'จีไอซี' ลดพอร์ต 'แอสเสทเวิรด์' เฉือนขาดทุน 740 ล้านหุ้น

'จีไอซี' ลดพอร์ต 'แอสเสทเวิรด์' เฉือนขาดทุน 740 ล้านหุ้น

กองทุนรัฐบาลสิงคโปร์ เฉือนขาดทุนหุ้น “แอสเสทเวิรด์” กว่า 740 ล้านหุ้น ส่งผลสัดส่วนหุ้นเหลือเพียง 4.86% นักวิเคราะห์ คาดปรับพอร์ตลงทุนท่ามกลางวิกฤติโควิด พร้อมประเมิน “แอสเสทเวิรด์” ปีนี้ส่อขาดทุนเฉียด 200 ล้านบาท ก่อนพลิกมีกำไรในปีหน้า

ช่วงเดือน ต.ค. 2562 บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) ได้ทำการเสนอขายหุ้นไอพีโอ และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ความสนใจจองซื้อหลากราย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ กองทุนรัฐบาลสิงคโปร์ อย่าง GIC Private Limited ได้เข้าซื้อหุ้น AWC กว่า 2.29 พันล้านหุ้น ที่ราคาไอพีโอ 6 บาท รวมเป็นมูลค่า 1.37 หมื่นล้านบาท

จำนวนหุ้น AWC ที่ GIC ถือครอง คิดเป็นสัดส่วนราว 7.4% หลังจากนั้นสัดส่วนการถือครองของ GIC ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดย ณ วันปิดสมุดทะเบียน เมื่อ 17 มี.ค. 2563 สัดส่วนดังกล่าวลดลงมาเหลือ 7.08% หรือ 2.26 พันล้านหุ้น ก่อนจะลดลงมาเหลือ 6.73% หรือ 2.15 พันล้านหุ้น ณ 16 เม.ย. ที่ผ่านมา

ล่าสุด จากแบบรายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการ (แบบ 246–2) พบว่า GIC ได้ทำการขายหุ้น AWC ออกมาเพิ่มเติมอีก 59.845 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทำให้สัดส่วนการถือครองของ GIC ลดลงมาเหลือเพียง 4.86% หรือ 1.55 พันล้านหุ้น เท่ากับว่า GIC ขายหุ้น AWC ออกมาแล้วประมาณ 740 ล้านหุ้น

ประเด็นที่น่าสนใจคือ นับแต่เข้าจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ฯราคาหุ้น AWC สามารถยืนอยู่เหนือราคาไอพีโอที่ 6 บาท ได้จนถึงปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา หลังจากนั้น ราคาหุ้นได้ปรับตัวลดลงต่ำกว่าราคาไอพีโอมาโดยตลอด ซึ่งราคาลดลงไปต่ำสุดที่ 2.70 บาท โดยปัจจุบันราคาฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ราว 4.90 บาท ฉะนั้นแล้ว หาก GIC ไม่ได้เข้าซื้อหุ้นเพิ่มเติมในช่วงที่ราคาปรับตัวลดลง เท่ากับ GIC ยอมขายขาดทุนในหุ้น AWC ที่เพิ่งเข้าจดทะเบียนได้เพียง 5 - 8 เดือน

นักวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า การที่ GIC ขายหุ้น AWC ออกมาต่อเนื่องนี้ โดยส่วนตัวมองว่าเป็นการปรับพอร์ตลงทุนภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบโอกาสในการลงทุนแล้ว การนำเงินลงทุนในส่วนนี้ไปลงทุนในหุ้นตัวอื่นก็อาจจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าก็เป็นได้

“ณ ตอนนั้น นักลงทุนซื้อหุ้นไอพีโอ AWC บนมูลค่าในอนาคต ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการลงทุนเพื่อซื้อสินทรัพย์เข้ามาเพิ่ม แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ภาพของการลงทุนในระยะสั้นเปลี่ยนไป แผนการลงทุนที่วางไว้ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้”

ในเชิงปัจจัยพื้นฐาน คาดว่า AWC จะรายงานขาดทุนสุทธิ 199 ล้านบาท ในปีนี้ ก่อนจะพลิกมามีกำไรสุทธิ 698 ล้านบาท ในปี 2564 แม้ AWC จะได้รับผลกระทบน้อยที่สุดหากเปรียบเทียบกับหุ้นในกลุ่มโรงแรมอีกหลายบริษัท เนื่องจาก AWC มีสัดส่วน EBITDA จากธุรกิจที่ไม่ใช่โรงแรมคิดเป็นสัดส่วนราว 55%

ด้าน บล.ทิสโก้ ระบุว่า ราคาหุ้นของ AWC เพิ่มขึ้นกว่า 63% จากจุดต่ำสุดในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา มากกว่าตลาดที่ 39% โดยราคาหุ้นซื้อขายที่ P/E 171 เท่า สำหรับปี 2564 และราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นมาจากกลุ่มท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้น และผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในครึ่งปีหลัง ในขณะเดียวกัน เรามองว่าปีนี้นักท่องเที่ยวจะลดลง 75% เป็น 10 ล้านคน และการฟื้นตัวในระยะที่ 3 ต้องใช้เวลา 18 เดือน ถึงจะกลับสู่ภาวะปกติ

ทั้งนี้ เราเชื่อว่าตลาดมองแนวโน้มของ AWC ผิดไป แม้ว่าเราจะคาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 ปีนี้ แต่ผลของโควิด-19 จะสร้างปัญหาเชิงโครงสร้างให้กับ AWC สำหรับกลุ่มที่ไม่ใช่โรงแรม เช่น Asiatique ห้างสรรพสินค้า และตลาด และการขึ้นค่าเช่าในปี 2565 อาจมีปัญหาได้จากการทำงานจากบ้านที่เพิ่มขึ้น ทำให้เราเริ่มวิเคราะห์โดยแนะนำให้ “ขาย” และคาดผลประกอบการไตรมาส 2 และไตรมาส 3 นี้ จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาหุ้นลดลง