'รร.ภูเก็ต-เชียงใหม่-พัทยา' สุดทน แห่ปิดบริการ รักษาสภาพคล่อง

'รร.ภูเก็ต-เชียงใหม่-พัทยา' สุดทน แห่ปิดบริการ รักษาสภาพคล่อง

นับเป็นวิกฤติรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของภาคท่องเที่ยวไทย เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นทั่วโลก

ต่างจากในอดีตที่หลายๆ วิกฤติเกิดขึ้นภายในประเทศไทย เช่น เหตุการณ์สึนามิ น้ำท่วมใหญ่ และความไม่สงบทางการเมือง เมื่อเหตุการณ์จบลง นักท่องเที่ยวต่างชาติก็พร้อมกลับเข้ามาด้วยดีมานด์ที่อัดอั้น วิกฤติรอบนี้ยังไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับโรงแรมในกรุงเทพฯหรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่กระจายไปทั่วทุกเมืองท่องเที่ยวของไทย

ศึกษิต สุวรรณดิษฐกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมและรีสอร์ตเครือดีวาน่า กรุ๊ป และอุปนายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจโรงแรมใน จ.ภูเก็ตซึ่งปัจจุบันมีโรงแรมทั้งที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายราว 1,400-2,000 แห่ง คิดเป็นจำนวนห้องพักรวม 100,000 ห้อง ตอนนี้หลายแห่งมีแผนปิดให้บริการชั่วคราว เริ่มตั้งแต่วันที่ เม.ย.นี้ เบื้องต้นปิดเป็นระยะเวลา 1 เดือนหลังรัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ประกอบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยไม่ได้เดินทางมาเที่ยวภูเก็ต เนื่องจากหลายๆ สายการบินหยุดบินเส้นทางบินระหว่างประเทศชั่วคราว ขณะที่บางสายการบินหยุดบินเส้นทางในประเทศด้วย ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังเหลืออยู่ในภูเก็ต เช่น ชาวรัสเซีย ต้องบินกลับประเทศทันที และส่วนที่จองห้องพักล่วงหน้าเข้ามาก็ได้ติดต่อขอยกเลิกอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราเข้าพักของโรงแรมในภูเก็ตช่วงวันที่ 21-31 มี.ค.นี้ น่าจะเหลือยอดเพียงหลักเดียว ต่างจากวันที่ 1-20 มี.ค.ยังมีอัตราเข้าพัก 70% ส่งผลให้ตลอดเดือน มี.ค.นี้มีอัตราเข้าพักเฉลี่ยเหลือที่ 30-40%

“ปัจจุบันหลายๆ โรงแรมมียอดจองห้องพักเดือน เม.ย.นี้เหลือเพียง 2-3% หรือคิดเป็นไม่กี่ห้องพักเท่านั้น เมื่อลูกค้าหายไปเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ถึงจะเปิดให้บริการอยู่ก็อาจมียอดจองมากสุดที่ 5% ในสถานการณ์ที่ลูกค้าทยอยขอยกเลิกการจองต่อเนื่อง หายไปจากภาวะปกติซึ่งเคยได้อัตราเข้าพักในเดือน เม.ย.2562 ราว 75% จึงตัดสินใจปิดให้บริการชั่วคราว หลายแห่งอาจปิดชั่วคราวนาน3เดือนตั้งแต่ เม.ย.-มิ.ย.นี้ ขณะที่บางแห่งมีแผนปิดชั่วคราวนานกว่า 3-6 เดือน”

โดยเมื่อดูสภาพคล่องทางการเงินในตอนนี้ ผู้ประกอบการโรงแรมในภูเก็ตมองว่า จะต้องรักษาสภาพคล่องให้ได้ในช่วง6เดือนตั้งแต่ มี.ค.-ส.ค.นี้ที่ไม่มีลูกค้า

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดแจ้งสมาคมฯว่าธุรกิจจะแย่จนถึงขั้นปิดกิจการถาวร  โดยคาดว่าน่าจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในไตรมาส3 และเห็นภาคท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในเดือน ก.ค.-ส.ค. จนสามารถกลับมาทำกำไรได้อีกครั้งในเดือน พ.ย. ซึ่งเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ของภูเก็ตพอดี

“เพื่อรักษาสภาพคล่อง โรงแรมในภูเก็ตหลายแห่งจำเป็นต้องเริ่มปิดบริการชั่วคราวในเดือน เม.ย.นี้ ประหยัดค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคและค่าจ้างพนักงาน ด้วยการขอให้พนักงานใช้สิทธิลาหยุดต่างๆ รวมถึงสมัครใจลาหยุดโดยไม่รับค่าจ้าง (Leave without Pay) โดยต้องการให้รัฐบาลและประกันสังคมออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจโรงแรมที่ปิดให้บริการเพราะโควิด-19แม้ว่าโรงแรมจะไม่ใช่ธุรกิจที่รัฐสั่งปิดตาม พรก.ฉุกเฉิน เหมือนพวกสปาและอื่นๆ ก็ตาม” ศึกษิตกล่าว

ด้านละเอียด บุ้งศรีทอง ผู้จัดการทั่วไป โรงแรมรติล้านนา ริเวอร์ไซด์ สปา รีสอร์ท และนายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ (ตอนบน) กล่าวว่าภาพรวมธุรกิจโรงแรมใน จ.เชียงใหม่ซึ่งมีโรงแรมทั้งที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนรวมกันมากกว่า2,000แห่ง คิดเป็นจำนวนห้องพักกว่า60,000ห้องพัก หลายแห่งได้เริ่มปิดให้บริการชั่วคราวไปแล้วเมื่อวันที่15มี.ค.ที่ผ่านมา และจะทยอยปิดต่อเนื่องในสัปดาห์นี้กับอีกช่วงคือวันที่1เม.ย.นี้ หลังรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินควบคุมโรค

“ต้องลดต้นทุนคงที่ทั้งค่าจ้างพนักงานและอื่นๆ การปิดบริการชั่วคราวจึงเป็นหนึ่งในแนวทางจำเป็นสำหรับการบริหารธุรกิจช่วงโควิด-19แพร่ระบาด โดยหลายแห่งคาดว่าจะปิดนาน2-3เดือน ขณะที่บางแห่งปิดยาวไปจนถึงเดือน ต.ค.นี้ให้ครอบคลุมช่วงโลว์ซีซั่นเลย หลังรายได้เป็นศูนย์ ทั้งนี้คาดว่าโรงแรมในเชียงใหม่จะอั้นเรื่องสภาพคล่องได้นานสุดไม่เกิน3เดือนนับจากนี้”

รายงานข่าวระบุเพิ่มเติมว่า แหล่งท่องเที่ยวและโรงแรมในพื้นที่เมืองพัทยาซึ่งมีจำนวนห้องพักรวมทั้งหมด 200,000 ห้อง หลายแห่งเตรียมปิดให้บริการภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ เนื่องจากไม่มีลูกค้าเข้าใช้บริการ หรือเข้าใช้บริการน้อยมาก

ทั้งนี้มองว่าจากการที่กระทรวงการคลังออกมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19ล่าสุด ยังไม่ได้ช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจนี้เท่าที่ควร เพราะสิ่งที่ต้องการตอนนี้คือเงินชดเชยให้ลูกจ้างในช่วงปิดบริการชั่วคราว70%ของค่าจ้างสูงสุด15,000บาท หรือคิดเป็น10,500บาทต่อราย เป็นเวลาสูงสุด180วัน ไม่เช่นนั้นทุกคนจะอยู่ไม่ได้