ศูนย์กลางโควิดระบาดเปลี่ยน เพิ่มความเสี่ยง ‘เศรษฐกิจโลก’

ศูนย์กลางโควิดระบาดเปลี่ยน เพิ่มความเสี่ยง ‘เศรษฐกิจโลก’

ปัจจุบันศูนย์กลางการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กำลังเปลี่ยนทิศ จากประเทศพัฒนาแล้ว มาสู่ประเทศกำลังพัฒนาหรือชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ขณะนี้ศูนย์กลางการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 เปลี่ยนจากประเทศในโลกพัฒนาแล้ว ไปเป็นชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยเฉพาะประเทศที่แบกภาระหนี้สาธารณะมหาศาล ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ขณะที่สหรัฐและยุโรปเริ่มทยอยเปิดเศรษฐกิจบางส่วนของประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศก็เพิ่มมากขึ้น แถมบางประเทศจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศกำลังพัฒนา ยังแซงหน้ายอดผู้ติดเชื้อในประเทศร่ำรวยเสียอีก โดยเมื่อวันศุกร์ (8 พ.ค.) มีการยืนยันพบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนมากถึง 50,000 ราย

ประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งเร่งเปิดเศรษฐกิจของประเทศ แม้ว่าระบบการดูแลสุขภาพของประเทศยังไม่แข็งแกร่ง ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าจะจุดชนวนนำไปสู่การแพร่ระบาดรอบ 2 ที่รุนแรงขึ้น และหากเป็นเช่นนั้นจริง การระบาดหนักรอบ 2 ในประเทศที่แบกรับภาระหนี้สินจำนวนมาก อาจจะฉุดให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นไปได้ยากตามไปด้วย

158930733359

เว็บไซต์ข่าวนิกเคอิ ได้ทำการตรวจสอบยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยใช้ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อ รายใหม่ในประเทศพัฒนาแล้วปรับตัวร่วง ลงในสัดส่วนกว่า 40% นับตั้งแต่เดือน เม.ย. แต่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น ในรัสเซีย จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมากกว่า 10,000 ราย เป็นระยะเวลา 3 วันติดต่อกัน ทำให้รัสเซียกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดแห่งใหม่ในภูมิภาคยุโรป

ปัจจุบันรัสเซีย เป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นมากที่สุดในภูมิภาคยุโรป ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อในรัสเซียมีมากถึง 177,160 ราย มากกว่าผู้ติดเชื้อในฝรั่งเศสและในเยอรมนี

ทางการรัสเซียรายงานว่าผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 มากกว่าครึ่ง อยู่ในมอสโก เมืองหลวงของประเทศ โดยพบผู้ติดเชื้อแล้ว 92,676 ราย แต่ผู้ว่าการกรุงมอสโกกล่าวว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริงของมอสโกอาจจะอยู่ที่ประมาณ 300,000 รายในขณะนี้

“เซอร์เกย์ ซอบยานิน” ผู้ว่าการกรุงมอสโก กล่าวว่า จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น เกิดจากเจ้าหน้าที่เพิ่มการตรวจเชื้อมากขึ้นเป็นสองเท่าในมอสโก โดยรัสเซียได้ตรวจหาผู้ติดเชื้อไปแล้วจำนวนกว่า 4.8 ล้านราย ปัจจุบันรัสเซียยังคงมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดมาเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 6 สัปดาห์ และมีแผนจะคลายมาตรการล็อกดาวน์หลังวันที่ 12 พ.ค.ตามเวลาท้องถิ่น

ส่วนกระทรวงสาธารณสุขบราซิล แถลงว่า เมื่อ 9 พ.ค. บราซิลมีจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมจากโรคโควิด-19 อย่างน้อย 10,627 ราย จากจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 155,939 ราย เป็น 1 ใน 6 ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มากกว่า 10,000 คน รองจากสหรัฐ สหราชอาณาจักร อิตาลี สเปน และฝรั่งเศส

ด้านวารสารแลนเซ็ต ซึ่งเป็นวารสารทางการแพทย์ระบุว่า ปัจจุบันบราซิลกำลังเป็นหนึ่งในพื้นที่วิกฤติของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากแม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามใช้มาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการล็อกดาวน์และให้ประชาชนรักษาระยะห่างทางสังคม แต่ประชาชนจำนวนมากไม่ปฏิบัติตาม

158930835351

ส่วนในแอฟริกาก็จัดเป็นพื้นที่เสี่ยง เพราะมียอดผู้ติดเชื้อจำนวนกว่า 40,000 ราย ส่วนยอดผู้เสียชีวิตมีจำนวนกว่า 1,300 ราย และล่าสุดดับเบิลยูเอชโอออกแถลงการณ์เตือนว่า หากในแอฟริกาไม่มีมาตรการเชิงรุก หรือมีแล้ว แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกรณีเลวร้ายที่สุดจะมีผู้เสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของโรคในปีแรกอยู่ระหว่าง 83,000 ถึง 190,000 คน จากจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมระหว่าง 29 ถึง 44 ล้านคน

พญ.มัตชิดิโซ โมเอติ ผู้อำนวยการดับเบิลยูเอชโอ ประจำภูมิภาคแอฟริกา กล่าวว่า แม้เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เดินทางมาถึงทวีปแอฟริกาช้ากว่าภูมิภาคอื่นของโลก และอัตราการแพร่ระบาดภายในชุมชนยังอยู่ในระดับต่ำ แต่หากมองในอีกด้านหนึ่ง ก็บ่งชี้ว่าสถานการณ์มีแนวโน้มยืดเยื้อ และจะเป็นวิกฤติอีกนานหลายปี

“ทุกวันนี้ประเทศส่วนใหญ่ในแอฟริกาดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรคอย่างเป็นไปในทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้เคอร์ฟิว จำกัดการรวมกลุ่ม นอกเคหสถานและควบคุมการเดินทางข้ามพรมแดน แต่ถ้าหากยังไม่มีมาตรการเชิงรุกทั้งในเรื่องของการตรวจคัดกรอง คัดแยกผู้ป่วย แกะรอยกลุ่มเสี่ยง ตลอดจนการรักษาผู้ติดเชื้อ ก็จะมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก” พญ.โมเอติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งระบบการสาธารณสุขมีความเปราะบางมากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ระบบดูแลสุขภาพล่มสลาย และประชากรในประเทศเสียชีวิตมากขึ้น

158930842284

ข้อมูลของดับเบิลยูเอชโอ ระบุว่าการใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพโดยเฉลี่ยต่อจีดีพีประเทศในชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่อยู่ที่ 3% ถือว่าต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งมีอัตราเฉลี่ยที่ 8% ในรัสเซีย บราซิล อิหร่าน อินเดีย และเม็กซิโก ซึ่งการระบาดของโรคโควิด-19 รวดเร็วมาก มีการใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพเทียบจีดีพีประเทศ ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของทั่วโลกที่ 6%

ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้กำลังรับมือกับการระบาดของโรคอุบัติใหม่ ตัวเลขขาดดุลงบประมาณก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และภาครัฐก็มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นตามไปด้วย สิ่งที่ตามมาคือ การถอนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่ขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาล นี่คือคำตอบที่ว่าการเปลี่ยนศูนย์กลางการระบาดมาเป็นชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างไร