เร่งเครื่องเศรษฐกิจดิจิทัล เคลื่อนธุรกิจหลัง 'โคโรน่าไวรัส'

เร่งเครื่องเศรษฐกิจดิจิทัล เคลื่อนธุรกิจหลัง 'โคโรน่าไวรัส'

แม้โรคระบาดจะยังไม่ยุติ แต่ขณะนี้ทั่วโลกกำลังถามถึงโลกใบเดิมในบริบทใหม่ หรือนิวนอร์มอล การที่ผู้คนเว้นระยะห่างทางกายภาพจาก ความหวาดกลัวโรคภัย ย่อมทำให้ธุรกิจทั่วโลกต้องปรับบิซิเนสโมเดลกันขนานใหญ่ ดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นคำตอบในการเข้าใกล้ผู้บริโภค

การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ที่ลามไปทั่วโลก โดยในขณะนี้ (13 เม.ย.2563 เวลา 13.00 น.) ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อ 1.8 ล้านราย ส่งผลกระทบวงกว้างในทุกภาคส่วน ทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยสมบูรณ์แบบ กูรูหลายรายฟันธงว่าการระบาดจะไม่จบโดยง่าย เช่นเดียวกับผลกระทบที่จะรุนแรงขึ้น อาจกลายเป็นการ “เซ็ทซีโร่” โลกใบนี้ ให้เริ่มต้นนับ 1 ใหม่ในหลายๆ เรื่อง

วิกฤติโควิด-19 จึงนับเป็นวิกฤติแห่งเผ่าพันธุ์ จากความไม่รู้จุดสิ้นสุด ทำให้ไม่รู้ผลกระทบที่แท้จริง ที่ส่อจะ “รุนแรงขึ้น” จากกิจกรรมทางธุรกิจทั่วโลกที่หยุดลงนานวันขึ้นเรื่อยๆ การระบาดของโรคที่เกิดขึ้น ยังเหมือนจะตอกย้ำให้ผู้คนทั่วโลกเรียนรู้ว่า ความมั่งคั่งที่สั่งสมกันมา ไม่ได้มีความหมายเท่ากับการมีสุขภาพที่ดี ปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บ โรคระบาด เพราะหยุดโรคได้ก่อนเท่านั้น โลกธุรกิจจึงจะดำเนินต่อไปได้

อาทิ ในสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลก กำลังถูกท้าทายความมั่งคั่งจากการได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุดในโลกอยู่ในขณะนี้ (5.6 แสนราย) หรือแม้แต่ในจีน มหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก ต้นตอโรคระบาด ก็ยังไม่รู้ว่าที่สุดแล้วจะเอาตัวรอดจากโรคระบาดได้เบ็ดเสร็จแค่ไหน โรคระบาดจะกลับมาอีกหรือไม่

อย่างไรก็ตาม แม้โรคระบาดจะยังไม่ยุติ แต่ขณะนี้ทั่วโลกกำลังถามถึง “โลกใบเดิมในบริบทใหม่” หรือนิวนอร์มอล การที่ผู้คนเว้นระยะห่างทางกายภาพจาก ความหวาดกลัวโรคภัย ย่อมทำให้ธุรกิจทั่วโลกต้องปรับ “บิซิเนส โมเดล” กันขนานใหญ่ โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นคำตอบในการเข้าใกล้ผู้บริโภค มากกว่าการเดินทางไปมาหาสู่กัน จากนี้ “โทรคมนาคม” จึงมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับ“คมนาคม” เพราะหลังโควิด-19 การขี่กระแสออนไลน์ จะหนักข้อขึ้น ทำให้ทุกประเทศต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมให้พร้อมรับการแข่งขัน ไทยก็เช่นกัน จะต้องเร่งเครื่อง 5 จีให้เร็วเพื่อเคลื่อน“เศรษฐกิจดิจิทัล”ให้ทันการเปลี่ยนแปลงนี้

นอกจากนี้ ความหวาดกลัวต่อโรคระบาด ยังจะส่งผ่านไปยังการดำเนินนโยบายด้านความปลอดภัยพลเมือง นโยบายด้านเศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเดินทางข้ามพรมแดนระหว่างกัน ที่จะต้องคัดกรองกันมากขึ้น ความหมายของโลกไร้พรมแดน อาจต้องขีดฆ่าคำว่า พรมแดนระหว่างประเทศทิ้ง แต่เป็นโลกไร้พรมแดนไซเบอร์โดยแท้ ตัวแปรด้านความปลอดภัยดังกล่าวนี้ ล้วนกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ที่พึ่งพารายได้จากการส่งออก การท่องเที่ยว จึงถึงเวลาแล้วเช่นกัน ที่รัฐบาลจะต้องระดมสมองผู้ที่เกี่ยวข้อง “ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย”บนฐานของการพึ่งพาตัวเอง ล้อไปกับการปรับโครงสร้างธุรกิจ จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามแรงเหวี่ยงของพายุโควิด