พลังงานเลื่อนผลเอสอีเอ รฟ.ถ่านหินใต้ พ.ย. นี้

พลังงานเลื่อนผลเอสอีเอ รฟ.ถ่านหินใต้ พ.ย. นี้

คณะกรรมการ “เอสอีเอ” ให้ “นิด้า” เลื่อนส่งผลการศึกษาสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่-เทพา เดือน พ.ย.หลังคิดโควิดเก็บข้อมูลพื้นที่ไม่ครบ

น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.)ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์(SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ SEA เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาผลสรุปการศึกษาเบื้องต้น โครงการศึกษา SEA จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ ว่าจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินบริเวณ จ.กระบี่ และ อ.เทพา จ. สงขลา หรือไม่ ตามที่ว่าจ้างศูนย์บริการวิชาการสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ออกไปเป็นเดือนพ.ย. จากเดิมที่กำหนดให้ส่งในเดือน เม.ย. ทั้งนี้เพราะนิด้า ติดปัญหาการลงพื้นที่จัดเวทีสานเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็น 4 พื้นที่ ได้แก่ ที่จังหวัดสงขลา กระบี่ สุราษฎร์ธานี และชุมพร ที่ยังดำเนินการได้ไม่ครบทั้ง 4 ครั้ง เพราะติดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดังนั้นห็นควรให้เลื่อนการสรุปผลออกไปก่อน ซึ่งนิด้าต้องเสนอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ผู้สนับสนุนงบประมาณ 50 ล้านบาท จากกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้า อีกครั้ง

นายมนูญ ศิริวรรณ คณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ กล่าวว่า โครงการศึกษา SEA เบื้องต้น ได้รับรายงานจากทางนิด้า ซึ่งได้จัดทำเวทีสานเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็น 4 พื้นที่ ได้แก่ ที่จังหวัดสงขลา กระบี่ สุราษฎร์ธานี และชุมพร รอบที่1 และรอบที่ 2 ไปแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างรอสรุปผลในรอบที่ 2 ให้เกิดความชัดเจน โดยเบื้องต้น ทางคณะกรรมการSEA ได้ให้คำแนะนำทางด้านเทคนิคในจัดเตรียมข้อมูลและจัดทำสมมุติฐานให้พร้อมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปเพื่อให้เกิดความแม่นยำของข้อมูล และไม่พบว่า โครงการฯมีอุปสรรคในการดำเนินการแต่อย่างใด ยกเว้นเรื่องของโรคโควิด-19 ตามขั้นตอนแล้ว หากผลการศึกษาแล้วเสร็จ ทางนิด้า จะต้องจัดทำรายงานสรุปผลการศึกษาฉบับจริง เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการ SEA พิจารณา ก่อนนำเสนอต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พิจารณาต่อไป “ผลสรุปนอกจากจ.กระบี่ และเทพาแล้ว ก็ควรได้ข้อสรุปผลการศึกษาที่ครอบคลุมทั้ง 15 จังหวัดภาคใต้ด้วย”

ส่วนร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2563 นั้น ยังไม่ได้มีการบรรจุเรื่องของโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ลงไปด้วย เนื่องจากผลการศึกษาSEA ยังไม่แล้วเสร็จ แต่โดยปกติแล้วแผน PDP จะต้องมีการปรับปรุงทุก 3-4 ปี หากผลการศึกษาฯ พบว่า จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้น ก็อาจจะต้องนำไปสู่การปรับปรุงแผน PDP ในอนาคตได้