เกลี่ยงบ 'เลือกตั้งท้องถิ่น' หย่อนบัตรสนามแรกปีนี้

เกลี่ยงบ 'เลือกตั้งท้องถิ่น' หย่อนบัตรสนามแรกปีนี้

นายกฯสั่งเกลี่ยงบ จัดเลือกตั้งท้องถิ่น ยันประเดิมสนามแรก-หย่อนบัตรปีนี้ ด้าน “เพื่อไทย” อัดรัฐหวังแช่แข็ง ขณะที่สภาฯจ่อถกโอนงบ 8.8 หมื่นล้าน วาระ 2-3 พรุ่งนี้ สรุปโควตา 49 กมธ.วิสามัญติดตามตรวจสอบเงินกู้ ขณะที่ ป.ป.ช. ตั้งทีมเกาะติดเงินกู้ 4 แสนล้าน

ความคืบหน้าการจัดสรรงบเลือกตั้งท้องถิ่นหลังจากที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่างบประมาณที่จะใช้ในการเลือกตั้งท้องถิ่น (อปท.)ทั่วประเทศ ถูกนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาไวรัสโควิด-19 ส่งผลทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่น อาจต้องเลื่อนออกไปนั้น

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ถึงกรณีดังกล่าว วานนี้(15 มิ.ย.)ว่า ตนจะพิจารณาเอง ทั้งหมดขึ้นอยู่กับกฎหมาย และความพร้อมของกระทรวงมหาดไทย(มท.)และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถ้าเป็นไปได้จะมีการเลือกตั้งสักอย่างในปีนี้ ขอให้รอเวลาก่อน ส่วนจะเป็นพื้นที่พิเศษ อาทิ กทม.หรือไม่ ขอดูก่อน

ส่วนที่มีความเป็นห่วงงบประมาณการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นว่า อาจถูกโยกมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 จนไม่เพียงพอต่อการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น นายกฯ ระบุว่า เรื่องนี้ เดี๋ยวหาทางดูก่อน ว่าทำได้หรือไม่ ยืนยันว่า ตนจะทำให้เกิดขึ้นให้ได้ และประชาชนก็ต้องร่วมมือ

เช่นเดียวกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ก่อนเสนอมาที่รัฐบาลเพื่อให้พิจารณา ทั้งนี้ต้องรอ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง และประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากนั้นจะเป็นเรื่องของ กกต.และรัฐบาลที่จะต้องหารือ การกำหนดให้มีการเลือกตั้งเป็นอำนาจของ กกต.จึงต้องดูว่า มีความพร้อมอย่างไร ในภาพรวม

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกันคือ ก่อนสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ.2563 อปท.ทุกรูปแบบ จะต้องนำข้อบัญญัติงบประมาณ เพื่อเสนอรัฐบาล ส่วนใหญ่จะดำเนินการในเดือน ส.ค.หรือ ก.ย.ถ้าในช่วงนี้มีประกาศให้มีการเลือกตั้งผู้บริหาร อปท.ทุกรูปแบบ ก็จะสิ้นสภาพลง ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ คือจะเสนอข้อบัญญัติ หรือเทศบัญญัติงบประมาณไม่ได้ จึงต้องคำนึงถึงตรงนี้ด้วย

อัดรัฐแช่แข็งเลือกตั้งท้องถิ่น

ขณะที่ท่าทีจากพรรคเพื่อไทย นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) แถลงถึง ท่าทีของรัฐบาลที่อ้างว่า อาจจำเป็นต้องเลื่อนการเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะงบประมาณถูกโอนไปใช้แก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ว่า เป็นเจตนาที่ต้องการแช่แข็งท้องถิ่น แม้แต่ในรัฐธรรมนูญก็ไม่พบคำว่ากระจายอำนาจ สะท้อนถึงเจตนาของรัฐบาลที่ไม่ต้องการกระจายอำนาจหรือไม่

จึงต้องเรียกร้องไปยังรัฐบาลว่า จะให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งเป็นคำถามที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเองหรือไม่ ที่ไม่มีความพร้อม

“ขอตั้งข้อสังเกตด้วยว่า รัฐบาลไม่ต้องการให้มีประชาธิปไตยหรือไม่ เพราะหากมีประชาธิปไตยจะมีบางคนต้องประสบภัย เมื่อมีประชาธิปไตย รัฐบาลจะเกิดความเสียเปรียบ นี่จึงเป็นคำตอบว่า รัฐบาลยังต้องการเอาเปรียบ การอ้างเรื่องงบประมาณ จึงเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่มีเหตุผล” นายสุทิน กล่าว

ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ข้ออ้างเรื่องของการระบาดของไวรัสเป็นเพียงแพะ ทั้งในทางเศรษฐกิจที่เกิดความล้มเหลวมาตลอด 6 ปีที่มี พล.อ.ประยุทธ์ และกลายเป็นแพะต่อระบบการปกครอง โดยเฉพาะการเลือกตั้งท้องถิ่น ดังนั้นความไม่พร้อมจึงอยู่ที่ตัวพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งจะต้องพิสูจน์ว่ามีความจริงใจ ที่จะกระจายอำนาจและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นหรือไม่

จี้ใช้งบกลาง 3พันล้านจัดเลือกตั้ง

ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขานุการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยเดินทางมาที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี(ครม.) ขอให้มีมติ เพื่อแจ้งไปยัง กกต.ให้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 เป็นการเร่งด่วน หลังจากที่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2560 และบังคับใช้กฎหมายมาแล้ว 5-6 ฉบับ และมีการเลือกตั้งทั้งส.ส. และ ส.ว.มาแล้ว

“ขออย่าประวิงเวลา ซึ่งเป็นเรื่องที่ ครม.ใช้อำนาจกำหนดการเลือกตั้ง เพื่อแจ้งไปยัง กกต.ซึ่งขอให้นายกรัฐมนตรีนำงบกลาง 2-3 พันล้านบาท มาใช้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ โดยอยากให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้”

สภาไฟเขียวงบ8.8หมื่นล.พรุ่งนี้

ส่วนนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ว่า การประชุมสภาฯ ในวันที่ 17 มิ.ย.นี้ เริ่มตั้งแต่เวลา 09.30น.-21.00น. เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณประจำปี 2563 ในวาระ 2 และวาระ 3 โดยมีคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตาม พ.ร.บ.โอนงบฯ สงวนความเห็น และแปรญัตติ 19 ราย และมี ส.ส.แสดงความจำนงขออภิปรายจำนวน 30 ราย 

หากฝ่ายค้านใช้เวลาอภิปราย 10 ชั่วโมง การพิจารณาน่าจะแล้วเสร็จในวันเดียว เนื่องจากมีการอภิปรายกันตั้งแต่มาตรา 1 ชื่อร่าง นอกจากนี้มี ส.ส.แสดงความสนใจแปรญัตติในมาตรา 4  จำนวนมากถึง 30 ราย ขณะเดียวกัน ยังมีการอภิปรายในมาตราอื่นด้วย แต่ไม่มีการแก้ไขในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ทุกอย่างยังเหมือนเดิม รวมถึงจำนวนงบ 8.8 หมื่นล้านบาท ก็ยังเหมือนเดิม

ส่วนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 จะเข้าที่ประชุมสภาฯในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะต้องแจ้ง ส.ส.ล่วงหน้าให้เตรียมความพร้อม 3 วัน คือวันพุธ วันพฤหัสบดี และวันศุกร์ เพื่อไม่ให้ไปนัดหมายภารกิจอื่น

ปปช.ตั้งทีมจับตาเงินกู้4แสนล้าน

นายวรวิทย์ สุขบุญเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวในเสวนา"การตรวจสอบเงินกู้ 4 แสนล้านบาท-เงินสะสมท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาโควิด-19”ว่า ในส่วนป.ป.ช.ได้มีการศึกษาที่มาและที่ไปของงบประมาณและดูจากข้อมูลต่าง ๆ กระบวนการทำงาน รวมทั้งช่วงที่มีการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ซึ่งอาจมีการทุจริตเกิดขึ้น โดยข้อมูลเหล่านี้หลังมีการอนุมัติแผน จะทำให้ป.ป.ช.ทำงานได้รวดเร็วขึ้น เบื้องต้นได้มีการตั้งทีมงานศึกษาแผนงานใช้เงินกู้ ที่สำนักงานเฝ้าระวัง ของ ป.ป.ช.ติดตามอยู่อย่างต่อเนื่อง เมื่อมีผู้ร้องจะดำเนินการทันที

ทั้งนี้ในช่วงที่มีการระบาดโรคโควิด-19 พบว่ามีการร้องเรียนจากท้องถิ่นเข้ามา23 เรื่อง 10 ข้อหาโดยกระจายเรื่องร้องเรียนไปตามภูมิภาค พบว่า ภาคเหนือ 3 เรื่อง ภาคกลาง 10 เรื่อง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 เรื่อง และภาคใต้ 3 เรื่อง โดยในจำนวนนี้มีทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ มีทั้งการทุจริตสิ่งของและตัวบุคคล ซึ่งพบว่ามีมูลและตั้งอนุกรรมการไต่สวนแล้ว 1 เรื่องคือเรื่องการจัดซื้อชุดดูแลผู้สูงวัย หรือแคร์เซ็ต ของ อบจ.ลำพูนอย่างไรก็ตามใน 10 ข้อหา พบว่ารูปแบบการทุจริตไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม คือ ทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซื้อของไม่มีคุณภาพ แพงเกินจริง มีเงินทอน และเรียกรับเงิน

นอกจากนี้บางกรณีจะมีการยกเลิกก่อนการจัดซื้อ ถ้ามีการร้องเรียน ป.ป.ช.ต้องไปตรวจสอบว่าทำให้เกิดความเสียหายและเกิดการทุจริตหรือไม่ ซึ่งเมื่อป.ป.ช.ได้รับเรื่องมา จะตรวจสอบเป็นการเร่งด่วน หรือฟาส์ตแทร็กทันที

“ขณะนี้มีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบทุจริต โดยมีการเสนอให้จัดทำเว็บไซต์เฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อตรวจสอบเป็นพิเศษในเรื่องเงินกู้ 4 แสนล้านบาทเว็บดังกล่าวจะมีโครงการของหน่วยงานต่างๆเพื่อให้ประชาชน และเครือข่ายพันธมิตรเข้าไปตรวจสอบโดยง่าย ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนมั่นใจการทำงานของ ป.ป.ช.ร่วมตรวจสอบและแจ้งเบาะแสเข้ามาได้ตลอดเวลา” เลขาป.ป.ช.กล่าว

คาดชี้มูลคดีแคร์เซ็ตสิ้นปีนี้

ด้านนายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช.กล่าวถึงถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบเรื่องกล่าวหาองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ลำพูนรวม18 คนปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีดำเนินโครงการป้องกันผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) โดยจัดซื้อชุดของใช้ประจำวัน หรือแคร์เซ็ตในราคาสูง ว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงของอนุกรรมการไต่สวน แต่คาดว่าจะสามารถชี้มูลได้ในสิ้นปี 63 นี้