เปิดความเห็นผู้กุมชะตาการบินไทย 'บุญทักษ์-พีระพันธุ์' มั่นใจฟื้นกิจการ

เปิดความเห็นผู้กุมชะตาการบินไทย 'บุญทักษ์-พีระพันธุ์' มั่นใจฟื้นกิจการ

“การบินไทย” ยื่นศาลล้มละลายขอฟื้นฟูกิจการ แนบ 6 ชื่อคณะผู้ทำแผน นายกฯ ตั้งบอร์ดติดตามฟื้นฟู “บุญทักษ์-พีระพันธ์” มั่นใจฟื้นฟูสำเร็จ

บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำร้องขอเข้าฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางวานนี้ (26 พ.ค.) โดยนายพยัพ พงษ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายนิติการ การบินไทย เป็นผู้ยื่นคำร้อง ซึ่งได้เตรียมเอกสารยื่นคำร้องจำนวน 1 คันรถตู้ และเดินทางมายังศาลล้มละลายกลางก่อนเวลา 8.00 น. ซึ่งการยื่นคำร้องครั้งนี้ต้องยื่นรายชื่อผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการด้วย

การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการครั้งนี้ มีผู้แทนเจ้าหนี้จากต่างประเทศของการบินไทย ได้ส่งตัวแทนมาสังเกตการณ์ พร้อมระบุถึงการเป็นคู่ค้าและเป็นเจ้าหนี้ของการบินไทย ซึ่งขณะนี้กังวลใจเกี่ยวกับความชัดเจนของการฟื้นฟูกิจการจึงมาสังเกตการณ์ครั้งนี้

ทั้งนี้ เมื่อมีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้ว ศาลเห็นว่าคดีนี้มีรายละเอียดที่จะต้องพิจารณาเเละมีผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมากจึงให้นัดฟังคำสั่งในวันนี้ (27 พ.ค.)

นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษากฎหมาย กล่าวว่า สาเหตุที่ศาลนัดฟังคำสั่งวันนี้ เนื่องจากต้องส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล) ไปแจ้งเจ้าหนี้ทั่วโลก ซึ่งรัฐบาลเพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้การส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา

รายงานข่าวระบุว่า รายชื่อคณะทำแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย ประกอบด้วย 

1.พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการการบินไทย

2.นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการการบินไทย และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย 

3.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

4.นายบุญทักษ์ หวังเจริญ

5.นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร

6.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

โดยรายชื่อผู้ทำแผนในลำดับที่ 3–6 ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการการบินไทย เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา

ผู้ทำแผนฯ มั่นใจฟื้นฟูสำเร็จ

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ กรรมการบินไทย และคณะผู้ทำแผนฟื้นฟู เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ได้รับการทาบทามให้ไปเป็นกรรมการบริษัทการบินไทยพร้อมกับดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา แม้ส่วนตัวอยากเกษียณ เพราะรู้สึกว่าพอแล้ว แต่การทำหน้าที่ครั้งนี้ เป็นการทำงานเพื่อส่วนรวมและองค์กรหลักของประเทศ

นายบุญทักษ์ยอมรับว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบในวงกว้างในทุกกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งประเทศไทยและทั่วโลก มีความแตกต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ที่กระทบเฉพาะภูมิภาคอาเซียน หรือวิกฤตซับไพรม์เมื่อปี 2551 ที่ส่งผลต่อสถาบันการเงินเท่านั้น อย่างไรก็ตาม มีความมั่นใจในการทำงานครั้งนี้ เชื่อว่าภาระกิจฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทย จะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก เพราะประเทศไทยยังมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง

“การที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมือและบริหารจัดการปัญหาโควิด-19 ได้ดี ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสในวิกฤต ทำให้มีเครดิตและเป็นที่ยอมรับในนานชาติ เชื่อว่าช่วงหน้าหนาวของตะวันตกที่สภาพอากาศเลวร้าย หรือประมาณเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี” นายบุญทักษ์กล่าว

“พีระพันธุ์”เร่งทำการบ้าน

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการการบินไทย ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจว่า ยังไม่ได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในบริษัท จึงยังไม่ทราบรายละเอียดแผนฟื้นฟู อย่างไรก็ตาม นายกฯไม่ได้ให้โจทย์ว่า จะต้องทำอะไรอย่างไร ทุกคนที่เข้ามาก็รู้อยู่แล้วว่าจะต้องช่วยกันฟื้นฟูการบินไทย และตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการก็ได้เตรียมทำการบ้านหลายเรื่อง โดยเฉพาะการทบทวนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูบริษัท

“หากได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่ จะต้องเข้าไปดูว่ารายละเอียดของบริษัทที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง และต่อไปจะมีแนวทางในการหารายได้อย่างไร หรือมีรายจ่ายในส่วนไหนที่ไม่จำเป็น ก่อนที่จะไปคุยกับเจ้าหนี้ ที่ต่างต้องการให้การบินไทยสามารถชำระหนี้คืนได้ เพราะหากไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหนี้ โอกาสที่จะได้รับการชำระหนี้คืนก็น้อย ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันดีกว่า เพราะถ้าคุยกันทุกอย่างจะออกมาในทางที่ดี สามารถพลิกฟื้นการบินไทยได้”

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญในการดำเนินแผนฟื้นฟูนั้น ต้องไม่มีการกลั่นแกล้งหรือเลือกปฏิบัติ รวมถึงต้องมีเกณฑ์มาตรฐานที่ชัดเจน เป็นธรรม และจริงใจ การจะทำอะไรต้องมีเหตุมีผล ดูความจำเป็น เพื่อเป้าหมายหลักคือให้การบินไทยอยู่ได้ แต่หากมาเล่นเส้นเล่นสายแบบนั้นก็ไปต่อไม่ได้