หุ้น ‘บินไทย’ บวกทะลุ 100 % แผนฟื้นฟูแก้องค์กรติดหล่ม

หุ้น ‘บินไทย’ บวกทะลุ 100 %  แผนฟื้นฟูแก้องค์กรติดหล่ม

การลงทุนไม่มีอะไรที่แน่นอนหุ้นที่ถูกกระหน่ำเทขาย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI จากข่าวร้ายที่มีผลต่อสภาพคล่องของบริษัทจะเข้าขั้นอาจต้องล้มละลายเต็มรูปแบบ 

วันนี้ราคาหุ้นสามารถปรับตัวบวกอย่างต่อเนื่องสร้างกลับสร้างผลกำไรให้นักลงทุนที่ชอบเสี่ยง เล่นเร็ว ได้เป็นอย่างดี

ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น THAI จากปี 2562 ปิดที่ 6.85 บาท ลดลงจากเคยขึ้นไปซื้อขายที่ 12-13 บาท ด้วยผลประกอบการที่ขาดทุนยังไม่ดีขึ้น และยังมีการแข่ขันที่รุนแรงด้านราคาตั๋ว จนปี 2563 เกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลกมีการประกาศปิดประเทศ ทำให้สายการบินกระทบจากการยกเลิกเส้นทางบินบ้างประเทศ

จนเดือนปลายก.พ. จนถึงต้นมี.ค.ไทยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นจนภาครัฐต้องประกาศพ.ร.ก. ฉุกเฉิน ตามมาด้วยเคอร์ฟิวและล็อกดาวน์ธุรกิจที่ให้บริการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ส่งผลทำให้สายการบินถูกตัดรายได้ทันที จนต้องมีการประกาศหยุดบินให้บริการชั่วคราวตามมา

พร้อมกับข่าวลือที่กลายเป็นจริง เมื่อ พนักงาน THAI แห่ไปไถ่ถอนเงินออกจากสหกรณ์เพราะกลัวบริษัทจะล้มละลาย จนทำให้ราคาหุ้นร่วงหนักมาทำจุดต่ำสุดที่ 2.84 บาท (26 มี.ค.) เท่ากับราคาหุ้นปรับตัวลดลง 58.54 % จากต้นปี

ประเด็นดังกล่าวนำไปสู่การประกาศอุ้มสายการบินแห่งชาติจากผู้ถือหุ้น หรือกระทรวงการคลัง พร้อมข่าวที่ออกมาเป็นระรอก ทั้งการเพิ่มทุนมูลค่า 70,000-80,000 ล้านบาท มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น

การดึงรัฐวิสาหกิจที่มีกำไร ฐานะการเงินดีเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหม่ การขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักออกไป พร้อมกับอ้างถึง ‘เจ้าสัว’ รายใหญ่สนใจเข้าซื้อกิจการ หรือการเข้ามาไล่ซื้อหุ้นของทุนใหม่ที่ต้องการเก็บหุ้นในกระดาน

วันนี้แม้จะยังไม่มีการยืนยันข่าวดังกล่าว แต่สัญญาณชัดเจนคือการเข้าไปช่วยเหลือทางการเงินในรอบนี้ ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อแลกกับการอยู่รอดขององค์กร จึงทำให้ราคาหุ้น THAI จากที่ต่ำสุดภายในเดือนเม.ย. ราคาหุ้นทำราคาสูงสุดถึง 7.20 บาท (27 เม.ย) เทียบแล้วราคาหุ้นกลับขึ้นมาในรอบนี้ 153.52 % จากราคาต่ำสุด

การขยับขึ้นของราคาในรอบนี้ตอบรับแผนฟื้นฟูที่จะเคาะลงตัวในการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) วันที่ 29 เม.ย. นี้ สิ่งที่น่าสนใจคือแผนดังกล่าว มีความยินยอมพร้อมใจจากคนภายในองค์กร เพราะจากที่ผ่านมาแม้จะมีการเปลี่ยนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ไปกี่คนแต่ก็ยังไม่สามารถจัดการปัญหาต้นทุนล้น คนเกินจำเป็น หรือการให้สิทธิผลประโยชน์ที่ไม่ได้ก่อรายได้ให้องค์กรลดลงไปได้

รอบนี้หากต้องมีใส่เงินเข้าไปผ่านรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือรายใหม่ รวมทั้งการกู้เงินมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน มูลค่าเกือบแสนล้านบาท ผ่านความยินยอมให้มีการปรับลดขนาดองค์กรให้เล็กลงเหมาะกับการสถานการณ์ปัจจุบัน

ทั้งการยุบทิ้งหรือลดขนาดส่วนงานที่ไม่สร้างรายได้ ส่วนพนักงานหากมีบุคคลากรมากกว่าเนื้องานที่รับผิดชอบสามารถปรับได้ทันที และตัดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่มีอยู่ในองค์กรเพื่อให้ผ่านวิกฤติไปให้ได้

หากแผนดังกล่าวเป็นจริงจะทำให้การบินไทยสามารถปลดภาระหนักที่แบกมาตลอดลงได้อย่างเด็ดขาด ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาสายการบินแห่งชาติเจแปน แอร์ไลน์ หรือ JAL มีอาการไม่ต่างจากการบินไทย เป็นรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนมาตลอดมีหนี้สูง 7 แสนล้านบา จำนวนพนักงาน 50,000 บริหารงานสวนทางกับพฤติกรรมผู้บริโภค และไม่มีใครเชื่อว่าจะ ล้มละลาย

จนปี 2553 JAL ประกาศยื่นล้มละลายและเข้าสู่กระบวนการคุ้มครอง ช่วงเวลานั้นมีการผ่าตัดองค์กรขนานใหญ่ที่สำคัญมีการปรับทัศนคติการให้บริการและยุทธ์ใหม่ภายในองค์กร จนสามารถกลับมามีกำไรได้ปี 2560

‘การบินไทย’ ในวันนี้มีโอกาสที่จะเดินตามซ้ำรอย JAL ขึ้นอยู่ที่การดำเนินการจริงจังในการทำโอกาสจากวิกฤติในครั้งนี้