นโยบายตอบโจทย์ 'เศรษฐกิจวิถีใหม่' อีอีซี

นโยบายตอบโจทย์ 'เศรษฐกิจวิถีใหม่' อีอีซี

หลังวิกฤติโควิด-19 ภาคอุตสาหกรรมไทยจะก้าวเข้าสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เป็นอุตสาหกรรมใหม่ โดยเฉพาะการนำเอไอหรือระบบอัตโนมัติมาใช้มากขึ้น รวมถึงอาจเกิดกระแสการย้ายฐานการผลิตของบริษัทจากต่างชาติ มายังประเทศหนึ่งในอาเซียนระหว่างเวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย

หลังวิกฤติโควิด-19 ภาคอุตสาหกรรมของไทยจะก้าวเข้าสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เป็นอุตสาหกรรมใหม่ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และระบบอัตโนมัติมาใช้มากขึ้น รวมถึงระบบห่วงโซ่อุปทานที่จะถูกลดทอนให้สั้นลง โดยอาจเป็นไปได้ที่จะมีการลดการพึ่งพิงการผลิตแบบกระจายฐานการผลิตหลายประเทศมาอยู่ประเทศเดียว

นโยบายตอบโจทย์เศรษฐกิจวิถีใหม่อีอีซี ซึ่งเน้น 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve ที่ครอบคลุมกระแสดังกล่าวข้างต้น ขณะนี้ก็มีหน่วยงานต่างๆ ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุถึงทิศทางการปรับตัวของอุตสาหกรรมและการลงทุน ดังนี้

ทิศทางอุตสาหกรรมหลังวิกฤติโควิด-19 ห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) จะเปลี่ยนแปลงไป ความยาวของ Supply chain อาจถูกลดทอนให้สั้นลงจากที่ผ่านมาจะผลิตชิ้นส่วนในหลายประเทศ และส่งไปประกอบอีกประเทศหนึ่ง ภาคธุรกิจจะเข้าสู่การค้าอีคอมเมิร์ซ การชำระสินค้าและบริการผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ผู้ประกอบการหลายอุตสาหกรรมต้องเพิ่มบริการแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น จึงเป็นโอกาสเติบโตของหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมจะหันไปสู่ระบบอัตโนมัติ เข้ามาอำนวยความสะดวกและทำงานแทนคน ลดการติดต่อหรือการสัมผัสกัน

กระแสการย้ายฐานการผลิตของบริษัทจากต่างชาติที่มีมาก่อนโควิด-19 ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กำหนดทิศทางอุตสาหกรรม อันเนื่องมาจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ทำให้มีบริษัทต่างชาติส่วนหนึ่งประสงค์ย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เพื่อลดความเสี่ยงจากการกีดกันทางการค้า รวมทั้งเมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 จึงเป็นแรงกดดันย้ายฐานการผลิตมากขึ้น หลายบริษัทจึงอยู่ระหว่างตัดสินใจหา “ฐานที่มั่น” การลงทุนใหม่ หนีภัยเทรดวอร์มายังประเทศหนึ่งในอาเซียนระหว่างเวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย 

ทิศทางการลงทุนหลังวิกฤติโควิด-19 มีแนวโน้มจะเกิดการลงทุนใหม่ อาทิ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล ไอที โดยการเกิดขึ้นของเทคโนโลยี 5G จะเร่งให้มีการนำมาใช้ในภาคการค้าบริการมากขึ้น 

ขณะที่การทำงานอยู่บ้าน (WFH) ช่วงที่ผ่านมาก่อให้เกิดการใช้จ่าย การสั่งซื้ออาหาร การส่งพัสดุด่วน ตลอดจนการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์สูงขึ้น รวมไปถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เพราะหลังยุคโควิด-19 คนจะหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ไทยก้าวสู่ตลาดเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์มากขึ้น หลังจากที่ไทยประสบความสำเร็จในการลดการแพร่ระบาด จนกลายเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่ทั่วโลกยกย่อง

มาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ที่บีโอไอผลักดันออกมา อาทิ มาตรการกระตุ้นการลงทุนจริงในปี 2563-2564 มาตรการเร่งรัดการลงทุนในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ มาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอี มาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงมาตรการอื่น เช่น สมาร์ทวีซ่า คาดว่าจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจการลงทุนและสนับสนุน การเติบโตของเศรษฐกิจไทย

ในระยะสั้นจะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่ในระยะยาว เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ จะช่วยให้ไทยพัฒนาและยกระดับไปอยู่ในสายพานการผลิตรูปแบบใหม่ ประกอบกับไทย ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี และมีความได้เปรียบด้านโลจิสติกส์ จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะเบียดคู่แข่ง ที่น่ากลัวอย่างเวียดนามได้

อย่างไรก็ตาม ทักษะแรงงานทั้ง Upskill & Reskill ยังนับเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ในอนาคต