พณ.ลุยจับขายหน้ากาก-เจลแอลกอฮอล์ แพงเกินจริงยอดสะสม319ราย

พณ.ลุยจับขายหน้ากาก-เจลแอลกอฮอล์ แพงเกินจริงยอดสะสม319ราย

จับเพิ่มอีก 8 ราย พบต่างจังหวัดคดีพุ่งไม่หยุด พบขายหน้ากากอนามัย เจลล้างมือและแอลกอฮอล์ แพงเกินจริงทั้งออนไลน์และร้านทั่วไป ล่าสุดยอดสะสมทั่วประเทศรวม 319 ราย

นางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการปฏิบัติการกรณีสินค้าอุปโภคบริโภคและเวชภัณฑ์ของกระทรวงพาณิชย์ว่า ณ วันที่ 14 เม.ย.2563 ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดกรณีหน้ากากอนามัย เจลล้างมือและแอลกอฮอล์เพิ่มอีก 8 ราย แบ่งเป็น 

กรุงเทพฯ 1 ราย เป็นร้านค้าทั่วไป พบจำหน่ายหน้ากากอนามัยแบบธรรมดา ในราคาชิ้นละ  20 บาท แจ้งข้อหากระทำความผิดจำหน่ายหน้ากากอนามัยราคาสูงเกินสมควร ตามมาตรา 29

ส่วนในต่างจังหวัดสามารถจับกุมเพิ่ม 7 ราย แบ่งเป็น ร้านจำหน่ายหน้ากากอนามัยผ่านทาง  เฟซบุ๊ก 2 ราย ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์  1 ราย โดยเจ้าหน้าที่ทำการล่อซื้อและจับกุม พบจำหน่ายหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical mask) ในราคากล่องละ 690 บาท (เฉลี่ยชิ้นละ 13.80 บาท)  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 1 ราย จำหน่ายหน้ากากอนามัยบรรจุ 10 ชิ้น/แพค ในราคา 130 บาท (เฉลี่ยชิ้นละ 13 บาท) ร้านค้าทั่วไปในจังหวัดพิษณุโลก 3 ราย  โดยทำการล่อซื้อและจับกุมพบจำหน่าย หน้ากากอนามัยบรรจุกล่อง 50 ชิ้น ในราคากล่องละ 760 – 790 บาท (เฉลี่ยชิ้นละ15.20 – 15.80 บาท)  โดยทั้ง 5 รายกระทำความผิดข้อหาจำหน่ายหน้ากากอนามัยราคาสูงเกินสมควร ตามมาตรา 29 

นอกจากนี้พบผู้กระทำความผิดในจังหวัดกาฬสินธุ์ 1 ราย เป็นร้านค้าทั่วไปจำหน่ายเจลแอลกอฮอล์ โดยไม่ปิดป้ายแสดงราคา  จึงแจ้งข้อหากระทำความผิด ตามมาตรา 28  และเจ้าหน้าที่ยังได้เข้าตรวจค้นโรงงานในจังหวัดปทุมธานี  อีก 1 ราย ลักลอบผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical mask) ชนิด 3 ชั้น พบหน้ากากอนามัย จำนวน 138,000 ชิ้น จึงยึดเป็นของกลาง และแจ้งข้อหากระทำความผิด เป็นผู้ผลิตไม่แจ้งต้นทุน ราคาซื้อ ราคาจำหน่าย ปริมาณการผลิตต่อ กกร. ตามมาตรา 25 (5) โดยสถิติการจับกุมผู้กระทำความผิดกรณี หน้ากากอนามัย เจลล้างมือและแอลกอฮอล์ มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 319 ราย แยกเป็นกรุงเทพฯ 156 ราย  และต่างจังหวัด 163 ราย

สำหรับสถานการณ์ราคาไข่ไก่เริ่มปรับลดลงและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เนื่องจากขณะนี้มีปริมาณผลผลิต ไข่ไก่กระจายเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ฟาร์มไข่ไก่ที่ได้รับคำสั่งซื้อมีการชะลอตัวลงจากหลายสัปดาห์ก่อน ทำให้สามารถส่งไข่ไก่ให้กับผู้ค้าส่งได้มากขึ้น และมีสินค้าเพียงพอที่จะกระจายต่อไปยังผู้ค้าปลีก อีกทั้งผู้จำหน่ายรายใหญ่ทั้ง ซีพี เบทาโกร มีการกระจายผลผลิตไข่ไก่เข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น โดยมีสินค้าวางจำหน่ายทุกวันในห้างโมเดิร์นเทรด เช่น แมคโคร บิ๊กซี เทสโก้โลตัส และไม่จำกัดจำนวนการซื้อของประชาชน เนื่องจากความต้องการในการซื้อไข่ไก่ของผู้บริโภคมีปริมาณลดลงจากเดิม ซึ่งสถิติการจับกุมผู้กระทำความผิดจำหน่ายไข่ไก่เกินราคาทั่วประเทศ ณ วันที่ 14 เมษายน 2563 จึงไม่พบผู้กระทำความผิดเพิ่มเติม ยอดรวม 26 ราย คงที่
 
ทั้งนี้ โทษที่ผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ข้อหาขายเกินราคาควบคุม มาตรา 25 (1) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ข้อหาไม่แจ้งต้นทุนราคาซื้อ ราคาจำหน่าย ปริมาณการผลิต ปริมาณคงเหลือ ตามมาตรา 25 (5) มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับไม่เกินวันละ 2,000 บาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน หรือจนกว่าจะแจ้ง  มาตรา26 ข้อหาเป็นผู้ผลิตไม่แจ้งชื่อ ราคาซื้อ ราคาจำหน่าย  มาตรา28 ข้อหาไม่ปิดป้ายแสดงราคาขาย มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท และมาตรา 29 ข้อหาขายแพงเกินสมควรมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

"ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ส่งเจ้าหน้าลงพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อติดตามตรวจสอบ จับกุมผู้กระทำความผิดตามข้อร้องเรียนทุกวัน และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง อยากจะย้ำเตือนผู้ที่มีพฤติกรรมกักตุนสินค้า และค้ากำไรเกินควร ซึ่งถือเป็นการเอารัดเอาเปรียบประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และแอลกอฮอล์ รวมถึงสินค้าจำเป็นอื่น ๆ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งหากพบมีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ จะถูกดำเนินคดีขั้นเด็ดขาดทันที โดยผู้บริโภคพบเห็นการกักตุนหรือค้ากำไรเกินควร สามารถร้องเรียนได้ทันทีที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 และในต่างจังหวัดร้องเรียนได้ที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดหรือศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด" นางลลิดากล่าว