บิ๊กบจ.ล็อกเงินทุนยาว ทยอยออกหุ้นกู้จูงใจดอกเบี้ย

บิ๊กบจ.ล็อกเงินทุนยาว  ทยอยออกหุ้นกู้จูงใจดอกเบี้ย

กระแสเงินสดในการดำเนินุรกิจ ถือ ว่าเป็น เส้นเลือดที่จะให้สะดุดหรือขาดไม่ได้สำหรับบริษัท เพราะจะเกิดปัญหาทั้งการดำเนินธุรกิจ การชำระหนี้ และเครดิตตามมา ซึ่งผลจากการล็อกดาวน์บ้างธุรกิจ จำกัดเวลาหรือเคอร์ฟิว

ทำให้หลายธุรกิจขาดสภาพคล่อง เงินสดจากการดำเนินธุรกิจไม่เพียงพอกับรายจ่าย

ยิ่งในช่วงที่ตลาดตรสารหนี้มีความอ่อนไหวจากปัญหา ‘แพนิค’ เทขายกองทุนตราสารหนี้ออกมา จนทำให้ต้องมีการขายตราสารหนี้เรตติ้งดีๆ ทุกราคาเพื่อนำเงินคืนผู้ถือหน่วยลงทุน และเป็นที่มาทำให้แบงก์ชาติและหน่วยงานภาคตลาดทุนต้องตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (BSF) มูลค่า 4 แสนล้านบาท เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกลุ่มหุ้นกู้ครบกำหนดปี 2563 และมีเรตติ้งไม่ต่ำกว่าการลงทุนออกมา

ด้วยมูลค่าตลาดตราสารหนี้ตามข้อมูลสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA ) ระบุมีมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทยถึง 83 % ต่อจีดีพี มีการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันกว่า 9 หมื่นล้านบาท มีมูลค่าการออกหุ้นกู้เกือบ 1 ล้านล้านบาทต่อปี

ปี 2563 สถานการณ์ออกหุ้นกู้ช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่าการออกอยู่ที่ 8.7 หมื่นล้านบาท ลดลงประมาณ 23% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ 1.13 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหุ้นกู้ที่ต้องต่ออายุ (roll over) มีอยู่แค่ 1.6 หมื่นล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่มีกว่า 6.2 หมื่นล้านบาท

รวมทั้งไตรมาสแรกปีนี้ คาดยอดออกหุ้นกู้อาจจะน้อยกว่าปีที่แล้วที่มีมูลค่าทั้งสิ้น 2.49 แสนล้านบาท เนื่องจากปีก่อนมีบริษัทใหญ่ ๆ แห่ออกหุ้นกู้ช่วงนี้ค่อนข้างมาก ส่งผลทำให้ภาพทั้งปีนี้การออกหุ้นกู้ก็คงลดลงจากปีที่แล้วทำสถิติมากถึง 1.08 ล้านล้านบาท

ปัจจัยสำคัญมาจากแนวโน้มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น ท่องเที่ยว สายการบิน และอสังหาฯ ทำให้นักลงทุนระมัดระวัง และเน้นถือเงินสดมากกว่าจะนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ยังมีแนวโน้มธุรกิจไม่ดี

จากข้อมูลรวบรวมของ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน ระบุมีหุ้นกู้ที่มีการไถ่ถอนปีนี้ตั้งแต่เดือน พ.ค. – ธ.ค. รวม 4.19 แสนล้านบาท เฉพาะเดือนพ.ค. มีหุ้นกู้ไถ่ถอน 72,900 ล้านบาท

หากปรียบเทียบจากการวัดระดับเครดิตเรตติ้งในเดือนพ.ค.แล้วต่ำกว่าเกณฑ์ลงทุนหรือตั้งแต่ BBB+ มีมูลค่าประมาณ 9,200 ล้านบาท ซึ่งในกลุ่มนี้หากเกิดปัญหาสภาพคล่องธุรกิจสะดุดอาจจะมีผลต่อเนื่องมายังหุ้นได้ทันที

อย่างไรก็ตามในกรณีที่ธุรกิจไม่มีปัญหาสภาพคล่อง และมีแหล่งเงินทุน วงเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์รองรับ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบิ๊กคอร์ปอเรท ซึ่งได้เครดิตเรทติ้งที่สูงและมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน ทำให้ต้องออกหุ้นกู้ออกมาเพื่อล็อกเงินทุนและต้นทุนของตัวเองเอาไว้

โดยมีวัตถุประสงค์ส่วนใหญ่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมที่ครบกำหนด และนำเงินบางส่วนไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือระยะเวลาการออกขายชนหุ้นกู้มีอายุยาวขึ้น และจูงใจด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยฝากเงิน

ซึ่งยักษ์ใหญ่อาหารส่งออกบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ให้นักลงทุนสถาบันและรายใหญ่ 4 ชุด อายุ 4 – 15 ปี อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ 2.80 % - 4  %ตามอายุของหุ้นกู้  

หรือกลุ่ม ปตท. ที่เริ่มทยอยออกหุ้นกู้ระยะยาว บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ขอมติผู้ถือหุ้นออกหุ้นกู้ สกุลเงินบาท และ/หรือสกุลเงินตราต่างประเทศ ไม่เกิน 4,000 ล้านดอลลาร์ ภายในระยะเวลา 5 ปี (ปี 2563 -2567)และ บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ขอมติผู้ถือหุ้นออกและเสนอขายหุ้นกู้วงเงิน 2,000 ลา้นดอลลาร์  เพื่อใช้ เป็นเงินทุนระยะยาวในการลงทุน การขยายธุรกิจ และชำระหนี้

หลังจากที่ผ่านมาเริ่มมีบางบริษัทเสนอขายหุ้นกู้แล้วไม่สามารถได้ครบตามวงเงิน ไม่ว่าจะเป็น บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN เสนอขายหุ้นกู้ 4,000 ล้านบาท ระหว่าง 30 มี.ค. -1 เม.ย. ผู้จองซื้อ 1,169.90 ล้านบาท หรือบริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOBLE เสนอขายหุ้นกู้ 1,500 ล้านบาท ระหว่าง 7-9 เม.ย. ปิดการขายได้ที่ 480 ล้านบาท เป็นต้น

ภาวะดังกล่าวทำให้เกิดการล็อกเงินทุนของคอร์ปอเรท เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคที่วันนี้ถูกพิษโควิด-19 พลิกโฉมไปทั่วโลก