92 องค์กร ร้อง 'รมว.ศึกษาฯ' หยุดซาตานในคราบครู 'ณัฏฐพล' จี้ตร.-ยธ.ลงโทษหนัก

92 องค์กร ร้อง 'รมว.ศึกษาฯ' หยุดซาตานในคราบครู 'ณัฏฐพล' จี้ตร.-ยธ.ลงโทษหนัก

ตัวแทน 92 องค์กรผู้หญิง เด็ก และเครือข่ายการศึกษา ยื่น 6 ข้อเรียกร้อง เร่งลงดาบครูล่วงละเมิดทางเพศนักเรียนอย่างจริงจัง ด้าน "ณัฏฐพล" จี้ตำรวจ-กระบวนการยุติธรรมเอาโทษสถานหนักครูหื่น

เผยสถิติรอบ 4 ปี พบมีเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศสูงถึง 727 ราย เป็นครูบุคลากรทางการศึกษา 53 ราย ด้านรมว.ศธ.ยืนยันกระทรวงให้ความสำคัญ มีมาตรการป้องกันและเชิงรุกแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

วันนี้ 22 พ.ค. 2563 ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา พร้อมด้วยนางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และตัวแทนเครือข่ายยุติความรุนแรงทางเพศในโรงเรียน 92 องค์กร จำนวน 15 คน ยื่นหนังสือถึงนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กรณีครู 5 คนและรุ่นพี่อีก 2 คน ข่มขืนนักเรียนหญิงอายุ 14 และ 16 ปี ยาวนานนับปีในจังหวัดมุกดาหาร

และกรณีครูแชทลวงนักเรียนมาทำอนาจารในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยได้ยื่นข้อเสนอ 6 ข้อ เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงฯ เร่งออกมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศในโรงเรียนอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้เครือข่ายฯ ได้นำรายชื่อประชาชนผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องผ่านเว็บไซต์ change.org ประมาณหนึ่งหมื่นคนมามอบให้กระทรวงฯ จากนั้นร่วมกันทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ชุด“ หยุดซาตานในคราบครู” เพื่อสะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

นางสาวอังคณา กล่าวว่า เครือข่ายฯ 92 องค์กร ประกอบด้วย องค์กรด้านการคุ้มครองเด็ก ผู้หญิง และการศึกษา ได้ออกมารณรงค์แก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศในโรงเรียน โดยเรียกร้องผ่านเว็บไซต์ change.org ตอนนี้มีผู้ลงชื่อสนับสนุนเกือบหนึ่งหมื่นคน สืบเนื่องจากข่าวที่สะเทือนสังคม เหตุการณ์ที่จังหวัดมุกดาหาร และบุรีรัมย์ โดยมีบุคลากรครูเป็นผู้กระทำ ซึ่งเชื่อว่า ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่มีเด็กนักเรียนในความดูแลของกระทรวงศึกษาฯ ต้องตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ ที่เกิดจากการกระทำของบุคลากรทางการศึกษาเอง

อีกทั้งเหตุการณ์ครั้งนี้ มีการแสดงทัศนะของผู้ที่อ้างตัวเป็นครูในลักษณะที่เข้าข้างผู้ต้องหาและกล่าวโทษเด็กนักเรียน สะท้อนถึงวัฒนธรรมความรุนแรงทางเพศที่ฝังรากลึกอยู่ในระบบการศึกษาไทย ทั้งนี้จากข้อมูลศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในรอบ 4 ปี (พ.ศ.2556-2560) พบว่า มีเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศสูงถึง 727 ราย ในจำนวนนี้เป็นครูบุคลากรทางการศึกษา 53 ราย นอกจากนี้มูลนิธิฯยังได้เก็บข้อมูลปี2560 จากข่าวหนังสือพิมพ์ พบว่า มีข่าวล่วงละเมิดทางเพศเด็กอายุต่ำกว่า10 ปี กว่า 42 ข่าว อายุ 11-20 ปี 145 ข่าว ในจำนวนนี้มี 17 ข่าว ที่ก่อเหตุในโรงเรียน ส่วนอาชีพครูที่เป็นผู้กระทำ มี 13 ข่าว

ดร.วราภรณ์ กล่าวว่า เครือข่ายฯ อยากเห็นสถานศึกษาเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินมาตรการเร่งด่วน ดังนี้ 1. เมื่อเกิดเหตุล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กนักเรียน เช่น ที่เกิดในจังหวัดมุกดาหาร กระทรวงศึกษาฯ ต้องไม่ปล่อยให้เด็กผู้เสียหายและผู้ปกครองดำเนินการเรียกร้องความยุติธรรมอย่างโดดเดี่ยว แต่กระทรวงฯ ต้องทำหน้าที่เป็นเจ้าทุกข์ร่วมในการแจ้งความและฟ้องร้องดำเนินคดีทางอาญา ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่เด็กผู้เสียหายและผู้ปกครอง และจัดการให้เด็กเข้าถึงการคุ้มครองสวัสดิภาพและได้รับการเยียวยาทางจิตใจและสังคมโดยเร่งด่วน

2.ในกรณีที่สอบสวนแล้วพบว่าครูหรือบุคลาการทางการศึกษาอื่นกระทำผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศต่อนักเรียน ให้กระทรวงศึกษาฯ ลงโทษทางวินัยขั้นสูงสุด ถอนใบประกอบวิชาชีพครู และหากบุคคลดังกล่าวยังคงรับราชการหรือปฏิบัติงานในหน่วยงานด้านการศึกษาต่อไป จะต้องไม่ให้ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนโดยตรงอย่างเด็ดขาด 3.รัฐมนตรีหรือผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาฯ ควรรีบลงพื้นที่จังหวัดมุกดาหารเยี่ยมโรงเรียนที่เกิดเหตุ เพื่อให้กำลังใจและแสดงจุดยืนปกป้องนักเรียนผู้เสียหายและครอบครัว และสร้างขวัญกำลังใจให้นักเรียน ผู้ปกครอง และครูที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิดครั้งนี้

ดร.วราภรณ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ศธ. ต้องมีมาตรการเชิงป้องกัน คือ 4.เร่งออกนโยบายและมาตรการเชิงรุกที่ชัดเจนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศสำหรับโรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศ 5. จัดตั้งกลไกระดับกระทรวง เพื่อรับเรื่องร้องเรียนกรณีปัญหาความรุนแรงทางเพศในโรงเรียน โดยกลไกดังกล่าวต้องมีความเป็นอิสระ มีองค์กรภายนอกที่เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็กและการแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศเข้าร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง และมีการประชาสัมพันธ์ให้ครู ผู้บริหารโรงเรียน นักเรียน และผู้ปกครองรับทราบและเข้าถึงกลไกดังกล่าวได้อย่างกว้างขวาง และ 6.ให้การศึกษาแก่ครูและผู้บริหารโรงเรียนทั่วประเทศเกี่ยวกับหลักการและแนวปฏิบัติเพื่อการคุ้มครองสิทธิเด็ก การเคารพความเสมอภาคระหว่างเพศ และมีแนวปฏิบัติเพื่อสร้างให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากความรุนแรงทางเพศ

นายณัฏฐพล กล่าวว่า การล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญ มีนโยบาย 3-4 เรื่อง ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นในโรงเรียน ทั้งเรื่องล่วงละเมิดทางเพศ ยาเสพติด การทำร้ายหรือบูลลี่ รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่ต้องปรับเกี่ยวกับการศึกษา ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ากระบวนการต่อสู้ในเรื่องการละเมิดทางเพศความเข้มข้นยังน้อยไป จึงได้มีการตั้งคณะทำงาน รวมถึงตั้งศูนย์ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาในอดีต หรือไม่ได้แก้ปัญหาในอดีต ทั้งการขับเคลื่อน กล่าวโทษ หรือตั้งคณะกรรมการต่างๆ เพื่อทำให้ทุกอย่างรวดเร็วและถูกต้อง ในช่วง 4-5 คดีหลังที่เกิดขึ้นจะเห็นว่ามีความรวดเร็วและมีความกระตือรือร้น รวมทั้งมีความรอบคอบ เพราะเป็นการกล่าวโทษในเรื่องสำคัญกับบุคลากรทางการศึกษา

นายณัฏฐพล กล่าวว่า เรื่องนี้ทางกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญและจะต่อสู้อย่างมุ่งมั่นในการไม่ให้มีคนเหล่านี้ที่ทำร้ายทั้งชื่อเสียงของครู โรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ และสังคม เราไม่สามารถให้คนกระทำความผิดในการล่วงละเมิดทางเพศวนเวียนอยู่ในกระบวนการของกระทรวงฯ พร้อมให้ความมั่นใจหากมีการกล่าวโทษและพบว่ามีความผิด จะไม่ได้กลับมาวนเวียนอยู่ในกระทรวง ส่วนการตั้งศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ กระทรวงศึกษาธิการ (ศคพ.) ขึ้นมาเพื่อเป็นการปราบและป้องกัน ทั้งยังมีมาตรการในเชิงรุกอีกด้วย เรื่องเหล่านี้อยากให้ทุกคนให้ความสำคัญ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องต่อสู้การล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียนอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ นายณัฏฐพล ยังเปิดเผยอีกว่า ผมได้ส่งหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หากมีปัญหาในพื้นที่ต่างๆ และทางกระทรวงฯ มีข้อมูลหลักฐานเพียงพอที่จะตั้งคณะกรรมการวินัยร้ายแรงได้ เมื่อมีการกล่าวโทษในกระบวนการยุติธรรมไม่อยากให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปล่อยให้ผู้ที่ถูกกล่าวโทษสามารถออกไปได้ง่ายๆ โดยอยากให้ตำรวจคัดค้านการประกันตัว แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ด้วย

สำหรับเครือข่ายที่ร่วมกันยุติความรุนแรงทางเพศในโรงเรียน มีองค์กรต่างๆ ถึง 92 องค์กรที่เกี่ยวกับเด็ก สตรี และการศึกษา เข้าร่วม อาทิ แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา, มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล, มูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไท,มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว,กลุ่มมานีมานะ, มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์, กลุ่มครูขอสอน,หิ่งห้อยน้อย:เว็บไซต์เพื่อเด็กที่ถูกตีตรา,สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา, ภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, SHero Thailand, มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว, เครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม, มูลนิธิเพื่อนหญิง, ศูนย์ประสานการช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กอำนาจเจริญ ฯลฯ