'COVID-19' พ่นพิษ ธุรกิจเทคโนโลยีเอเชีย

'COVID-19' พ่นพิษ ธุรกิจเทคโนโลยีเอเชีย

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโรคโควิด-19 นอกจากกระทบอุตสาหกรรมสำคัญอย่างการบินและการท่องเที่ยวแล้ว ยังกระทบถึงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในเอเชียด้วย เพราะทำให้ความต้องการสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ลดลง ผู้เล่นรายใหญ่ต่างเจ็บตัวกันถ้วนหน้า

โกลด์แมน แซคส์ เผยรายงานวิจัยในเดือน ก.พ. 2563 ว่า บรรดาบริษัทผู้ผลิตชิปและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงในเอเชีย อาจมีผลกำไรประจำปี 2563 อยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือลดลงประมาณ 7% ผลพวงจากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ส่งผลโดยตรงต่อความต้องการของผู้ซื้อและห่วงโซ่อุปทานในจีน

หนึ่งในนั้นคือ ฟ็อกซ์คอนน์ ซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่ผลิตชิ้นส่วนให้กับไอโฟนของบริษัทแอ๊ปเปิ้ล ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ตามมาด้วย ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้ และไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ ผู้ผลิตชิป ทั้งยังมีบริษัทอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกอีกหลายราย 

การแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า ถือเป็นการซ้ำเติมบริษัทเหล่านี้ที่เพิ่งฟื้นตัวจากความขัดแย้งในสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และวัฏจักรความต้องการสินค้าประเภทชิปที่ลดลง อีกทั้งตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้ผลิตเทคโนโลยีของเอเชียถูกมองว่าเป็นดัชนีชี้วัดถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกด้วย 

"กำลังผลิตจะฟื้นตัวและการจัดส่งรายเดือนจะเริ่มเข้าที่เข้าทางในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดทิศทางราคาหุ้น" โกลด์แมน แซคส์ ระบุในรายงานที่มีเนื้อหาคลอบคลุมถึงผู้ผลิตรายใหญ่ 105 แห่งในเอเชีย

ฟ็อกซ์คอนน์ เป็นบริษัทในเครือของฮอนไห่ พรีซีชันส์ อินดัสทรี กำลังเผชิญหน้ากับการสูญเสียกำไรจากการดำเนินงาน 1.8 พันล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณนี้  และคาดว่ารายได้จะลดลง 15.4 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 8%

อ่านข่าว-ส่งออกจีนทรุด-ทุนสำรองพร่อง ผลพวง 'covid-19

อีกทั้งบริษัทต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็นฐานผลิตที่สำคัญ ซึ่งแรงงานในภาคการผลิตที่มีอยู่ตอนนี้ตอบสนองเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น

158378087176  

"หยาง หลิว" ประธานกรรมการฟ็อกซ์คอนน์ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าส่งผลกระทบต่อความต้องการซื้อสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ และขณะนี้ สถานการณ์ยังไม่มีความแน่นอน จึงยากที่จะประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปีได้ 

โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ถึงรายได้ว่า ในช่วงระยะ 6 เดือนนี้ ความต้องการสินค้าประเภทนี้ในจีนจะลดลงประมาณ 30% และคาดว่าการผลิตในโรงงานจะลดลงครึ่งหนึ่งเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ นับตั้งแต่เดือน ก.พ.2563  ซึ่งผลคาดการณ์นี้ วิเคราะห์จากปัจจัยของแต่ละบริษัทภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงอัตราการผลิตและความสามารถในการจัดส่งในประเทศจีน เพื่อให้ออกมาเป็นผลประกอบการที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2563 โดยจะนำมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ที่ได้รับผลกระทบจากแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า

ขณะที่ ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ ผู้ผลิตชิปชั้นนำของโลก คาดว่า ในปีนี้กำไรจะลดลงประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ หรือ 3% ของรายได้ โดยจะมีรายได้อยู่ 1.4 พันล้านดอลลาร์ แต่ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ก็คาดการณ์ว่า รายได้จะเพิ่มขึ้น 20% ในปีนี้ จากการลงทุนเครือข่ายไร้สาย 5จี ซึ่งบริษัทได้ประกาศแผนลงทุนสูงถึง 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์

หากแต่ตอนนี้ ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ ยังเจอปัญหาการจัดหาชิ้นส่วนเพื่อนำมาผลิตชิปที่ล่าช้า ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ย่อมส่งผลให้การผลิตต้องสะดุดลง

ส่วนซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ อาจทำผลกำไรจากการดำเนินงานได้ 1.4 พันล้านดอลลาร์ โดยผลคาดการณ์ของโกลด์แมน แซคส์ ไม่รวมถึงผลกระทบจากไวรัสโคโรน่าที่มีต่ออุปสงค์ในประเทศ และห่วงโซ่อุปทานในเกาหลีใต้ ที่อาจจะส่งผลลบกับบริษัทมากขึ้น

158378089650

ในญี่ปุ่น มีผู้สูญเสียรายใหญ่คือ บริษัทมูราตะ แฟคทอรี ซึ่งเป็นผลิตชิ้นส่วนให้กับแอ๊ปเปิ้ล ซึ่งครองสัดส่วนผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก และมีแนวโน้มว่าไวรัสโคโรน่าจะส่งผลกระทบต่อยอดขายอุปกรณ์ของบริษัทแห่งนี้ ทั้งนี้ โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า ผลกำไรจะลดลง 355 ล้านดอลลาร์ในปีนี้เพราะผลพวงจากไวรัส

นอกจากนี้ โกลด์แมน แซคส์ ยังบอกว่า บริษัททีดีเคของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี ที่มีฐานการผลิตใหญ่ในมณฑลฝูเจี้ยนของจีน แม้การดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาจะฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ผลกำไรจะลดลง 19%

อย่างไรก็ตาม ไดกิ ทากายามะ นักวิเคราะห์โกลด์แมน แซคส์ ประจำญี่ปุ่น มองว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาทำให้ความต้องการสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆที่ลดลงเกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น ถ้าควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้ว เป็นไปได้ว่าคำสั่งซื้อที่ถูกชะลอออกไป จะดันให้รายได้ฟื้นตัว ซึ่งสอดคล้องกับฟ็อกซ์คอนน์ ที่คาดการณ์ว่า ยอดขายจะฟื้นตัวในไตรมาส 2 ของปีนี้ ซึ่งจะทำให้รายได้ครึ่งปีแรกเท่ากับในปีก่อนหน้า

158378094681

แต่วิกฤตินี้ก็ส่งผลกระทบให้งานแสดงสินค้าหรือการประชุมใหญ่ๆ ของบริษัทด้านเทคโนโลยีจำนวนมากของโลกด้วยเหมือนกัน จนต้องเลื่อนหรือยกเลิกไป โดยเฉพาะงาน โมบาย เวิลด์ คองเกรส ที่จัดเป็นประจำทุกปีที่เมือง บาเซโลนา ประเทศสเปน ที่เป็นหนึ่งในงานใหญ่ด้านไอที มีผู้คนเข้าชมหลายแสนคน และจัดต่อเนื่องมากว่า 50 ปี

ตามแผนผู้จัดตั้งใจจัดช่วงปลายเดือนก.พ. ก็จำเป็นต้องประกาศยกเลิกตั้งแต่ปลายเดือนม.ค. ที่ยังมีการแพร่ระบาดของไวรัสเฉพาะที่ประเทศจีน เพราะผู้เข้าร่วมงาน และผู้แสดงสินค้าจำนวนมากจะมาจากประเทศจีน ที่เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคม

นอกจากนี้ ยังมีงานประจำปีใหญ่อื่นๆ ที่ได้ประกาศยกเลิกไปแล้ว อย่าง F8 Developer Conference ของเฟซบุ๊ค ที่จัดในเดือนมี.ค. Google I/O ที่จัดในเดือนพ.ค. และงาน Game Developer Conference ในเดือนมี.ค. ที่ประกาศเลื่อนออกไปไม่มีกำหนดเนื่องจากผู้ร่วมงานรายใหญ่อย่าง อเมซอน, ไมโครซอฟท์, อีพิค เกมส์, โซนี่, อีเอ และเฟซบุ๊ค ถอนตัว