สธ.หวั่น 'โควิด-19' ซ้ำรอย 'วิกฤติต้มยำกุ้ง' อัตราฆ่าตัวตายเพิ่ม

สธ.หวั่น 'โควิด-19' ซ้ำรอย 'วิกฤติต้มยำกุ้ง' อัตราฆ่าตัวตายเพิ่ม

สธ.ห่วงคน 4 กลุ่มช่วงโควิด -19 เสี่ยงเครียดเรื้อรัง ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย ช่วงมี.ค.คนแห่โทรสายด่วน 1323เพิ่มขึ้น 15 เท่า หวั่นซ้ำรอยวิกฤติต้มยำกุ้งอัตราฆ่าตัวตายเพิ่ม 2 ต่อแสนประชากร เปิดตัวแอพพลิเคชั่น“mental health check up”ช่วยคนไทยประเมินความเครียด

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 22 เมษายน 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) กล่าวว่า ผลกระทบทางสุขภาพจิตจากการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 แบ่งคนไว้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ถูกกักกัน ผู้ติดเชื้อโควิด 2.กลุ่มเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต โดย 2 กลุ่มนี้อาจะจะถูกตีตราจากสังคม 3.บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานด้านการติดโควิด-19 ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการให้การดูแลผู้ป่วยแล้วผลไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ เช่น ผู้ป่วยจะดีขึ้นแต่กลับกลายเป็นเสียชีวิต หรือมีโอกาสติดเชื้อ เป็นความเครียดที่เกิดขึ้น อาจทำให้เกิดภาวะหมดไปในการทำงาน และ4.ประชาชนทั่วไป / ชุมชน ติดตามสถานการณ์ ข้อมูลโรคโควิด ทำให้เครียดเกิดขึ้น ซึ่ง 4 กลุ่มนี้สามารถที่จะมีความเครียดเรื้อรัง หรือโอกาสเป็นโรคซึมเศร้า และสุดท้ายอาจไปถึงการฆ่าตัวตายได้ในที่สุด 

สำหรับการให้คำปรึกษาผ่านสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 กับโควิด-19 พบว่าในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. 2563 ยังมีน้อยอยู่ที่เดือนละ 20 , 39 สายตามลำดับ แต่แต่เดือนมี.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์โควิดพบผู้ป่วยมากขึ้นนั้น มีการโทรรับคำปรึกษา 600 สาย เพิ่มขึ้น 15 เท่า และเดือนเม.ย.ครึ่งเดือนโทรปรึกษาแล้ว 315 สาย โดย 3 อันดับแรกที่มีการปรึกษา คือ เครียดวิตกกังวลั 51.85% ผู้ป่วยจิตเวชเดิม 37.99 % และสอบถามข้อมูล 6.57 % 

นายสาธิต กล่าวอีกว่า กรมสุขภาพจิตได้จัดทำคู่มือการดูแลสุขภาพจิตใจของบุคลากรและประชาชนทั่วไปโดยการแบ่งเป็น 4 สร้าง 2 ใช้ เพื่อดูแลรักษาจิตใจ ความเครียดวิตกกังวล ได้แก่ สร้างความปลอดภัย สร้างความสงบ สร้างความหวัง สร้างความเข้าใจเห็นใจซึ่งกันและกัน ใช้ศักยภาพองค์กรให้เต็มที่ และใช้สายสัมพันธ์สร้างความเข้มแข็ง เพื่อสร้างความเข้าใจ และเขใมแข็ง ลดความเครียด วิตกกกังวล และเจ็บป่วยทางสุขภาพจิต เพราะถ้าปล่อยหากปล่อยให้ความเครียดสะสมในตัว เป็นโรคเครียดเรื้อรัง พัฒนาสู่โรคซึมเศร้า จึงต้องเรียนรู้ เข้าใจและขอคำปรึกษาจิตแพทย์ 

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ฉากทัศน์ที่ใช้ในการวางแผนการดำเนินงานด้านสุขภาพจิต โดยมีการประเมินสถานการณ์เป็นคลื่น ซึ่งคลื่นลูกที่ 1 คือการระบาดของโควิดที่เพิ่มขึ้นและลดลง คลื่นลูกที่ 2 ผู้มีปัญหาสุขภาพอื่นๆ เพราะการมุ่งดูแลเรื่องโควิดอาจจะมีโรคอื่นๆตามมา คลื่นลูกที่ 3คือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และคลื่นลูกที่ 4 เกิดขึ้นหลังจากการติดโควิดระยะหนึ่ง ในอีกราว1-2 เดือนจะมีปรากฎการณ์ด้านสุขภาพจิตเกิดขึ้น จะมีเรื่องปัญหาด้านจิตใจ โรคทางจติเวช รวมทั้งปัญหาที่มากับเศรษฐกิจทำให้เกิดภาวะหมดไฟ ความเหนื่อยล้าของคนทำงานหรือเผชิญความเครียดมากเป็นระยะเวลายาวนาน ต่อเนื่องจากมาตรการในการใช้ควบคุมโรค เช่น อยู่บ้าน เว้นระยะห่าง ไม่สามารถมีกิจกรรมทางสังคม ระงับการเดินทาง การล็อคคาวน์ ปิดกิจการหลายๆอย่างเป็นผลทำให้ประชาชนคนไทยมีความเครียด ความกดดันที่เพิ่มขึ้นจากภาวะปกติอย่างมาก 

“ระยะถัดไปคนทั้งประเทศต้องหันมาดูแลเรื่องจิตใจของประชาชนทั่วไป กลุ่มเสี่ยง และบุคลากรต่างๆ ซึ่งสิ่งที่จะยิ่งกระตุ้นทำให้เกิดความเครียดมากขึ้นคือ การตีตรา เช่น คนเป็นโรคกลับไปในชุมชน แล้วไม่ได้รับการต้อนรับ เพราะกลัวติด ทั้งที่รักษาหายแล้ว หรือบุคลากรใส่ชุดพยาบาลไปซื้อของก็ไม่ขายเพราะกลัวจะติดโรค การตีตราทำให้ความเครียดจากการกดดันมากขึ้นด้วย”นพ.เกียรติภูมิกล่าว
 
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า กรมได้วางมาตรการในการดูแลสุขภาพจิตของประชาชนมีเป้าหมายหลัก 2 ประการคือ 1.ลดผลกระทบสุขภาพจิตในระดับบบุคล ต้องเข้าถึงบริการ ได้รับการดูแล มีอสม. เคาะประตูบ้านกลุ่มเสี่ยงที่ความเกี่ยวข้องกับโควิดเพื่อประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้น รวมถึง เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพจิตจะโทรศัพท์ไปพูดคุย หากพบท่าทางกังวล ก็จะขออนุญาตประเมินสุขภาพจิตและแนะนำให้เข้าถึงบริการ ส่วนคนที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงสามารถประเมินสุขภาพจิตตนเองผ่านแอพพลิเคชั่น mental health check up สามารถตรวจสอบสุขภาพจิตใน 6 ด้าน คือ ความเครียด ภาวะซึมเศร้า ภาวะสมองเสื่อม ดัชนีวัดความสุข พลังสุขภาพจิต และความฉลาดทางอารมณ์ ประเมินแล้วจะมีคำแนะนำเบื้องต้น ถ้าพบความเสี่ยงสูง ก็สามาถเข้าปรึกษาเพิ่มเติมทางโทรศัพท์ได้ที่สายด่วน 1323 จะได้มีการดูแลตนเองได้เบื้องต้นระดับหนึ่ง ถ้าให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ไม่เพียงพอ ก็เข้ารับบริการในโรงพยาบาล

และ 2.เพิ่มศักยภาพของครอบครัวและขุมชนมาช่วยดูแลสุขภาพจิต โดยทำให้ครอบครัวเข้มแข็ง มีวัคซีนใจ หวังว่าครอบครัวเกิดภูมิคุ้มกันที่ดีด้านสุขภาพจิต ใช้หลักพื้นฐาน 4 หลัก ได้แก่ 1.ทำให้สงบ ทำให้คนในครอบรัวมีสติ รับรู้ข่าวสารที่ถูกต้อง ไม่เชื่อข่าวปลอมและมีความรู้ป้องกันตนเอง 2.ทำให้คนในบ้านปลอดภัยทุกคน ในการดูแลสุอนามัยส่วนตน มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ เมื่อเข้าบ้านไม่เอาเชื้อเข้าบ้าน ถอดรเงท้าล งมือให้สะอาก 3.ทำให้มีความหวัง ช่วงที่อยู่บ้านต้องวางแผนอย่างมีความหวังว่าเมื่อสามารถออกไปนอกบ้านได้ จะทำอะไร ประโยชน์ในการดูแลครอบครัวและสังคม และ4.มีการสื่อสารกัน แม้ตัวห่างแต่สามารถพูดคุยกันได้อย่างสม่ำเสมอระหว่างญาติมิตร ช่วยเหลือดูแลกัน มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ตักเตือน ปลอบประโลมกัน จะได้ไม่เครียด ทำให้ครอบครัว ชุมชนเข้มแข็งขึ้น ดูแลสุขภาพจิตซึ่งกันและกัน 

ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 8.59 ต่อแสนประชากร จากภาวะปกติที่ประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.31 ต่อแสนประชากร เพิ่มขึ้นจากภาวะปกติ 2 ต่อแสนประชากร หรือเพิ่มขึ้น 2 คนต่อวัน และในวิกฤติโควิดจะต้องดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อทำให้อัตราฆ่าตัวตายของคนไทยไม่ให้เพิ่มขึ้นหรือเพิ่มขึ้นไม่ให้เกิน 1 ต่อแสนประชากร เพราะฉะนั้นประชาชนต้องประเมินสุขภาพจิตตัวเองเป็นเบื้องต้นผ่านแอพพลิเคชั่น ประเมินด้วยตนเองเป็นเบื้องต้น และขอให้ทุกคนยึดคาถาสุขภาพจิตในการผ่านพ้นสถานการณ์นี้คือ อึด ฮึด สู้ จะทำให้มีสุขภาพจิตที่ดี มีจิตใจที่มั่นคง จะสามารถผ่านสถานการณ์ช่วงนี้ไปได้”นพ.เกียรติภูมิกล่าว