“บิ๊กตู่” ย่องพบสมาคม “แอตต้า” รับฟังปัญหา-ข้อเสนอแนะ หลังโควิดทุบท่องเที่ยวไทยอ่วม 3 เดือน

“บิ๊กตู่” ย่องพบสมาคม “แอตต้า” รับฟังปัญหา-ข้อเสนอแนะ หลังโควิดทุบท่องเที่ยวไทยอ่วม 3 เดือน

“บิ๊กตู่” ย่องพบสมาคม “แอตต้า” รับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวโดยตรง หลังท่องเที่ยวไทยซมพิษโควิดนานกว่า 3 เดือน

นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า เมื่อเวลา 15.00 น. ของวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เดินทางมายังสำนักงานของสมาคมฯ ที่อาคารวอลล์สตรีททาวเวอร์ ถนนสุรวงศ์ กรุงเทพฯ เพื่อประชุมร่วมกับคณะกรรมการสมาคมฯ รับฟังสถานการณ์ของธุรกิจท่องเที่ยว ความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ จนถึงข้อเสนอแนะด้วยตัวท่านเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเดินทางไปพบแอตต้าถือเป็นสมาคมธุรกิจแห่งแรกที่นายกฯได้รับฟังปัญหาโดยตรงเป็นการส่วนตัว มีผู้ติดตามไม่กี่คน และแจ้งการมาพบล่วงหน้าเพียง 1 วัน ใช้เวลาหารือร่วม 1 ชั่วโมง สำหรับข้อเสนอของคณะกรรมการแอตต้าที่มีต่อนายกฯ ประกอบด้วย 1.ขอให้รัฐบาลพิจารณาขยายการจ่ายเงินชดเชยการว่างงานให้กับลูกจ้างในธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวที่ต้องปิดกิจการชั่วคราวจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวันออกไปมากกว่า 3 เดือน ในกรณีที่เมื่อผ่านช่วง 3 เดือนนี้ไปแล้ว ธุรกิจท่องเที่ยวยังไม่สามารถฟื้นกลับมาได้ เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเดินทางเป็นปกติเมื่อใด

2.ขอให้รัฐบาลพิจารณาเพิ่มวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ให้ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นการเฉพาะอีก 10,000 ล้านบาท เพิ่มเติมจากที่ธนาคารออมสินจัดมาให้แล้ว 10,000 ล้านบาท เนื่องจากยังไม่เพียงพอ 3.การท่องเที่ยวภายในประเทศจะฟื้นตัวก่อน และมีเพียงภาครัฐที่มีเงิน จึงขอให้นายกฯพิจารณาให้ส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการจัดประชุมสัมมนาหรือท่องเที่ยว ใช้บริการผ่านบริษัททัวร์แทนการจัดกันเอง และขอให้กรมบัญชีกลางปรับแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างและการใช้เอกสารหลักฐานในการเบิกเงิน

และ 4.ขอให้รัฐบาลพิจารณายกเว้นหรือลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% สำหรับธุรกิจท่องเที่ยวที่นำคนต่างชาติมาเที่ยวไทย (อินบาวด์) และนำคนไทยไปต่างประเทศ (เอาท์บาวด์) เพื่อให้บริษัทนำเที่ยวทั้งหมดเลิกทำบัญชีสองเล่มและเข้ามาอยู่ในระบบ เนื่องจากระบบการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับการทำธุรกิจท่องเที่ยวที่รับเงินก้อนใหญ่ แต่กำไรน้อย เพราะต้องนำไปเป็นค่าใช้จ่ายส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่าอาหาร ค่าเดินทางทั้งเครื่องบิน รถยนต์ ซึ่งหลายส่วนไม่มีใบเสร็จที่จะนำมาหักภาษีได้ บริษัทนำเที่ยวจึงมักทำบัญชีสองเล่ม เมื่อเกิดวิกฤติขึ้นมาเช่นตอนนี้จึงมีปัญหา ไม่สามารถไปกู้เงินมาเสริมสภาพคล่องได้ เพราะไม่อยู่ในระบบ

++++++++++