'อู่ตะเภา' รุกลูกค้าธุรกิจคาร์โก้ พลิกแผนรับวิกฤติโควิด

'อู่ตะเภา' รุกลูกค้าธุรกิจคาร์โก้  พลิกแผนรับวิกฤติโควิด

โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจการบิน ทำให้ผู้ให้บริการสนามบินต้องพลิกเกมด้วยการปรับแผนเชิงรุกลุยธุรกิจใหม่ รวมถึงสนามบินอู่ตะเภาที่เป็นหัวใจสำคัญของ "อีอีซี"

พล.ร.ท.กฤชพล เรียงเล็กจำนงค์ ผู้อำนวยการการท่าอากาศยานอู่ตะเภา เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า  หลังจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ส่งผลกระทบต่อจำนวนเที่ยวบิน และปริมาณผู้โดยสารลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ในเดือน เม.ย.นี้ สายการบินยังคงยกเลิกให้บริการเที่ยวบินที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เหลือเฉพาะเที่ยวบินส่วนบุคคล (private jet)

“ตลอดทั้งเดือน เม.ย.นี้ ยังไม่มีไฟล์ตบิน แต่บางวันก็ยังพอมีไฟล์ตเข้ามาบ้าง เป็นลักษณะของไพรเวท เจ็ท ส่วนเดือน พ.ค.นี้ ทางสายการบินไทยแอร์เอเชีย เริ่มติดต่อเข้ามาแล้วว่าจะกลับมาทำการบิน”

สำหรับท่าอากาศยานอู่ตะเภา ในช่วงสถานการณ์การท่องเที่ยวปกติ มีจำนวนเที่ยวบินใช้บริการเฉลี่ยอยู่กว่า 1 พันเที่ยวบินต่อเดือน โดยกองทัพเรือ (ทร.) ในฐานะผู้กำกับดูแล ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณผู้โดยสารในปี 2563 อยู่ที่ 2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีปริมาณอยู่ราว 7 แสน – 1 ล้านคนต่อปี โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. - มี.ค.) มีปริมาณผู้โดยสารเข้า - ออก ท่าอากาศยานอู่ตะเภาใกล้ 1 ล้านคนแล้ว

โดยท่าอากาศยานอู่ตะเภา ได้รับผลกระทบจากจำนวนเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟล์ต) จากจีนลดลงจำนวนมาก เช่นเดียวกับตลาดรัสเซีย และยุโรป ที่เริ่มลดลงทยอยยกเลิกเที่ยวบินขาเข้า

158710328065

ทั้งนี้ จีนเป็นกลุ่มแรกที่ยกเลิกเที่ยวบินและหยุดการเดินทางก่อนตลาดอื่น จนปัจจุบันก็ยังคงไม่มีเที่ยวบินเข้ามา ส่วนรัสเซีย ถือเป็นตลาดสุดท้ายที่ทยอยหยุดบิน เพราะยังมีเที่ยวบินขาออกอยู่บ้าง จนกระทั่งปัจจุบันเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่นทางการท่องเที่ยวของกลุ่มรัสเซียพอดี จึงไม่มีเที่ยวบินทั้งขาเข้าและขาออก รวมไปถึงตลาดยุโรปก็ไม่มีการเดินทางแล้ว

ทั้งนี้ จากสถานการณ์การเดินทางของนักท่องเที่ยว ที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ประกอบกับกลุ่มนักท่องเที่ยวจะเป็นตลาดที่ต้องอาศัยระยะเวลาฟื้นตัว หากการแพ่ระบาดของโรคดังกล่าวสิ้นสุดลง ก็เชื่อว่าต้องใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการฟื้นตัว และนักท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาจองการเดินทาง ท่าอากาศยานอู่ตะเภา

“การท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เวลาฟื้นตัว เราจึงมองว่าการหารายได้จากการเดินทางของนักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มที่ต้องอาศัยเวลา ดังนั้นหากเราจะหารายได้ในช่วงวิกฤติเช่นนี้ เราต้องมองโอกาสจากการขนส่งสินค้ามากกว่า โดยเฉพาะสินค้าประเภทบริโภค อย่างอาหารทะเล และผลไม้ ที่ภาคตะวันออกมีชื่อเสียง”