‘เจ้าสัวเจริญ’ รับปันผลอู้ฟู่ ‘11บริษัท’ ในเครือกวาด 6.2 พันล้าน เพิ่มขึ้น 51%

‘เจ้าสัวเจริญ’ รับปันผลอู้ฟู่ ‘11บริษัท’ ในเครือกวาด 6.2 พันล้าน เพิ่มขึ้น 51%

มหาเศรษฐีแถวหน้าของประเทศไทยอย่าง ‘เจ้าสัวเจริญ’ เจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทต่างๆ ภายในเครือ อาทิ ไทยเบฟเวอเรจ, ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น และทีซีซี กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล

ขณะเดียวกันบริษัทในเครือเหล่านี้ได้นำเงินเข้ามาลงทุนซื้อหุ้นของหลายต่อหลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จนขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และมีสิทธิ์ในการบริหารงานอย่างเต็มตัว จนบริษัทเหล่านี้กลายสภาพเป็นส่วนหนึ่งของเครือเจ้าสัวเจริญเช่นกัน

จากการการปิดสมุดทะเบียนล่าสุดของแต่บริษัทในช่วงปี 2562 – 2563 ที่ผ่านมา พบว่ามี "บริษัทมหาชน" ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน 11 บริษัท ซึ่งปรากฎชื่อของเจ้าสัวเจริญ หรือภรรยา คือ "คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี" หรือบริษัทอื่นๆ ภายในเครือถือครองเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือ AWC ซึ่งเป็นหุ้นน้องใหม่ล่าสุดของเครือเจ้าสัวเจริญ และเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยช่วงเดือน ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา เป็นหุ้นที่ เจ้าสัวเจริญและภรรยา รวมถึง ทีซีซี กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล ถือครองรวมกัน 74.16% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด รวมมูลค่ามากที่สุดถึง 1.2 แสนล้านบาท

รองลงมาคือ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ หรือ BJC ซึ่งถือหุ้นโดย ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น สัดส่วน 66.8% คิดเป็นมูลค่า 1.01 แสนล้านบาท

บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) หรือ FPT ถือหุ้นโดย เฟรเซอร์ส แอสเซ็ทส์ และเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ ถือหุ้นรวม 80.92% คิดเป็นมูลค่า 2.02 หมื่นล้านบาท

บมจ.แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ GOLD ถือหุ้นโดย FPT ในสัดส่วน 95.65% คิดเป็นมูลค่า 1.76 หมื่นล้านบาท

บมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ หรือ SEG ถือหุ้นโดย เจ้าสัวเจริญและภรรยา รวมกัน 74.76% คิดเป็นมูลค่า 1.60 หมื่นล้านบาท

บมจ.เสริมสุข หรือ SSC ถือหุ้นโดย โซ วอเตอร์ และ เอสเอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์ รวมกัน 85.81% คิดเป็นมูลค่า 6.84 พันล้านบาท

บมจ.โออิชิ กรุ๊ป หรือ OISHI ถือหุ้นโดย ไทยเบฟเวอเรจ ในสัดส่วน 79.66% คิดเป็นมูลค่า 6.6 พันล้านบาท

บมจ.ยูนิเวนเจอร์ หรือ UV ถือหุ้นโดย อเดลฟอส และสิริภักดีธรรม รวมกัน 66.01% คิดเป็นมูลค่า 4.19 พันล้านบาท

บมจ.อาหารสยาม หรือ SFP ถือหุ้นโดย บริษัท พรรณธิอร จำกัด ในสัดส่วน 70.85% คิดเป็นมูลค่า 2.35 พันล้านบาท

บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง หรือ AMARIN ถือหุ้นโดย บริษัท วัฒนภักดี จำกัด ในสัดส่วน 60.1% คิดเป็นมูลค่า 1.95 พันล้านบาท

บมจ.อินทรประกันภัย หรือ INSURE ถือหุ้นโดย ทีซีซี แลนด์ ในสัดส่วน 67.82% คิดเป็นมูลค่า 317.08 ล้านบาท

โดยรวมแล้วมูลค่าการถือครองในหุ้นทั้ง 11 บริษัท ของ "เครือเจ้าสัวเจริญ" คิดเป็นประมาณ 2.97 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2.35 แสนล้านบาท เป็นผลจากการเข้ามาของหุ้น AWC แต่หากตัดหุ้น AWC ออกไป จะพบว่ามูลค่าการถือครองของหุ้นในอีก 10 ตัวที่เหลือของกลุ่มเจ้าสัวเจริญ ลดลงประมาณ 5.8 หมื่นล้านบาท จากการที่ราคาของหุ้นส่วนใหญ่เหล่านี้ลดลงไปตามๆ กัน

158383139659

แม้มูลค่าการถือครองจะลดลง แต่เงินปันผลที่เจ้าสัวและบริษัทในเครือได้รับเข้ามาในปีนี้ กลับยังมีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยเงินปันผลรวมที่ "กลุ่มเจ้าสัว" ได้รับจากของทั้ง 11 บริษัท คิดเป็นมูลค่า 6.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 2.1 พันล้านบาท หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง51.21% จากปีก่อนหน้าที่บริษัทเหล่านี้จ่ายเงินปันผลให้กับเจ้าสัว รวม 4.1 พันล้านบาท

โดยมูลค่าเงินปันผลที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ ได้แรงหนุนจากส่วนของหุ้น AWC ประมาณ 286.9 ล้านบาท ที่เข้ามารวมเป็นปีแรก SSC ที่กลับมาจ่ายปันผลอีกครั้ง คิดเป็นมูลค่า 57 ล้านบาท รวมถึงการจ่ายเงินปันผลที่เพิ่มขึ้นของทั้ง BJC ที่จ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้นเป็น 0.91 บาทต่อหุ้น จากปีก่อนที่ 0.73 บาทต่อหุ้น และ UV ที่จ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้นเป็น 1 บาทต่อหุ้น จากปีก่อนที่ 0.26 บาทต่อหุ้น

ส่วนหุ้นอย่าง INSURE, SFP และ SEG งดจ่ายเงินปันผลในปีนี้

ในมุมของราคาหุ้นในกลุ่มที่ปรับตัวลดลงมา โดยเฉลี่ยลดลง 22% ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยหุ้นในเครือที่ราคาปรับตัวลดลงมากที่สุดคือ UV และ OISHI ในระดับ 48% และ 47% ขณะที่หุ้นน้องใหม่อย่าง AWC ราคาก็ปรับตัวลดลงจากราคาไอพีโอประมาณ 12-13% 

วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ AWC มองว่า การที่ราคาหุ้น AWC ซึ่งลดต่ำลงกว่าราคาไอพีโอที่ 6 บาท มาอยู่ที่ประมาณ 5.25 บาท เป็นไปตามสถานการณ์ (ตลาดหุ้นโดยรวม) จึงเชื่อว่าจะเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุน เพราะบริษัทยังคงเป้าหมายกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อม ในช่วง 5 ปีจากนี้ (2563 - 2567) จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 15% หนุนจากการรับรู้รายได้ของการซื้อสินทรัพย์เข้ามาใหม่อย่างต่อเนื่อง และจะทำให้กำไรต่อหุ้นเติบโตตามไปด้วย

ส่วนหุ้นอย่าง BJC ซึ่งปรับตัวลดลงมาประมาณ 24% ในรอบปีที่ผ่านมา สวนทางกับกำไรสุทธิของบริษัทที่เติบโตมาต่อเนื่อง 5 ปีติดต่อกัน จากกำไรสุทธิ 1.68 พันล้านบาท ในปี 2557 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 7.28 พันล้านบาท ในปี 2562 คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย 34% ต่อปี 

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า โดยภาพรวมทำการปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 และ 2564 ลง 5% และ 13% เป็น 7.5 พันล้านบาท และ 8 พันล้านบาท ตามลำดับ พร้อมประเมินราคาเหมาะสมปี 2563 ที่ 50 บาท 

ทั้งนี้ จากระดับราคาที่ปรับลดโดยปัจจุบันซื้อขายระดับ P/E 19.7 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่เคยซื้อขายในระดับ 27-30 เท่า โดย BJC มีธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งธุรกิจบรรจุภัณฑ์มีปัจจัยหนุนจากกำลังการผลิตในสินค้าใหม่ ขณะที่ธุรกิจอุปโภคบริโภคมีการพัฒนาสินค้าใหม่ได้รับผลตอบรับดีในตลาดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกรอการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป

นอกจากการลงทุนในหุ้นทั้ง 11 บริษัทนี้แล้ว บริษัทในเครือของเจ้าสัวเจริญยังมีการลงทุนใน ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ หรือ FTREIT ซึ่งมี เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ไทยแลนด์ (อินเตอร์เนชั่นแนล) และ FPT เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนรวมประมาณ 22.2% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.04 หมื่นล้านบาท ซึ่งในปี 2562 ที่่ผ่านมา FTREIT จ่ายเงินปันผลรวมทั้งปี 0.668 บาทต่อหุ้น คิดเป็นส่วนของเฟรเซอร์ส ประมาณ 405 ล้านบาท

ทั้งนี้ บล.ดีบีเอสวิเคอร์ส มองว่า ผลการดำเนินงานที่แย่ที่สุดของ FPT ได้ผ่านไปแล้ว และคาดว่าแนวโน้มกำไรจะดีขึ้น โดยคาดว่าจะมีกำไรจากการขายสินทรัพย์เข้ากอง REIT ตั้งแต่ไตรมาส 2 นี้ ต่อเนื่องถึงครึ่งปีหลังปีนี้ โดยรวมคงคำแนะนำ ซื้อ คาดการณ์อัตราการเติบโตกำไรหลักปี 2563 และ 2564 อยู่ที่ 8% และ 10% ตามลำดับ ด้วยราคาพื้นฐานที่ 18.10 บาท