เกษตรกร 4 หมื่นรายเฮ 'จุรินทร์'สั่งพักหนี้'กองทุนฟื้นฟู'

เกษตรกร 4 หมื่นรายเฮ 'จุรินทร์'สั่งพักหนี้'กองทุนฟื้นฟู'

"จุรินทร์" สั่งกองทุนฟื้นฟูฯแก้ระเบียบเพื่อออกมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรบรรเทาผลกระทบโควิด19 พักหนี้ 1 ปีช่วยลูกหนี้ 4.5 หมื่นราย

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2563 ที่ผ่านมานายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยที่ประชุมพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรลูกหนี้กองทุนฟื้นฟูฯซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19)  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้คืนกับกองทุนฟื้นฟูฯตามสัญญาเช่าซื้อ และสัญญาเงินกู้ รวมถึงองค์กรเกษตรกรที่ได้รับเงินกู้ในการฟื้นฟูอาชีพขององค์กรเกษตรกรที่กำลังอยู่ระหว่างการชำระหนี้คืน ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 ทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน 

ทั้งนี้เพื่อให้สามารถช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้โดยเร็วนายจุรินทร์ จึงสั่งการให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯแก้ระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สองฉบับโดยเร็วที่สุด เพื่อให้คณะกรรมการกองทุนฯสามารถออกมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้กองทุนฯ ได้เนื่องจากระเบียบปัจจุบันไม่ได้กำหนดอำนาจเรื่องการลดและงดเก็บเงินต้นหรือดอกเบี้ย ระบุแต่เพียงการขยายเวลาการชำระคืนเงินกู้ยืมและจ่ายดอกเบี้ยออกไป

โดยที่ประชุมฯเห็นชอบในมาตรการพักชำระหนี้และดอกเบี้ยจากหนี้ทั้งส่วนที่สามาชิกกู้ยืมจากกองทุนฯและหนี้ที่สมาชิกกู้ยืมผ่านองค์กรการเกษตรที่เป็นสมาชิกของกองทุน โดยเบื้องต้นมาตรการพักชำระหนี้จะมีระยะเวลา 1 ปี ครอบคลุมสมาชิกกว่า 4.5 หมื่นรายทั่วประเทศ 

อย่างไรก็ตามในการประชุมครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้ารองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ได้สั่งการให้มีการกำหนดระเบียบใหม่และยกร่างเป็นที่เรียบร้อย เพื่อจะได้พิจารณาออกมาตรการพักชำระหนี้ และมาตรการอื่นผ่านองค์กรเกษตรที่จะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯในการประกอบอาชีพอีก 20,000 ราย ก่อนที่จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบต่อไป 

“ที่ประชุมฯหารือว่าการพักหนี้ในระยะเวลา 1 ปีถือว่าเหมาะสม เพราะผลกระทบจากโควิด-19 กินระยะเวลานานหลายเดือน และกว่าที่สมาชิกของกองทุนจะสามารถกลับมามีรายได้ได้ตามปกติ ก็จะใช้ระยะเวลาอีกนานพอสมควร การลดภาระหนี้สินในช่วงเวลานี้จะเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฯได้ในระดับหนึ่ง” นางสาวรัชดากล่าว