‘เกษตรกร’ รอลุ้น ‘เงินกู้’ ดอกเบี้ยติดลบ สมคิด เตรียมชง ครม.สัปดาห์หน้า

‘เกษตรกร’ รอลุ้น ‘เงินกู้’ ดอกเบี้ยติดลบ สมคิด เตรียมชง ครม.สัปดาห์หน้า

สมคิด ชงไอเดีย สนับสนุน "เกษตรกร" Smart Farmer ปล่อย "เงินกู้" พิเศษ แบบดอกเบี้ยติดลบ ด้าน ธ.ก.ส. เตรียมวงเงินสินเชื่อ 4.8 แสนล้านหนุนพัฒนาภาคการเกษตร หวังฟื้นฟูภาคเกษตรหลังจบโควิด-19 คาดเข้าครม.ได้สัปดาห์หน้า

วันนี้ (8 พ.ค.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมแนวทางการฟื้นฟูเกษตรกรหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่(โควิด-19) โดยกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในขณะนี้และไตรมาสที่ผ่านมาขยายตัวไม่ดีนัก ส่วนไตรมาสหน้าจะเป็นไตรมาสที่ได้รับผลกระทบจากโควิดแบบเต็มที่ ฉะนั้น ในภาวะที่เกิดวิกฤตเช่นนี้ จึงเหลือเศรษฐกิจในประเทศเท่านั้นที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจ ดังนั้น รัฐบาลจึงมีโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นให้กลับมาเข้มแข็ง

ทั้งนี้ ตนมอง 3 แนวทางที่จะเป็นแกนในการพัฒนาเศรษฐกิจ คือ 1.การสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็ง 2.การนำระบบดิจิทัลมาช่วยสร้างฐานข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย และ3.การสร้าง Regional Hub ให้มีความเข้มแข็ง

"เราต้องทำโครงการนี้ไว้รองรับกรณีจบโควิด-19 ตั้งเป้าหมายว่า เม็ดเงินในโครงการฟื้นฟูเกษตรกรดังกล่าว จะต้องลงไปท้องถิ่นในเดือนหน้าเลย โดยสัปดาห์หน้าคาดว่า จะนำเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรีได้"

เขากล่าวว่า การพัฒนาเกษตรกร ตามที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เสนอมามี 3 ก้อนใหญ่ คือ ก้อนแรก การสร้างความมั่นคงทางอาหาร, การสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจชุมชน และการสร้างความยั่งยืนเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งผู้จัดการสาขาของธ.ก.ส.ทั่วประเทศ จะต้องเป็นผู้จัดการโครงการในแต่ละเขตนั้นๆ

นอกจากนี้ การสนับสนุนภาคการเกษตร โดยเฉพาะที่เป็น Smart Farmer ซึ่งถือว่าเป็นหัวขบวนของการพัฒนาภาคการเกษตร อาจต้องให้ ธ.ก.ส.ไปคิดว่า จะคิดดอกเบี้ยอย่างไร ไม่ใช่การคิดดอกเบี้ยต่ำ แต่เป็นแบบ "ดอกเบี้ยติดลบ"

เช่น อาจเป็นในรูปของการสนับสนุนค่าปุ๋ย หรืออื่นๆ ก็ได้ เพราะถือว่า Smart farmer เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญ สามารถจ้างงานได้เพิ่มขึ้นภาคการเกษตร โดยรัฐอาจต้องสนับสนุนหรือชดเชยดอกเบี้ยให้

เขากล่าวอีกว่า โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน 4 แสนล้านบาทดังกล่าว จะต้องมีแผนที่ปฏิบัติได้ และมีขั้นตอนโดยเริ่มจากการนำคนมาฝึกอบรม ซึ่งเราจะให้เงินเป็นค่าจ้างให้คนมาอบรมด้วย เพื่อให้คนเหล่านั้นมีรายได้ และหลังจากอบรมแล้วจะตามมาด้วยการสนับสนุนสินเชื่อ และหาตลาดให้

สำหรับการหาตลาดนั้น เขากล่าวว่า อยากให้บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ซึ่งมีปั๊มน้ำมันอยู่ทั่วประเทศมาช่วยขายสินค้าการเกษตร เช่น แทนที่จะเติมน้ำมันแล้วแถมน้ำดื่ม อาจเป็นการให้ผลไม้แทน ซึ่งอยากให้ ปตท. รีวิวมิชชั่นของ ปตท.ใหม่ โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)กล่าวว่า จากการคาดการณ์ของหอการค้าไทยที่คาดว่าผลกระทบจากโควิด จะมีคนตกงาน 7.1 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ ธ.ก.ส.ประเมินว่า น่าจะกลับชนบทราว 1.87 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกันกับตัวเลขที่เกษตรกรมายื่นกู้ฉุกเฉินกับธ.ก.ส.

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.จะเสนอของบประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท จาก พรก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อทำโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากตามแนวหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและธุรกิจชุมชนสร้างไทย

นอกจากนี้ ธ.ก.ส.จะเตรียมสินเชื่อ 4.8 แสนล้านบาท เพื่อช่วยพัฒนาภาคการเกษตร ซึ่งส่วนหนึ่งได้ให้สินเชื่อออกไปแล้ว คือ สินเชื่อฉุกเฉิน สำหรับคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท, สินเชื่อ New Gen ฮักบ้านเกิด วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท และ สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เป็นต้น

ด้าน นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเผยว่า ได้มอบนโยบายแก่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังไปคิดแนวทางการจัดตั้งกองทุนมากองทุนหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในกลุ่มที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุน หรือ เรียกว่า "เอสเอ็มอีชายขอบ" โดยกองทุนนี้ จะใช้แหล่งเงินมาจากการกู้เงินในพ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาทดังกล่าว ส่วนขนาดกองทุนจะมีจำนวนเท่าใดอยู่ระหว่างการศึกษา