรรมาภิบาลและหลักนิติธรรม 

ให้สมาชิกสามารถถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ได้ ให้มีการเปิดรับสมัครประเทศที่สนใจเข้าเป็นสมาชิกใหม่ ให้มีการทบทวนการดำเนินงานและการพิจารณาแก้ไขความตกลง CPTPP

นอกจากนี้ ให้ชะลอการใช้บังคับพันธกรณีบางเรื่อง จนกว่าภาคีจะตกลงให้นำกลับมามีผลใช้บังคับร่วมกันในเรื่องนั้นๆ อาทิ พิธีศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า ว่าด้วยการให้สมาชิกทบทวนมูลค่าสินค้าที่จะถูกจัดอยู่ในช่องทางเร่งด่วนในพิธีการศุลกากรเป็นระยะๆ

ด้านการลงทุน กำหนดให้นักลงทุนสามารถใช้กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน (ISDS) ฟ้องร้องรัฐภายใต้สัญญาการลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน, ด้านการค้าบริการ กำหนดให้ยกเลิกการอุดหนุนบริการจัดส่งด่วนโดยผู้ให้บริการไปรษณีย์แบบผูกขาด ,ด้านการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ คือการใช้ประเด็นคุ้มครองสิทธิแรงงานมาเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ

ด้านทรัพย์สินทางปัญญา  กำหนดการชดเชยระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรเพื่อชดเชยความล่าช้าในการจดทะเบียนสิทธิบัตรหรือการขึ้นทะเบียนตำหรับยา ,การคุ้มครองข้อมูลผลการทดสอบยา ,การอนุญาตให้จดสิทธิบัตร สิ่งประดิษฐ์ที่มีการปรับปรุงการใช้ใหม่ วิธีการใหม่ และขั้นตอนการใช้ใหม่ในผลิตภัณฑ์เดิม และสิ่งประดิษฐ์จากพืช ,การกำหนดระยะเวลาการคุ้มครองลิขสิทธิ์และสิทธิข้างเคียงเป็น 70 ปี  รวมถึงด้านความโปร่งใสและการต่อต้านคอรัปชั่น 

สาระสำคัญบางส่วนของข้อตกลงCPTPP มีหลายประเด็นที่ชวนให้กังวล สอดคล้องกับ ขั้นตอนต่างๆที่เป็นเหมือนตัวกรองว่าไทยก็ยังมีทางเลือกเพื่อทางรอดได้อีก