กรมชลฯ ย้ำใช้น้ำตามแผน ผวาฝนทิ้งช่วงหลังสิ้นแล้ง

กรมชลฯ ย้ำใช้น้ำตามแผน   ผวาฝนทิ้งช่วงหลังสิ้นแล้ง

กรมชลประทาน วอนใช้น้ำอย่างประหยัด ก่อนโค้งสุดท้าย สิ้นสุดแล้งเดือน เม.ย. ย้ำต้องสำรองใช้ในช่วงต้นฤดูฝน ลดความเสี่ยงฝนมาช้า เกิดภาวะทิ้งช่วง ระบุมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 37,937 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 50% ของความจุเก็บกัก

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งใกล้สิ้นสุดแผนในเดือนเม.ย. นี้แล้ว ผลดำเนินการในช่วงที่ผ่านมาถือว่าเป็นไปตามที่กำหนดไว้ แม้จะยังมีน้ำเหลือใช้อยู่แต่ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันประหยัดการใช้น้ำ เพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนที่คาดว่าจะเกิดภาวะฝนตกทิ้งช่วงได้

ในส่วนของแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2563 ได้วางแผนเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ 2.31 ล้านไร่ ปัจจุบัน(ข้อมูล ณ วันที่ 1 เม.ย. 63)มีการเพาะทำนาปรังไปแล้ว 4.20 ล้านไร่ เกินแผนฯไปแล้วถึงร้อยละ 82 มีการเก็บเกี่ยวแล้ว 2.07 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุน มีไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนด้านการเกษตร แต่จากการสำรวจพบว่ามีการทำนาปรังไปแล้วประมาณ 1.98 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.58 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองในการเพาะปลูก

กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำตามแผนฯที่วางไว้อย่างเคร่งครัด รวมทั้ง แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอ ตลอดจนสามารถสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนหน้าได้อย่างไม่ขาดแคลน จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด รวมทั้งใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนฯที่วางไว้อย่างเคร่งครัดด้วย

โดย สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ทั่วประเทศปัจจุบัน(3 เม.ย. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 37,937 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 50% ของความจุเก็บกัก โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 14,231 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 27% ของปริมาณน้ำใช้การได้ โดยเฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์)มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 9,218 ล้าน ลบ.ม. หรือ 37 %ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,522 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 (ระหว่าง 1 พ.ย. 62 – 30 เม.ย. 63) เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำ ในเขตชลประทาน มีการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 17,699 ล้าน ลบ.ม.(น้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 5,000 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีการจัดสรรน้ำไว้รวมทั้งสิ้น 4,500 ล้าน ลบ.ม.(น้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 3,500 ล้าน ลบ.ม.)

ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ปัจจุบัน (3 เม.ย. 63) มีการใช้น้ำตามแผนฯ ไปแล้ว 14,488 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 82% ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำตามแผนฯไปแล้ว 3,891 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 86% ของแผนจัดสรรน้ำฯ คาดว่าเมื่อสิ้นสุดการจัดสรรน้ำวันที่ 30 เม.ย. 63 การใช้น้ำจะเป็นไปตามแผนฯที่วางไว้

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าว่า ตามที่กรมชลประทาน ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ สำหรับการเกษตรและอุปโภคบริโภคของราษฎร ที่อพยพลงมาจากพื้นที่ถูกน้ำท่วมบริเวณเหนือเขื่อนสิริกิติ์ ตำบลผาเลือด อําเภอท่าปลา ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 49,500 ไร่ และใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคจากระบบท่อส่งน้ำที่ส่งน้ำมาจากเขื่อนสิริกิติ์ ผ่านทางท่อซีเมนต์ใยหิน ที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2529 ปัจจุบันมีสภาพชํารุดทรุดโทรม แตก และรั่วซึมอยู่เสมอ ส่งผลให้สูญเสียน้ำโดยเปล่าประโยชน์ นั้น

ปัจจุบันโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี ใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยเตรียมรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาบริเวณเหนืออ่างฯ ในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้