โอกาสสุดท้ายของ 'การบินไทย'

โอกาสสุดท้ายของ 'การบินไทย'

ความล้มเหลวการแก้ไขจัดการปัญหาใน "การบินไทย" ที่วันนี้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง ในบทความนี้จะพามาพิจารณาถึงแนวทางการฟื้นฟูสายการบินแห่งนี้ ที่หลายคนมักนำเอาคำว่า "สายการบินแห่งชาติ" มาปิดปากความพยายามใดๆ ในการเปลี่ยนสถานะของการบินไทย

ด้วยความจริงใจ ผมไม่มีความมุ่งร้ายใดๆ กับการบินไทย บินไปต่างประเทศแทบทุกครั้งหากเลือกได้จะเลือกการบินไทยแทบทุกครั้ง และมีทั้งคนที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นเพื่อนอยู่ในองค์กรนี้ตั้งแต่กรรมการบริหารไปกระทั่งพนักงานช่างเทคนิค ที่จำนวนมากยังอยู่ในไลน์ทักทายพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเป็นประจำ แต่ "ผลประโยชน์ของชาติ" ตามนิยามความหมายที่เราเรียนรู้มาตั้งแต่ศึกษาในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เป็นสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เหนือกว่าความเกรงใจ ความเอื้ออาทรและมิตรภาพ

ถ้าข้อมูลที่ได้รับมาไม่ถูกต้อง ขอโปรดให้อภัยที่แหล่งข่าวผมเชื่อถือไม่ได้ แต่ถ้าสิ่งที่ทราบมาเป็นความจริง ขอให้อ่านบทความด้วยความตั้งใจและถือตามวรรคแรกของบทความนี้โดยเคร่งครัด ผมทราบมานานพอสมควรว่าฝ่ายบริหารการบินไทยพยายามยื่นแผนฟื้นฟูหลายครั้งหลายครา

ดังที่ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้สัมภาษณ์สื่อถึงการที่แผนฟื้นฟูของการบินไทยยังไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เพราะนอกจากจำนวนเงินมหาศาลเพื่อกู้สถานะของการบินไทยแล้ว ยังมีผลสืบเนื่องมาจาก "ความไม่เสียสละ" ของคนบางส่วนในองค์กร เพราะเป็นไปได้อย่างไรที่เมื่อมีการฟื้นฟูแล้ว คนในองค์กรจะไม่บาดเจ็บ

แต่ที่ผ่านมาทราบว่าคนจำนวนหนึ่งค้านหัวชนฝา ไม่ยอมลดเงินเดือน ไม่ยอมให้กำหนดตำแหน่งใหม่ ไม่ยอมตัดสิทธิประโยชน์สวัสดิการทุกประการ ขอให้การฟื้นฟูทำไปโดยทุกอย่างที่ตนได้ยังต้องเหมือนเดิม ไม่อยากเห็นการบินไทยเหมือนรัฐวิสาหกิจบางแห่งในอดีตที่ล้มละลายแล้ว พนักงานยังไม่รู้สึกรู้สา เรียกร้องขอให้ขายทรัพย์สินเท่าที่เหลืออยู่มาชดเชยสิทธิประโยชน์ให้กับตนเอง

นั่นคือข้อมูลที่แหล่งข่าว ซึ่งอาจให้ข้อมูลไม่ถูกต้องหรือไม่ถูกใจหลายคน ได้กล่าวกับผมถึงปัญหาเรื้อรังที่ทับถมมานานแรมปี ดังที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า "ได้ให้เวลามากว่าห้าปีแล้ว แต่ยังทำไม่สำเร็จ และครั้งนี้จะเป็นโอกาสสุดท้ายของการบินไทย" (ตามโปรยหัวออนไลน์ของหนังสือพิมพ์หลายฉบับในวันที่ 5 พ.ค.)

ผมคงไม่ต้องสาธยายถึงความล้มเหลวในการแก้ไขจัดการปัญหาในการบินไทย ที่วันนี้เป็นที่รับรู้ของคนในประเทศและต่างประเทศอย่างไม่มีอะไรต้องปิดบังซ่อนเร้น แต่อยากจะนำพาท่านทั้งหลายไปพิจารณาแนวทางการฟื้นฟูที่จะทำให้สายการบินแห่งนี้ ที่หลายคนมักนำเอาคำว่า "สายการบินแห่งชาติ" มาปิดปากความพยายามใดๆ ในการเปลี่ยนสถานะของการบินไทย

แต่ในทัศนะของผม ขอให้ท่านทั้งหลายย้อนไปดูการแก้ปัญหาของบริติชแอร์เวย์ เจแปนแอร์ไลน์ กระทั่งสิงคโปร์แอร์ไลน์ ที่อดีตนายกรัฐมนตรีลี กวน ยู ใช้ความแข็งกร้าวในการแก้ปัญหา เพราะความรั่วไหล การมีกลุ่มก๊วนผู้มีอำนาจอิทธิพล แหล่งแสวงผลประโยชน์ของใครหลายคน เป็นสิ่งที่ประเทศสิงคโปร์ประสบพบเจอมาก่อน และนายกรัฐมนตรีลี ถึงกับประกาศว่า "ถ้าพวกคุณไม่ยอมปฏิรูปตัวเองตามสิ่งที่ได้แนะนำไป เขาจะเป็นคนที่เข้าไปปฏิรูปด้วยตัวเขาเอง และให้ระลึกว่าพนักงานของสิงคโปร์แอร์ไลน์จะต้องเจอสิ่งที่ต้องเจ็บปวดมากกว่าที่เขาเสนอไป"

ผมอาจแปลความได้ไม่ครบถ้วน แต่ผ่านตาข้อความนี้ในสารคดีว่าด้วยการแก้ไขปัญหาวิกฤติของสิงคโปร์แอร์ไลน์ซึ่งมีปัญหาละม้ายคล้ายคลึงกับสายการบินไทยของเราชนิดเกือบถอดรูปมาจากบล็อกเดียวกัน ผมไม่เชื่อว่าเงินกู้จำนวนหลายหมื่นล้านที่เตรียมไว้สำหรับรองรับการฟื้นฟูสถานะทางการเงินของการบินไทยในคราวนี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้การบินไทยพ้นวิกฤติได้

ไม่จำเป็นต้องบอกว่าเงินเหล่านี้เป็นเงินของพวกเรา เราคงไม่ปริปากใดๆ ถ้ารู้ว่าหนทางข้างหน้าราบเรียบไม่มีอุปสรรคใดๆ มาทำให้การบินไทยต้องทรุดลงไปอีก แต่ต้องตระหนักว่าข้อเท็จจริงของการเตรียมการฟื้นฟูการบินไทยมีมาก่อนเหตุการณ์โรคระบาดโควิด-19 เพียงแต่ถูกคั่นด้วยการเข้ามาป่วน หรือ disrupted โดย "โรคระบาดนำเข้า" ที่ว่านี้

แต่ยิ่งเมื่อเรามองเห็น "วิถีชีวิตใหม่ (new normalcy)" ที่สายการบินทั่วโลกต้องเผชิญทั้งระบบ fit to fly กระบวนการจัด social distancing บนเครื่องบินที่จะส่งผลให้สายการบินไม่สามารถขายที่นั่งจำนวนมากในเที่ยวบินแต่ละครั้งได้ ยิ่งเป็นแรงกดดันให้ที่มาของรายได้ การจะแตกลูกบริษัทไปแสวงหาเงินมาจากการขายอาหาร ของที่ระลึก หรือระบบโลจิสติกส์ที่มีเอกชนรายอื่นทำอยู่ก่อนแล้วเป็นเรื่องยากยิ่งสำหรับการปรับตัวครั้งใหญ่ของการบินไทย

จึงมีหนทางที่อาจเห็นแสงสว่างอยู่รำไร ตรงที่จดหมายหลายฉบับของนายกรัฐมนตรีที่ได้ส่งตรงไปยังภาคเอกชนผู้มีศักยภาพทั้งหลาย เท่าที่ทราบมาไม่มีรายใดเสนอตัวที่จะเข้ามาช้อนซื้อการบินไทยเป็นบริษัทในเครือแม้แต่รายเดียว

แม้ว่าผมจะไม่ได้รับหนังสือจากท่านนายกรัฐมนตรี แต่ขออาสาที่จะเสนอให้พิจารณาว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องการคงไม่ใช่เม็ดเงินเป็นหลัก แต่ต้องการให้นำศักยภาพประสบการณ์ในการแก้ปัญหาต่างๆ ในเชิงบริหารของท่านทั้งหลายที่เป็นแถวหน้าของประเทศมาใช้กับวิกฤตการณ์ครั้งนี้

ดังนั้น ถ้าภาคเอกชนจะทำเพื่อ "ผลประโยชน์แห่งชาติ" ด้วยกันรวมตัวกันระดมความคิด ระดมสมอง หรือร่วมกันตั้งกองทุนที่จะเข้ามาบริหารแก้ไของค์การในกำกับของรัฐ ที่มีทั้งการบินไทย รัฐวิสาหกิจที่ไม่มีมูลค่าเพิ่ม และไม่มีข้อจำกัดเรื่องความมั่นคง มาบริหารจัดการในรูปแบบกองทุนขนาดใหญ่ของชาติขึ้นเป็นครั้งแรก ด้วยกำลังคน กำลังความคิดที่ท่านทั้งหลายมี

โดยการบินไทย และรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ไม่จำเป็นต้อง "เป็นวิสาหกิจแห่งชาติในกำกับของรัฐ" อีกต่อไป ตราบเท่าที่คนไทยด้วยกันเองเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ น่าจะเป็นสิ่งที่เราอยากเห็นเป็นรูปธรรม มากกว่าการที่ท่านประกาศจะบริจาคเงินเท่านั้นเท่านี้ ถ้าท่านทำเพื่อชาติได้สำเร็จครั้งนี้ จะเป็นโมเดลหรือตัวอย่างให้ชาติทั้งหลายในโลกได้เห็นถึงความเสียสละ ความรักชาติบ้านเมืองของคนไทยจากก้นบึ้งของหัวจิตหัวใจโดยแท้