'ปากท้องประชาชน' ภารกิจท้าทาย นายกฯใหม่มาเลย์

'ปากท้องประชาชน' ภารกิจท้าทาย นายกฯใหม่มาเลย์

มาเลเซียภายใต้การนำของผู้นำคนใหม่ "มูห์ยิดดิน ยาสซิน" เจอศึก 2 ด้านทั้งความวุ่นวายทางการเมือง และ โรคโควิด-19 ระบาด

มูห์ยิดดิน ยาสซิน เริ่มปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของมาเลเซียแล้ววานนี้ (2มี.ค.) หลังจากสาบานตนรับตำแหน่ง โดย มูห์ยิดดิน วัย 72 ปี ไม่ได้แถลงใดๆ ต่อสื่อทางการในการทำงานวันแรก และสำนักนายกรัฐมนตรีเผยแพร่ถ้อยแถลงเพียงสองย่อหน้าว่า นายกรัฐมนตรีได้พบกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลแล้ว แต่ยังไม่กำหนดวันพบกับแกนนำทางการเมือง

นอกจากนี้ ยังได้ไปเคารพหลุมฝังศพบิดามารดาในรัฐยะโฮร์ที่เป็นบ้านเกิด คาดว่า เขาจะตกลงกับพันธมิตรชาตินิยมเชื้อสายมาเลย์ได้ในเร็วๆ นี้เรื่องจัดตั้งคณะรัฐมนตรี

มูห์ยิดดิน มีบ้านเกิดอยู่ในรัฐยะโฮร์ทางใต้ใกล้กับพรมแดนสิงคโปร์ ซึ่งเขาเคยเป็นมุขมนตรีแห่งรัฐนานเกือบ 9 ปี บิดาของเขาเคยเป็นครูสอนศาสนาคนดังในท้องถิ่น และมูห์ยิดดินจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมาลายาในปี 2513 สาขาวิชา เศรษฐศาสตร์และมลายูศึกษา เคยเป็นหัวหน้าพรรคเบอร์ซาตู ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหม่ที่เขาก่อตั้งเมื่อปี 2559 ซึ่งปัจจุบันหัวหน้าพรรคเบอร์ซาตูคือ มหาธีร์

ที่ผ่านมา มูห์ยิดดิน เคยเข้าร่วมในรัฐบาลพรรคอัมโนของนาจิบ ราซัก อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ก่อนที่พรรคอัมโนจะพ่ายแพ้ในศึกการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2561 มูห์ยิดดินเคยรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลนาจิบ เมื่อปี 2552 จนถึงปี 2558 ก็แตกคอกับนาจิบ และเป็นนักการเมืองคนแรกๆ ที่ออกมาแฉนาจิบ เรื่องทุจริตกองทุน 1 MDB

การรับตำแหน่งของนายมูห์ยิดดิน ถือเป็นการปิดฉากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังจากมหาธีร์ วัย 94 ปี ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันจันทร์ที่แล้ว ก่อนจะเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งโดยอ้างว่าได้รับเสียงสนับสนุนข้างมากจากสมาชิกสภา และต้องการให้สภาเปิดประชุมวาระพิเศษวานนี้ เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี แต่สมเด็จพระราชาธิบดีมีพระราชกระแสรับสั่งแต่งตั้งมูห์ยิดดิน เมื่อวันเสาร์เสียก่อน ความไม่แน่นอนตลอดสัปดาห์ที่แล้วทำให้นักลงทุนต่างชาติพากันเทขายหุ้นมาเลเซียมากถึง 1,260 ล้านริงกิต (ราว 9,415 ล้านบาท) มากที่สุดในรอบ 88 สัปดาห์

ความท้าทายใหญ่หลวงของนายกรัฐมนตรีคนใหม่คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจมาเลเซียที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะไตรมาส 4 ของปีที่แล้วเศรษฐกิจมาเลเซียขยายตัวน้อยที่สุดในรอบทศวรรษ ทั้งยังไม่ชัดเจนว่ามูห์ยิดดิน จะเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4,700 ล้านดอลลาร์ (ราว 147,559 ล้านบาท) เพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ที่มหาธีร์ประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อนขณะเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้ นอกจากการเมืองในมาเลเซียจะไม่นิ่งแล้ว มาเลเซียยังเจอผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ด้วยเช่นกัน จนล่าสุด มหาธีร์ ในฐานะรักษาการนายกรัฐมตรีมาเลเซียได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 2 หมื่นล้านริงกิต (4.7 พันล้านดอลลาร์) เพื่อรับมือกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว รวมถึงการลดหย่อนภาษี การช่วยเหลือบริษัทในภาคธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ อาทิ ภาคการท่องเที่ยว การจัดหาเงินกู้สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงการจัดสรรเงินสดให้กับประชาชน

มหาธีร์ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของมาเลเซีย ซึ่งเผชิญกับภาวะปั่นป่วนทางการเมืองในประเทศด้วย จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในกรอบ 3.2-4.2% ในปีนี้ โดยลดลงจากตัวเลขประมาณการณ์ครั้งก่อนของรัฐบาลที่ราว 4.8%

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขของมาเลเซียรายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 23 ราย และ 22 รายได้รับการรักษาจนสามารถออกจากโรงพยาบาลได้แล้ว

ด้านธนาคารกลางมาเลเซีย (แบงก์ เนการา) เผยว่า เศรษฐกิจของมาเลเซียในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วทรุดหนักที่สุดในรอบ 10 ปี โดยชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 3.6% ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปลายปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่วิกฤติการเงินโลกกำลังรุนแรงที่สุด แต่ยังไม่ใช่สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด เพราะการระบาดของโรคโควิด-19 จะเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจอย่างหนักขึ้นในปีนี้

นอกจากนี้ อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ต่อปีลดลงเหลือเพียง 4.3% ในปี 2562 ซึ่งต่ำที่สุดในรอบทศวรรษ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่ภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ ส่วนรัฐบาลกล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมุ่งเน้นอุตสาหกรรมการบิน ค้าปลีก และการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม นอร์ ชามาสิอาห์ ยูนุส ผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซีย บอกว่า การเติบโตในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 จะสะท้อนถึงผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโรคโควิด-19  ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและการแพร่กระจายของการระบาดรวมทั้งการตอบสนองวิกฤติโดยเจ้าหน้าที่

ล่าสุด วานนี้ (2 มี.ค.) องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) เตือนว่า การระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก และโออีซีดี ยังปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกอยู่ที่ 2.4% ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการการเงินระหว่างปี 2551-2552

โออีซีดี กล่าวว่า การคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจครั้งนี้ พิจารณาจากความเชื่อที่ว่า การระบาดของโควิด-19 จะลดลงในปีนี้ แต่หากโควิด-19 ระบาดรุนแรงเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจในปีนี้ ของโออีซีดีมากกว่า 

สำหรับประเทศจีน ซึ่งพบว่าไวรัสเริ่มระบาดในเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว คาดว่าการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะอยู่ไม่เกิน 4.9% ลดลง 0.8% จากที่โออีซีดีเคยคาดการณ์เอาไว้เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา โออีซีดี กล่าวด้วยว่า ผลผลิตของจีนที่หดตัวลงส่งผลกระทบไปทั่วโลก และการระบาดของเชื้อไวรัสยังคงส่งผลกระทบต่อการผลิต การค้า การท่องเที่ยว และธุรกิจการเดินทาง