ถึงเวลายุโรปต้องเลือก “สู้กลับ”หรือ“จับมือ”ค่ายรถอีวีจีน

ถึงเวลายุโรปต้องเลือก “สู้กลับ”หรือ“จับมือ”ค่ายรถอีวีจีน

รถไฟฟ้า หรือรถอีวีกำลังเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจในอุตสาหกรรมยานยนต์โลก จากหลายทศวรรษที่ผ่านมา ที่ตลาดรถยนต์จีนถูกครอบงำด้วยแบรนด์รถยนต์ดังจากต่างชาติ

นิกเคอิ เอเชียนำเสนอรายงานว่าด้วยเรื่อง ยุโรปกำลังเผชิญหน้ากับความเป็นเจ้าตลาดรถขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าทั้งคัน(อีวี)ของค่ายรถจีน ขณะเดียวกันก็ต้องดำเนินการตามแผนงานต่างๆเพื่อบรรลุเป้าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ศูนย์เปอร์เซนต์ในช่วงที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนทัวร์ 3 ชาติยุโรปในสัปดาห์ก่อน ทำให้ค่ายรถยุโรปมีทางเลือกสองทางคือ สู้กลับ หรือร่วมทีมกับบรรดาค่ายรถจีนที่เป็นคู่แข่ง

ประธานาธิบดีสี เดินทางถึงกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นที่แรกเมื่อวันอาทิตย์(5 พ.ค.)มีเป้าหมายเพื่อบรรเทาความสัมพันธ์ทางการค้าที่ตึงเครียดระหว่างกันในช่วงที่หลายประเทศของยุโรประแวงจึนมากขึ้นเรื่อยๆ และในการทัวร์ 3 ประเทศยุโรปครั้งนี้ ผู้นำจีนเดินทางมาพร้อมกับบรรดาตัวแทนระดับสูงในภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า ทั้ง เอนวิชัน กรุ๊ป,SAIC Motor และ

Xpeng Motors ถือเป็นการทัวร์เพื่อชอปปิ้งสำหรับค่ายรถจีน ส่วนค่ายรถยุโรปก็ถือเป็นโอกาสเหมาะที่จะได้พูดคุยกับบรรดาค่ายรถจีนในช่วงเวลาสั้นๆ

ทั้งนี้ การนำเข้ารถอีวีจากจีนในยุโรปเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยจีนผลิตรถประมาณ 60% ของการผลิตรถอีวีโดยรวมทั่วโลกในปี 2565 ยุโรป และยุโรปก็เปิดกว้างรับการลงทุนจากจีนในอุตสาหกรรมยานยนต์ “เราอยากให้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทึนในฝรั่งเศสมากขึ้น” ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส กล่าวระหว่างให้การต้อนรับการมาเยือนของประธานาธิบดีสีอย่างเป็นทางการเมื่อวันจันทร์(6 พ.ค.) 

ก่อนที่ประธานาธิบดีสีจะเดินทางถึงกรุงปารีสไม่นาน กระทรวงเศรษฐกิจของฝรั่่งเศส ประกาศเป้าหมายอันทะเยอทะยานว่าจะเพิ่มยอดขายรถอีวีฝรั่งเศสให้ได้ 4 เท่าเป็น 800,000  คันภายในปี 2570 เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ของยุโรปเริ่มตื่นตัวที่จะแข่งขันกับอุตสาหกรรมยานยนต์อีวีของจีนที่ตอนนี้กำลังเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์โลก      

การเคลื่อนไหวนี้ยังตอกย้ำว่ารถไฟฟ้ากำลังเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจในอุตสาหกรรมยานยนต์โลก จากหลายทศวรรษที่ผ่านมา ที่ตลาดรถยนต์จีนถูกครอบงำด้วยแบรนด์รถยนต์ดังจากต่างชาติ ส่วนใหญ่จากสหภาพยุโรป (อียู)แต่ตอนนี้ บริบทในการสนทนาเปลี่ยนไปจากเดิมจากที่ว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ล้าหลังของจีนจะเอาตัวรอดได้อย่างไร มาเป็นค่ายรถยุโรปจะรับมืออย่างไรกับการคุกคามของรถอีวีจากจีน   

อียูตั้งเป้าแบนรถใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในปี 2578 จีนก็ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดรถอีวีอย่างเป็นทางการ พร้อมกับแผนเร่งผลิตและส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศ  และขณะที่ผู้บริโภคจำนวนมากหันไปใช้รถอีวี บรรดาค่ายรถยุโรปก็วิตกกังวลว่าจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในประเทศตนเอง 

ถึงเวลายุโรปต้องเลือก “สู้กลับ”หรือ“จับมือ”ค่ายรถอีวีจีน

ข้อมูลจาก Transport & Environment กลุ่มดูแลด้านนโยบายของภาคเอกชนที่มีฐานในยุโรป ระบุว่า รถยนต์แบรนด์จากจีนมีสัดส่วนแค่ 7.9% ของยอดขายรถไฟฟ้า-แบตเตอรีโดยรวมของอียูในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 0.4% ในปี 2562 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ส่วนแบ่งตลาดของค่ายรถจีนอาจจะขยายตัวถึง 20%  ภายในปี 2570

JATO Dynamics บริษัทให้บริการข้อมูลในอุตสาหกรรมยานยนต์ ระบุว่า  รถอีวีแบรนด์จีนในยุโรปมีราคาถูกกว่ารถยนต์แบรนด์ยุโรปโดยเฉลี่ย 24% 

“เมื่อเราพูดถึงเซกเมนท์ตลาดรถยนต์ที่ผลิตรถออกมาในปริมาณมาก ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับราคา และเมื่อดูราคารถยนต์จีนเทียบกับรถยนต์คู่แข่งในยุโรป จะเห็นชัดว่ามีข้อได้เปรียบด้านราคาอยู่มาก”เฟลิเป้ มูนอซ นักวิเคราะห์อาวุโสจาก  JATO Dynamics ให้ความเห็น

บรรดานักวิเคราะห์มองว่า การบรรลุเป้าหมายลดก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ของอียูอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก การเป็นเจ้าตลาดรถอีวีก่อนใครของจีนทำให้ได้เปรียบ และยากที่จะจินตนาการว่ายุโรปจะบรรลุเป้าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์โดยไม่พึ่งพาการนำเข้ารถอีวีจีน             

“ผมไม่คิดว่าตอนนี้ยุโรปจะมีเงินทุนที่จำเป็นและพัฒนารถอีวีได้โดยไม่ต้องพึ่งพาจีน ที่สำคัญในเรื่องของเทคโนโลยี เรายังตามหลังจีนอยู่”เกรกกอร์ เซบาสเตียน  นักวิเคราะห์อาวุโสจากโรเดียม กรุ๊ป กล่าว

แต่ยุโรปยังคงไม่ไว้วางใจเกี่ยวกับการหลั่งไหลเข้ามาอย่างมากมายของรถอีวีจีน ล่าสุด คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) เริ่มสอบสวนการให้เงินอุดหนุนค่ายรถอีวีของรัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งอาจนำไปสู่การเรียกเก็บภาษีรถอีวีในเดือนพ.ค.และอาจจะมีการจัดเก็บภาษีถาวรตามมาในเดือนพ.ย.

โรเดียม กรุ๊ป ระบุว่า นอกจากยุโรปจะนำเข้ารถอีวีจีนในปริมาณมากแล้ว ยุโรป ยังเป็นจุดหมายปลายทางใหญ่สุดสำหรับการลงทุนโดยตรง(เอฟดีไอ)ที่เกี่ยวข้องกับรถอีวีจีนในปี 2566 ด้วยมูลค่า 7.6 พันล้านดอลลาร์ เทียบกับปี 2565 ที่มียอดเอฟดีไอ 11.8 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นปีที่ CATL ลงทุน 7.3 พันล้านดอลลาร์ในโรงงานขนาดใหญ่ในฮังการี

“BYD, MG และค่ายรถอื่นๆอาจเป็นค่ายรถที่น่ากลัวในสายตาผู้ผลิตรถในยุโรป ถ้าพวกเขาเข้ามาเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมยานยนต์ยุโรปอย่างเป็นเรื่องเป็นราว”เบอร์นาร์ด จูเลียน นักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ให้ความเห็น 

หลายทศวรรษที่ผ่านมา บรรดาค่ายรถยุโรปลงทุนในจีนด้วยการเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทท้องถิ่นเพื่อเข้าถึงตลาด แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป บรรดาผู้ผลิตรถอีวีจีนผลิตรถอีวีในยุโรปสำหรับลูกค้ายุโรป

 “นักเรียนเก่งกว่าครูแล้วตอนนี้”มูนอซ กล่าว พร้อมทั้งเสริมว่า "ตอนนี้รถจีนเป็นรถที่ดีเทียบเท่าหรือมากกว่ารถยุโรปทั้งในแง่คุณภาพ ดีไซน์ ความน่าดึงดูดใจและราคา"

ถึงเวลายุโรปต้องเลือก “สู้กลับ”หรือ“จับมือ”ค่ายรถอีวีจีน