'สทท.' ชงยาแรงแก้พิษไวรัส จี้รัฐเร่งพยุงท่องเที่ยวไทย

'สทท.' ชงยาแรงแก้พิษไวรัส จี้รัฐเร่งพยุงท่องเที่ยวไทย

การแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่2019หรือโควิด-19ในประเทศจีน ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ทำตลาดนักท่องเที่ยวจีนทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก (Inbound&Outbound)ลามต่อเนื่องไปถึงนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ ที่อาจกังวลต่อการเดินทาง

ชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ขณะนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวตลาดจีนคาดว่าจะหายไป90% จากภาวะปกติเดินทางมาไทยเฉลี่ยเดือนละ 900,000 คน เหลือนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (เอฟไอที) ยังคงเดินทางมาไทยประมาณ90,000คนต่อเดือน หรือวันละ3,000คนเท่านั้น และคาดว่านักท่องเที่ยวในกลุ่มอาเซียน ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน รัสเซีย ยุโรป และอเมริกา ฯลฯ อีกจำนวนหนึ่งจะหายไป ทำให้เม็ดเงินจากระบบหายไป 49,500 ล้านบาทต่อเดือน และทำให้ประเทศไทยสูญเสียรายได้ท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า150,000 ล้านบาท

สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมี 9 ธุรกิจหลัก ได้แก่ สายการบิน 30 ราย ผู้ประกอบการขนส่งทางบก ไม่ว่าจะเป็นรถบัส รถตู้ รถเช่า กิจการเช่ารถทั้งรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ และรถส่วนบุคคลที่ให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยว รวมถึงเรือท่องเที่ยว ผู้ให้บริการกิจกรรมนันทนาการท่องทะเล อาทิ เจ็ตสกี ร่มบิน เรือแคนนู ฯลฯ ราว10,000ราย ผู้ประกอบการธุรกิจที่พักโรงแรมที่มีใบอนุญาต 6,000 แห่ง และที่ไม่มีใบอนุญาตกว่า 20,000 แห่ง รวมกว่า 26,000 แห่ง

ธุรกิจให้บริการเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยว สถานบันเทิง และธุรกิจสปาทุกประเภทรวมกว่า 5,000 แห่ง บริษัทนำเที่ยวทั้งระบบประมาณ 8,500 บริษัท มัคคุเทศก์และผู้นำเที่ยวที่ได้รับผลกระทบทั้งผู้ที่มีใบอนุญาต 70,000รายและที่ทำงานอยู่ในระบบอีก 32,000 ราย ร้านอาหาร 15,000 ร้าน ร้านขายสินค้าและของที่ระลึก 5,000 แห่ง และธุรกิจโรงพยาบาลอีกกว่า 30 แห่ง

คาดว่าสถานการณ์นี้จะส่งผลกระทบรุนแรงในช่วงระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ ก.พ.-เม.ย.นี้ มูลค่าความเสียหายเป็นเงินหมุนเวียนราว 2 แสนล้านบาท จึงจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องออกมาตราการช่วยเหลือผู้ประกอบการและกระตุ้นการใช้จ่ายภาคท่องเที่ยวโดยเร่งด่วน”

สทท.จึงได้เสนอแนวทางที่ได้รวบรวมมาจากการรับฟังความเห็นของสมาชิกทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ แบ่งเป็นมาตรการเร่งด่วนทางการเงิน ได้แก่ 1.ให้มีการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้กับสถาบันการเงิน เป็นระยะเวลา 1 ปี และให้ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระจากสัญญาเดิมเป็น 2 ปี

2.มาตราการดอกเบี้ยอัตราพิเศษ 1% สำหรับวงเงินกู้ ไม่เกิน 2,000,000 บาท และ 3% สำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 10,000,000 ล้านบาท โดยให้มีระยะเวลาผ่อนชำระ 9 ปี 3.ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้ค้ำประกันการกู้และให้งดเว้นค่าธรรมเนียมการค้ำประกันนาน 4 ปี 4.ให้งดเว้นค่าธรรมเนียมการกู้เงินค่าประเมินหลักทรัพย์5.ให้นำเอาดอกเบี้ยที่ได้ผ่อนชำระมาหักเป็นค่าลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล2เท่า และ6.ให้ผ่อนปรนมาตราการที่เป็นอุปสรรคแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบเข้าถึงการกู้เงิน อาทิ การขาดทุนในงบดุลควรกำหนดให้มีข้อทดแทนหากสถานประกอบการนั้นมีระยะเวลาการจัดตั้งมากกว่า4ปีขึ้นไป เป็นต้น

นอกจากนี้ยังเสนอมาตราการในการลดภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการ ได้แก่ 1.ให้งดเว้นการจ่ายเงินสมทบค่าประกันสังคมสำหรับนายจ้างและลูกจ้างกับสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เป็นระยะเวลา 6 เดือน 2.เลื่อนการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี 2562แก่สถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบไป 3 เดือน โดยผ่อนผันให้ชำระภายในเดือน ต.ค.2563

ด้านมาตราการสนับสนุนการตลาดเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ มีการเสนอของบประมาณจำนวน 1,340ล้านบาท อาทิ ตั้งเงินกองทุนเพื่อใช้จ่ายในการสนับสนุนการทำการตลาดของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดอินบาวด์ โดยเฉพาะตลาดจีนและตลาดอื่นๆ หลังสถานการณ์คลี่คลาย วงเงิน 200 ล้านบาทเพื่อฟื้นฟูให้ผู้ประกอบการมีโอกาสเพิ่มลูกค้าและรายได้ นอกจากนี้ยังเสนอให้กระตุ้นการท่องเที่ยวแต่ละจังหวัดเพื่อทดแทนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่หายไปเพราะไวรัสโคโรนา ในวงเงิน 100 ล้านบาท

สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการนำนักท่องเที่ยวไทยไปแหล่งท่องเที่ยวที่ตลาดจีนหายไป เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรถบัส ร้านอาหาร และแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน ตั้งเป้าหมายว่าในระยะเวลา4เดือนนี้ มีคนไทยเดินทางไป200,000คนใช้วงเงินสนับสนุนค่าเดินทาง 200 ล้านบาท

รวมไปถึงเสนอให้สนับสนุนการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพแก่บุคคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ โดยรัฐจัดงบฯสนับสนุนการฝึกอบรมและให้มีการรับเบี้ยเลี้ยงในระหว่างการเข้าร่วมวันละ500 บาท อบรมครั้งละ 2-3 วัน อาทิ ไกด์ พนักงานขับรถ ขับเรือ พนักงานในโรงแรมและสถานประกอบการท่องเที่ยว ในวงเงิน 200 ล้านบาท ช่วยบรรเทาความเดือนร้อนแก่บุคลากร จำนวนเป้าหมายคือ 50,000 ราย

นอกจากนี้ยังเสนอให้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการบริหารวิกฤติแก่ผู้ประกอบการเป้าหมาย 20,000 ราย และจัดทำหลักสูตรE-Learningตั้งเป้า 200,000 ราย งบประมาณ 120 ล้านบาท รวมถึงให้งบฯการเดินทางท่องเที่ยวสำหรับข้าราชการที่เกษียณอายุและข้าราชการดีเด่นจำนวน 50,000 รายๆ ละ 2,000 บาท วงเงินงบประมาณ 100 ล้านบาท โดยให้มีการเดินทางพักค้างคืน อย่างน้อย 1 คืนทั้งนี้กำหนดเดินทางได้ตั้งแต่ เดือน พ.ค.-ก.ย.นี้

อีกข้อเสนอคือเปิดฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวให้กับบางประเทศในแถบเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ซึ่งปัจจุบันมีการเดินทางท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นมาก เพื่อทดแทนนักท่องเที่ยวจีนที่หายไป