'บิ๊กตู่' แจงสภาฯ ยันโอนงบ 'กลาโหม' มากสุด เพราะชะลอได้

'บิ๊กตู่' แจงสภาฯ ยันโอนงบ 'กลาโหม' มากสุด เพราะชะลอได้

"นายกรัฐมนตรี" แจงสภาฯ ยันโอนงบ "กลาโหม" กลับมากสุด เพราะชะลอได้ ไม่กระทบราชการ ขออย่าห่วงทุจริตพร้อมเอาผิดไม่ ไว้หน้าใคร ยืนยันจะดูแลคนทุกกลุ่มเท่าเทียม


พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย วงเงินกว่า 88,000 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด -19 อีกครั้งว่า หลังจากที่ฟังการอภิปรายของ ส.ส. หลายคน เป็นประโยชน์ พร้อมนำไปปรับปรุงพิจารณา อะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ จะรับฟังแต่จะให้เข้าหูซ้ายทะลุหูขวาไปยืนยันว่า งบประมาณส่วนนี้ จะนำไปใช้จ่ายให้สอดคล้องกับ สภาพความเป็นจริง

ยืนยันว่าโครงสร้าง งบกลาง มีทั้งเบี้ยหวัดบำนาญ สำหรับปรับเงินเดือนข้าราชการและเงินสมทบลูกจ้างประจำ กว่า 5.1แสนล้านบาท เป็นเงินสำรองกรณีฉุกเฉิน 96,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ใช้จ่ายไปแล้วเหลือเพียง 400 ล้านบาทเท่านั้น โดยแบ่งออกเป็นค่าใช้จ่าย 4 กลุ่ม คือ


- เงินสำหรับการแก้ปัญหาสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 จำนวน กว่า 56,000 ล้านบาท


- ค่าใช้จ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งและอุทกภัยกว่า 18,000 ล้านบาท


- ค่าใช้จ่ายด้านเศรษฐกิจและสังคม กว่า 11,000 ล้านบาท


- และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการภาครัฐ กว่า 9,000 ล้านบาท โดยรวมที่ใช้ไปแล้ว กว่า 95,000 ล้านบาท ซึ่งเหตุผลที่จำเป็นต้องใช้งบกลางไปก่อน เพราะ พ.ร.บ.โอนงบ และพ.ร.ก.กู้เงินยังไม่ออก จึงขอให้เข้าใจสัดส่วนงบกลางให้ดีก่อน ย้ำว่าการบริหารเงินไม่ใช่อำนาจการบริหารของนายกฯเพียงอย่างเดียว เพราะไม่ใช่เงินของนายกฯ


ส่วนเหตุผลที่ไม่เสนอ พ.ร.บ.โอนงบฯ ก่อนพ.ร.ก.กู้เงินนั้น นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า การ ออกเป็น พ.ร.ก. จัดทำได้เร็วกว่า และมีการประมาณการณ์แล้วว่า แม้กู้เงินมาก็ยังไม่เพียงพอ เฉพาะค่าใช้จ่ายเยียวยาประชาชน ประมาณการณ์ไว้มาก ถึง 55,000 ล้านบาท

ซึ่งเงินสำรองจ่ายที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ย้ำว่าเงิน 2 ก้อนทั้งจากพ.ร.ก.กู้เงิน และพ.ร.บ.โอนงบจะเข้ามาอยู่ในงบกลาง มีกรอบการใช้จ่าย ที่รัฐบาลกำหนดไว้ว่าจะเอาไปใช้จ่ายส่วนใดบ้าง ตามความจำเป็นของสถานการณ์ โดยเงินที่มีการโอนกลับมาในครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นงบจากโครงการที่ยังทำสัญญาไม่ได้ โครงการที่แผนรายละเอียดที่ยังไม่สมบูรณ์ ทำให้จำเป็นต้องหยุดโครงการดังกล่าวไว้ก่อน แต่ไม่ได้ตัดโครงการทั้งหมด เมื่อมีความพร้อมให้นำเสนอกลับมาใหม่ได้

ส่วนกรณีที่มีการตัดงบกระทรวงกลาโหมมากกว่ากระทรวงอื่นถึงกว่าร้อยละ 10 จากที่หน่วยงานอื่นที่ปรับลดเพียงร้อยละ 5 นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามหลักเกณฑ์โครงการใดที่สามารถชะลอได้โดยไม่สร้างความเสียหายแก่ราชการก็สามารถปรับได้มากกว่าร้อยละ 5 อยู่แล้ว ดังนั้นงบประมาณในปี 2563 ส่วนใดที่ยังไม่สามารถใช้ได้ในปีนี้ ให้โอนกลับมาส่วนกลางก่อน ภายใต้การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐไม่ใช่การปรับโอนงบประมาณเพื่อให้รัฐบาลใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น

เพราะหลายโครงการอยู่เกณฑ์ที่สามารถชะลอได้ ยกเว้นบางโครงการที่เป็นงบผูกพัน โดยเฉพาะการจัดซื้อยุทโธปกรณ์บางรายการที่ทำสัญญาไปแล้วก็ไม่สามารถปรับลดได้ เพราะจะไม่ให้ซื้อเลยคงทำไม่ได้ ต้องรู้ว่าทหารทำหน้าที่กี่อย่าง ย้ำว่าไม่ใช่ว่าเพราะตนเป็นทหารจึงเห็นใจทหาร แต่ทหารต้องช่วยทุกเรื่อง แม้ว่าจะมีหน้าที่จริงจะทำหน้าที่ป้องกันประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาทหารก็ไม่ได้เรียกร้องอะไรเพิ่มเติม

ส่วนปัญหาการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ราคาแพง ก็เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตของผู้ปฏิบัติหน้าที่ เพราะชีวิตคนก็มีความสำคัญ

นายกรัฐมนตรี ยังขออย่าห่วงการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ โดยขอให้เป็นไปตามกฎหมายและให้เจ้าหน้าที่ทำงานไปตามกระบวนการ และค่อยมาดูว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะตอนนี้ยังเป็นเพียงการตั้งกรอบงบประมาณ เมื่อมีการใช้จ่ายงบประมาณขึ้นมาก็ต้องมีกรรมการคัดกรองและตรวจสอบตั้งแต่ระดับล่าง

ย้ำว่าการใช้จ่ายงบกลางหลังจากนี้จะต้องรับฟังความเห็นของประชาชนว่าต้องการอะไร ซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (กบจ.) พิจารณา ห่วงอย่างเดียวคืออย่ามีใครไปก้าวก่ายหรือบังคับ ระดับล่าง เพราะส่วนนี้มีสำนักงบประมาณคอยตรวจสอบอยู่แล้ว ก่อนจะเสนอให้ คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณในการใช้จ่าย

ถ้ามีการทุจริตจะมีการลงโทษทุกคนที่เกี่ยวข้องโดยไม่ละเว้น การจัดสรรงบประมาณไม่ใช่เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เพื่อคนไทยทุกคน ยืนยันว่าจะดูแลคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม