เยอรมนีเบรคสหรัฐ แอบทาบซื้อบริษัท ‘วัคซีนโควิด-19’

เยอรมนีเบรคสหรัฐ แอบทาบซื้อบริษัท ‘วัคซีนโควิด-19’

รัฐมนตรีเยอรมนียัน “เคียววัค” (CureVac) บริษัทวิจัยวัคซีนต้านโรคโควิด-19 “ไม่ได้มีไว้ขาย” หลังมีรายงานว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ เล็งซื้อสิทธิเข้าถึงวัคซีนที่จะพัฒนาโดยบริษัทเยอรมันรายนี้

นายไฮโก มาส รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศเยอรมนีให้สัมภาษณ์กับกลุ่มสื่อท้องถิ่น “ฟุงเคอ” (Funke) ในวันจันทร์ (16 มี.ค.) ว่า สิทธิในการวิจัยวัคซีนต้านโรคโควิด-19 “ไม่ได้มีไว้ขาย” บรรดานักวิจัยเยอรมันมีบทบาทนำในการพัฒนายาและวัคซีน และรัฐบาลไม่อาจปล่อยให้ผู้อื่นมาคว้าผลงานวิจัยนี้ไปครองได้

ความเห็นของนายมาสมีขึ้นในช่วงที่คณะนักวิทยาศาสตร์หลายประเทศแข่งขันกันพัฒนาวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ที่คร่าชีวิตผู้ป่วยกว่า 6,000 คนทั่วโลก รวมทั้งทำให้ประชาชนหลายล้านคนถูกกักกันโรคและสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดโลก

ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์เวลต์ อัม ซอนน์ทากของเยอรมนีรายงานอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดรัฐบาลว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เสนอเงินจูงใจ “หลายพันล้านดอลลาร์” ให้บริษัทเคียววัคย้ายไปวิจัยในสหรัฐ เพื่อให้สิทธิเข้าถึงวัคซีนโรคโควิด-19 เป็นของสหรัฐเพียงผู้เดียว

รายงานอ้างแหล่งข่าวในกระทรวงสาธารณสุขด้วยว่า รัฐบาลเยอรมนีพยายามอย่างยิ่งที่จะสร้างความมั่นใจว่าวัคซีนและสารต้านไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่จะพัฒนาขึ้นในเยอรมนีและยุโรป

ขณะที่นายปีเตอร์ อัลต์ไมเออร์ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจเยอรมนี กล่าวถึงรายงานดังกล่าวต่อสถานีโทรทัศน์ เออาร์ดี เมื่อวันอาทิตย์ (15 มี.ค.) ว่า “ประเทศเยอรมนีไม่ได้มีไว้ขาย”

ส่วน นายฮอร์สต ซีโฮเฟอร์ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ตอบผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับรายงานที่ว่าเคียววัคถูกสหรัฐทาบทามในวันอาทิตย์ว่า เขาพูดได้เพียงว่าได้ยินข่าวนี้มาหลายครั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐบาล และรัฐบาลก็จะหารือกันในวงประชุมคณะกรรมการฉุกเฉินในวันจันทร์

ขณะที่บริษัทเคียววัค แถลงวานนี้ว่า บริษัทของดออกความเห็นเกี่ยวกับกระแสข่าวต่าง ๆ ในช่วงนี้ และขอปฏิเสธรายงานที่ว่ามีข้อเสนอซื้อกิจการบริษัทหรือเทคโนโลยีของบริษัท

สำหรับเคียววัคเป็นบริษัทเอกชนที่ก่อตั้งเมื่อปี 2543 ปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่อยู่ในรัฐทือริงเงิน ทางภาคกลางของเยอรมนี

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายฟลอเรียน วอน เดอร์ มุลเบอ ผู้ร่วมก่อตั้งเคียววัคเผยกับรอยเตอร์ว่า บริษัทเริ่มวิจัยสารที่อาจเป็นวัคซีนหลากหลายชนิดและคัดเลือกสารที่ดีที่สุดสองตัวเพื่อทดลองทางคลินิก โดยหวังว่าจะมีวัคซีนตัวอย่างพร้อมทดลองภายในเดือน มิ.ย. หรือ ก.ค.นี้ จากนั้นจะขออนุญาตรัฐบาลเพื่อทดลองกับมนุษย์ต่อไป และหากประสบความสำเร็จก็จะสามารถผลิตปริมาณมากได้จากสถานที่ที่บริษัทมีอยู่

ขณะนี้ บริษัทดังกล่าวทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยพอล-แอร์ลิช ซึ่งอยู่ในการดูแลของกระทรวงสาธารณสุขเยอรมนี

สัปดาห์ก่อน เคียววัคประกาศเปลี่ยนตัวหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) อย่างกะทันหัน โดยให้ดร.อิงมาร์ โฮเออร์ นั่งบริหารแทนนายแดเนียล เมนิเคลลา ไม่กี่สัปดาห์หลังอดีตซีอีโอไปพบประธานาธิบดีทรัมป์ รวมถึงรองประธานาธิบดีสหรัฐ และตัวแทนบริษัทยาจำนวนหนึ่งในกรุงวอชิงตัน